ศาลปกครองกลางไต่สวนฉุกเฉินคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

 

วันนี้ (21 พฤษภาคม 2561) เวลา 16.00 น. ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้ชุมนุมหรือไม่ กรณีตัวแทนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่ม Start Up People โดยนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว (ผู้ฟ้องคดีที่ 1) นายอานนท์ นำภา (ผู้ฟ้องคดีที่ 2) และนางสาวพูขสุข พูนสุขเจริญ (ผู้รับมอบอำนจ) ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ว่ากำหนดเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อำนวยความสะดวกในการชุมนุมให้แก่ผู้ชุมนุม ผู้ซึ่งประสงค์จะชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ เเละทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 21 – 22 พฤษภาคม 2561 และกรณีที่ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมชุมนุมบางส่วน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่ คุกคาม และควบคุมตัวในหลายพื้นที่ รวมกว่า 54 กรณี ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติมที่  คนอยากเลือกตั้งฟ้องศาลปกครองให้ตำรวจยกเลิกห้ามเดินขบวนและหยุดคุกคามต่อผู้ชุมนุม และ อุ้มไปค่าย-เข้าค้น-เฝ้าหน้าบ้าน-ห้ามไม่ให้ร่วม: สถานการณ์สกัดคนอยากเลือกตั้งทั่วประเทศ )

ในการไต่สวนฉุกเฉินครั้งนี้ นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ เป็นผู้ให้ถ้อยคำต่อศาล โดยมีสาระสำคัญ คือ

  1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กระทำการทางปกครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ใช้อำนาจตามมาตรา 19 วรรคสี่ (5) กำหนดเงื่อนไขว่าการชุมนุมในครั้งนี้ เป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง ตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งต้องขออนุญาตเเละได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ได้รัับมอบหมาย จึงจะจัดการชุมนุมได้ โดยนางสาวพูนสุขเเถลงว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่อาจกำหนดเงื่อนไขลงรายละเอียดเนื้อหาเช่นนี้ได้ เพราะอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าว ให้กำหนดได้เพียงพื้นที่ในการชุมนุมสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ชุมนุมเท่านั้น อีกทั้งปรากฎว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับข้างต้น ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งไม่ได้รับรองสิทธิเสรีภาพประชาชนเรื่องการชุมนุมไว้ เมื่อมีรัฐธรรมนูญ ปี 60 แล้ว ในบทบัญญัติมาตรา 44 บัญญัติไว้อย่างชัดเเจ้ง ให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ขาดเสียมิได้ จึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขข้างต้น
  2. ผู้เเจ้งการชุมนุม ไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตชุมนุมต่อหัวหน้าคสช. หรือผู้ได้รัับมอบหมาย ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เนื่องจากผู้ฟ้องทั้ง 2 เห็นว่าเป็นการใช้สิทธิชุมนุมตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ยังรับรองคุ้มครองไว้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการขออนุญาต ผู้ฟ้องคดีที่ 2 แถลงว่า คำว่าเรียกร้องให้ยุบคสช.ไม่ได้หมายความว่าจะให้รัฐบาลสิ้นสุดจากการบริหารประเทศ หากเพียงแต่เรียกร้องมิให้ทำการใดๆ ที่มิให้มีการเลือกตั้งหรือทำให้การเลือกตั้งไม่โปร่งใสเท่านั้น
  3. ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่า สิทธิในการชุมนุมสาธารณะนั้นตามกฎหมาย มิได้หมายเพียงการชุมนุมในสถานที่หนึ่งเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการชุมนุมแบบเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งด้วย ซึ่งผู้ชุมนุมได้ขอใช้พื้นผิวการจราจรเพียง 1 ช่องทางเท่านั้น เพื่อเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เจ้าพนักงานย่อมให้ความสะดวกและความปลอดภัยได้ แม้การใช้พื้นผิวถนนอาจทำให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้ใช้ถนนหรือทางบ้าง แต่เมื่อคำนำถึงสิทธิในการชุมนุมสาธารณะของประชาชน จะเห็นได้ว่า หากไม่มีการใช้พื้นที่สาธารณะดังกล่าว การชุมนุมสาธารณะของผู้แจ้งการชุมนุม จะไม่อาจบรรลุผลได้ตามกฎหมาย ผู้ฟ้องทั้ง 2 ขอยืนยันว่า เมื่อไปถึงทำเนียบรัฐบาลจะไม่เข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล อันจะเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 7 วรรคสอง ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และไม่ได้กีดขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล ตามมาตรา 8 (1) ของพ.ร.บ.เดียวกัน เพียงแต่ผู้ชุมนุมต้องการไปแสดงออกต่อรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพ.ย. 2561 ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้เท่านั้น

ทั้งนี้ ในคดีดังกล่าว ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1056/2561โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 และผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน และคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ไปพร้อมกับคำฟ้องด้วย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2561 คดีนี้ นับเป็นคดีที่สองต่อจากคดีที่กลุ่ม People Go Network ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมผู้ประสงค์จะใช้สิทธิในการชุมนุม ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองรับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

 

X