18 ส.ค. – 10 ก.ย. 2567
มีคนถูกขังจากคดี 112 เพิ่มอีก 1 คน
ปัจจุบัน (10 ก.ย. 2567) มีผู้ต้องขังคดีการเมืองทั่วประเทศ อย่างน้อย 42 คน
ในจำนวนนี้เป็นคดี ม.112 เกินครึ่งถึง 28 คน
สถานการณ์เดือนที่ผ่านมา (18 ส.ค. – 9 ก.ย. 2567) พบว่า มีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำในคดีจากสถานการณ์ทางการเมือง ได้รับ ‘การปล่อยตัว’ แล้วอย่างน้อย 2 คน หลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ออกมาในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2567 ได้แก่ พลทหารเมธิน และ ยงยุทธ โดยคาดว่าจะมีผู้ที่คดีถึงที่สุดแล้ว และเข้าเกณฑ์ได้รับการปล่อยตัวเพิ่มเติมอีก แต่ยังต้องรอทางเรือนจำจัดทำรายชื่อในแต่ละรอบต่อไป ขณะที่มีผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีเพิ่มเติมอีก 2 ราย
ผู้ต้องขังระหว่างสู้คดี เพิ่มขึ้น 2 ราย ศาลไม่ให้ประกันตัว
ขณะเดียวกันมีผู้ถูกคุมขังเพิ่มเติมในระหว่างต่อสู้คดีอีกอย่างน้อย 1 คน ซึ่งเป็นผลจากคำพิพากษา ‘ให้จำคุก’ ของศาลชั้นต้นในคดีมาตรา 112 ได้แก่ “อาย” กันต์ฤทัย ทำให้ปัจจุบันมีผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีจำนวน 21 คน เป็นคดีมาตรา 112 มากถึง 16 คน ส่วนใหญ่เป็นกรณีไม่ได้รับการประกันตัวหลังมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 “อาย” กันต์ฤทัย แม่ค้าวัย 33 ปี กลายเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำรายล่าสุด หลังถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปี 48 เดือน ในคดี 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความ และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ทำให้เธอถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางในปัจจุบัน
ในอีกกรณีหนึ่งของ “ยงยุทธ” หรือ “แดง ชินจัง” ตำรวจได้เข้าอายัดตัวเขาตามหมายจับใน 2 คดี โดยเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิด ที่ศาลอาญาจำหน่ายคดีและได้ออกหมายจับไว้
ประกอบกับมีคดีในชั้นอัยการอีก 2 คดี ที่อัยการฟ้องโดยไม่มีผู้ต้องหาส่งต่อศาล ซึ่งต้องประกันตัวเพิ่ม รวมแล้วยงยุทธมีคดีที่ต้องประกันตัว 4 คดี และศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในทุกคดี ระบุ ‘พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง หากอนุญาตให้ประกันตัว เกรงจะหลบหนี’ ซึ่งเขาได้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที
ถูกขังรอคำสั่ง ก่อนได้รับ ‘การประกันตัว’ 1 ราย
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ยังมีกรณีผู้ถูกคุมขังระหว่างรอผลการประกันตัว ได้แก่ กรณีของ ‘นิว’ จตุพร หลังเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่านิวมีความผิดตามมาตรา 112 แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ในระหว่างพิจารณาคดีลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
ภายหลังการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ทนายความได้ยื่นประกันตัวนิวเป็นหลักทรัพย์กว่า 200,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นได้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาออกคำสั่ง นิวได้ถูกควบคุมตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลางฯ เพื่อรอฟังคำสั่ง จนในวันที่ 20 ส.ค. 2567 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนิวในระหว่างฎีกา ทำให้นิวถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำในวันถัดมา (21 ส.ค. 2567)
กรณีของนิว สะท้อนว่าแม้จะเป็นคดีที่จำเลยถูกพิพากษายืนจากศาลอุทธรณ์ แต่ก็สามารถได้รับสิทธิในการประกันตัวได้เช่นกัน
ผู้ต้องขังคดีสิ้นสุด ได้รับการปล่อยตัวจากอภัยโทษแล้ว 2 ราย ได้
ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดีถึงที่สุดแล้วอย่างน้อย 18 คน โดยมีผู้ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากได้รับการอภัยโทษ 2 ราย ได้แก่ “พลทหารเมธิน” อายุ 23 ปี ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ มทบ.11 จ.นครปฐม ในคดีมาตรา 112 และ “ยงยุทธ” กลุ่ม Wevo คดีจากเหตุช่วงก่อนการชุมนุม REDEM #ม็อบ6มีนา64 ซึ่งแม้จะได้รับการอภัยโทษในคดีดังกล่าวแล้ว แต่ยงยุทธก็ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายในวันเดียวกัน จากการถูกอายัดตัวในคดีอื่นอีก 4 คดี และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
เมธินได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2567 ส่วนยงยุทธ ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ 9 ก.ย. 2567
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์การปล่อยตัวและลดหย่อนโทษลงของผู้ต้องขังในเรือนจำ หลังมีการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษมาในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (18 ส.ค. 2567) โดยหากมีผู้ต้องขังได้รับรับการปล่อยตัว ตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ เรือนจะทำรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับการอภัยโทษมีกำหนดภายใน 120 วัน นับแต่วันประกาศ” ซึ่งจะไม่สามารถระบุวันที่ผู้ต้องขังจะได้รับการปล่อยตัวที่แน่นอนได้ และจะต้องติดตามสถานการณ์จากเรือนจำแต่ละที่ต่อไป
เรื่องน่าจับตาในเรือนจำ พบ 3 คนมีสภาวะซึมเศร้าและต้องรักษาอาการต่อเนื่อง
อาย กันต์ฤทัย ผู้มีอาการป่วยซึมเศร้าตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ และต้องได้รับยาและการรักษาอย่างตัวเนื่อง จากวันแรกที่สามารถนำยารักษาโรคเข้ามาได้ แต่เมื่อจะนำมาเพิ่มเติม ยังติดขัดเรื่องที่เรือนจำยังไม่อนุญาต โดยเธอได้รับยาจำนวน 10 เม็ด จากที่ต้องกินทั้งหมด 12 เม็ด ยังขาดยายับยั้งอารมณ์ไป 2 เม็ด
อายรักษาอาการโรคซึมเศร้าต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 6 ปีแล้ว โดยทางญาติได้นำยาและเอกสารทุกอย่างที่ต้องใช้มายื่นให้ทัณฑสถานหญิงกลางแล้ว ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนดำเนินการใด
มานี ยังคงต้องดูแลและรักษาภาวะโรคซึมเศร้าที่เป็นมาตั้งแต่ก่อนถูกขังครั้งนี้ โดยเมื่อกลางเดือน ส.ค. 2567 ครั้งหนึ่งของการเข้าเยี่ยมของทนายความ มานีพูดขึ้นมาว่า “จะเป็นลม” แล้วก็เอาหัวก้มลงที่โต๊ะต่อหน้าทนายและหลับไป จึงเป็นที่น่ากังวลทั้งเรื่องสุขภาพจิตและร่างกายของเธอ
บัสบาส – ยังคงเผชิญกับความท้าทายและการดูแลตัวเองจากภาวะโรคซึมเศร้า และน่ากังวลเรื่องคำพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่พิพากษายืนคดี ม.112 คดีที่สาม ให้ จำคุก 4 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุกทุกคดีตอนนี้ของบัสบาสอยู่ที่ 54 ปี 6 เดือน
.
อ่านรายชื่อผู้ต้องขังและรายละเอียดคดี