ไม่มีอะไรที่ผมกลัวอีกแล้ว หลังจากพ่นกำแพงวังในวันนั้น” :  คุยเรื่องตั้งใจของ “บังเอิญ” ศิลปิน Punk Art “หรือชีวิตไพร่มันไร้ค่า”

ไม่มีอะไรที่ผมกลัวอีกแล้ว หลังจากที่พ่นกำแพงวังในวันนั้น  ผมมองถึงความกล้าได้ กล้าเสี่ยง กล้าลองเผชิญกับพวกเขาดู เพราะถึงแม้ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แต่มันก็ยังคงไม่สามารถห้ามเราได้ หรือปิดความคิดเราได้”  ประโยคหนักแน่นจากการสนทนา ที่ศิลปิน Punk Art ยืนยันและพร้อมรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น หลังคำตัดสินของศาล

วันที่ 4 ก.ค. 2567  “บังเอิญ” (นามสมมติ) ชาวขอนแก่นวัย 26 ปี จะต้องเดินทางไปฟังคำพิพากษาคดีถูกฟ้อง 2 ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากกรณีพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ผู้ต้องขังทางการเมือง ในช่วงวันเกิดอายุครบ 25 ปีของเขาเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ก่อนจะถูกจับกุมดำเนินคดี และต่อสู้ในชั้นสืบพยาน จนกระทั่งศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา

สถานการณ์ที่จะเกิดต่อจากนี้ ไม่ว่า ‘บังเอิญ’ จะถูกจองจำ หรือมีอิสรภาพต่อไป เขายืนยันจะทำงานศิลปะเพื่อสะท้อนสังคม

“ข้อความแรกที่ผมอยากจะพ่นคือ ‘หรือชีวิตไพร่มันไร้ค่า’ แต่คำมันยาวไป แต่ละการลากเส้น กว่ามันจะได้พยางค์หนึ่ง คือโดนรวบก่อนแน่นอน เลยคิดใหม่ให้รวบรัด เข้าใจง่ายทั้งคนไทย และต่างประเทศที่อยู่แถวนั้นด้วย เลยจะพ่นคำว่า PEOPLE และสัญลักษณ์ Anarchy เพราะว่าสัญลักษณ์นี้เป็นการต่อต้าน Monarchy คนต่างประเทศเห็นสัญลักษณ์นี้ก็จะเข้าใจได้ง่าย”  ศิลปินพูดถึงผลงานของเขาที่แม้ไม่เสร็จสิ้น แต่ก็เข้าถึงการรับรู้ของคนในวงกว้าง

.

เด็กคิดนอกกรอบ เติบโตผ่านม็อบ ก่อนเป็นขบถในโรงเรียน

บังเอิญเกิดในปี 2541เป็นเด็กคิดนอกกรอบมาตั้งแต่ชั้นประถม เริ่มเรียนโรงเรียนคริสต์ ที่จังหวัดขอนแก่น ย้ายไปมาหลายที่ ก่อนจะปักหลักอยู่กรุงเทพฯ ตอนเข้าชั้นมัธยม  

ด้วยการเลี้ยงดูจากพ่อ “ผมใช้วิธีการศึกษาหาความรู้ผ่านคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่  วิชาประวัติศาสตร์ไม่ได้สอน ตอนนั้นยังเด็ก ก็ไปร่วมม็อบเสื้อแดง และไปฟังทั้งเสื้อเหลือง ติดตามข่าวสารจากทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งตัดสินใจไปร่วมชุมนุมกับเสื้อแดงเป็นส่วนใหญ่” 

การชุมนุมช่วงปี 2553  บังเอิญติดตามพ่อที่ไปขายหนังสือในม็อบ ทั้งหนังสือการเมือง หนังสือที่บรรจุเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ “พ่อไม่ได้สอนหรือชี้นำเรื่องต่าง ๆ มากเท่าไร เพราะเขาให้เราไปเป็นผู้ฟังและคิดไตร่ตรองด้วยตัวเองมากกว่า”

พ้นไปจากเรื่องการเมือง บังเอิญมีชีวิตเป็นเด็กนักเรียนมัธยมฯ ที่ค่อนข้างขบถ ที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านเจริญกรุง ที่แม้จะมีผลการเรียนที่ดีในเกรดเฉลี่ยสามกว่า ๆ  แต่บังเอิญมักตั้งคำถามต่อระเบียบวินัยหรือบรรทัดฐานในโรงเรียน เช่น ทำไมนักเรียนไว้ผมยาวไม่ได้ ทำไมต้องใส่เครื่องแบบ ทำไมต้องเรียนวิชาลูกเสือ ตลอดจนการเคารพธงชาติ   

สมัยม.ปลาย ผมก่อตั้งพรรคกบฏ   พูดเรื่องคัดค้านเรื่องเรี่ยไรเงินนักเรียน หรือกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เราไปเรียนเราไปหาความรู้ จะมามัวเคารพธงชาติครึ่งชั่วโมงตากแดดร้อน ๆ วิชาที่ไม่จำเป็นอย่างลูกเสือหรือการอ้างใช้แรงงานเด็กโดยเอาคะแนนมาล่อ หรืออะไรที่มันดูอยุติธรรม”

พรรคกบฏที่เป็นเพียงแนวคิดต่อต้านสิ่งที่เด็กนักเรียนไม่ควรได้รับ เช่น วิชาลูกเสือ บังคับให้นักเรียนไปกวาดถู ซากขยะต่าง ๆ ที่เขาทิ้งไว้หลังโรงเรียน “ผมก็แย้งกับอาจารย์ว่าใช้แรงงานเด็กแล้วเอาคะแนนมาล่อ ทั้งที่งบประมาณก็มี ทำไมไม่จ้างภารโรง ซึ่งนักเรียนก็จะได้ไปเรียนในสิ่งที่ตัวเองควรเรียนมากกว่ามาทำความสะอาด”

บังเอิญจึงถูกเพ่งเล็งจากครูที่โรงเรียน แม้จะเรียนดี แต่ก็มีเหตุให้บังเอิญต้องออกจากโรงเรียน เขาเล่าว่าช่วงม.5  ในวิชาคอมพิวเตอร์  “ผมเก่งด้านนี้ เพราะอยู่กับการใช้คอมพิวเตอร์ตลอด อาจารย์สอนวิธีใช้โปรแกรม ๆ หนึ่ง  แล้วผมไปบอกเพื่อน ๆ บอกวิธีอะไรอย่างนี้ ซึ่งจากการกระทำนี้ ผมถูกอาจารย์ไล่ออกจากห้อง แล้วก็ยังถูกทุบหลัง และตบหัวโดยอาจารย์คนเดียวกันนั้น จากนั้นถูกใช้ความรุนแรง และกลั่นแกล้งสารพัด”  

จากเหตุการณ์ดังกล่าว บังเอิญตัดสินใจไม่ไปโรงเรียนระยะหนึ่ง กระทั่งเป็นช่วงที่พ่อเริ่มทำธุรกิจ เขาจึงมาช่วยพ่ออีกแรง ก่อนภายหลังจะกลับไปเรียนในระบบการศึกษานอกโรงเรียนจนจบ

.

Dark Art เมื่อการเมืองถูกขับเคลื่อนโดยภาพนิ่ง

แม้จะปฏิเสธการศึกษาในระบบ แต่ในด้านศิลปะ บังเอิญก็ศึกษาและลงลึกอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องดนตรี เช่น การทำเพลงบีท ก่อนขยับมาเป็นศิลปะแขนงอื่น ๆ  “ช่วงอายุประมาณ 15 ปี ผมชอบการสัก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการศึกษาเอง ดูภาพ และงานศิลป์ต่าง ๆ ไม่ได้มีความรู้เฉพาะเจาะจงที่ได้จากในโรงเรียน แต่จะเป็นความรู้ที่เกิดมาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่า”

บังเอิญสะท้อนว่า ศิลปะมักมีส่วนเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เสมอ เป็นภาพสะท้อนทั้งตัวผลงานเอง ของตัวศิลปิน ตลอดจนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น และมันมีพลังในการเข้าถึงผู้คนได้ง่าย 

“ช่วงชุมนุมปี 2563-2564 ผมร่วมกับ ศิลปะปลดแอก เขาปั้นแขนที่ชูสามนิ้วราดสีน้ำเงิน ซึ่งผมก็ไปร่วมด้วยแต่ก็ไม่ได้เป็นตัวหลักอะไร มักจะไปเป็น Staff ไปร่วม มีงาน Performance Art ผมก็จะไปร่วมแสดง”

สิ่งที่บังเอิญถนัด และสร้างชื่อให้ที่สุดจะเป็นเรื่อง ภาพแนว Dark Art , Punk Art , Digital Art ที่จะเป็นงานศิลปะที่อยู่นอกขนบธรรมเนียมของไทย  โดยเวลาคิดงานก็จะค้นคว้าหาข้อมูล บางครั้งก็เป็นภาพในช่วงเหตุการณ์ ณ เวลานั้น หรือเกี่ยวกับวันสำคัญในไทย อย่างวันรัฐธรรมนูญ วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 6 ต.ค. 2519 และวันที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ 

“ผมก็จะไปหาภาพทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นภาพเก่า ๆ มาทำให้เกิดงานศิลปะขึ้นมา ผมมองว่าการใช้ภาพเป็นสื่อทางศิลปะ มันก็ส่งผลได้มากเหมือนกัน มันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้ ซึ่งถ้าเราทำมันออกมาได้ดี มันก็จะส่งผลกว้างต่อคนในประเทศอยู่พอสมควร”

อย่างที่เห็นกัน งานภาพที่ศิลปินหนุ่มผู้นี้สร้างสรรค์  “มันแทบไม่ต้องใช้คำพูดอะไร เพราะมันเป็นการสื่อสารผ่านสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แล้วเรามาสร้างงานที่สื่อถึงการสะท้อนตัวตนเราด้วย หรือสะท้อนถึงตัวบุคคลที่เราทำถึงเขาด้วย สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในประเทศ เพราะภาพสำหรับผมมันสื่อสารได้ง่ายกว่าการพูด ซึ่งบางทีคนอาจจะยังไม่ได้เข้าใจ แต่ถ้าเป็นภาพ เขาอาจจะโต้แย้งอะไรไม่ได้ พูดอะไรไม่ได้ หรือเถียงอะไรไม่ได้

มันอาจจะไม่ได้เป็น Action บนถนน แต่เป็นภาพออนไลน์ที่ใครก็สามารถเซฟไปใช้ นำไปส่งต่อแพร่กระจายได้”

หลายภาพสะท้อนการเมืองที่แชร์ ๆ ในอินเทอร์เน็ต อาจจะมาจากบังเอิญ โดยที่คนไม่รู้จักตัวเขาเลย  “เพราะว่ามันไม่ได้ทำมาเพื่อคนใดคนหนึ่ง มันทำมาเพื่อเผยแพร่ให้กับทุกคนในประเทศที่รู้สึกร่วมด้วย เห็นด้วย เข้าใจเรื่องราว เคยเจอหรือคุ้นเคยกับเรื่องราว ผมไม่ค่อยยึดติดกับชื่อของตัวเอง หรือลิขสิทธิ์ เพราะสิ่งที่ผมทำอยู่ในมุมมองของเขา มันก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว เราต้องการให้มันเผยแพร่ให้ได้มากที่สุด”

.

“หรือชีวิตไพร่มันไร้ค่า”

คดีความจากการแสดงออกทางการเมืองที่เผชิญอยู่ มี 5 คดี  หนึ่งในนั้นคือคดี 112 จากผลงานภาพศิลปะ และการชูรองเท้าหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ โพสต์ลงโซเชียลในวันเกิดของ ร.10 ส่วนคดีแรก ที่ปรากฎภาพบังเอิญอย่างแพร่หลาย เป็นคดีจากการพ่นกำแพงวังวัดพระแก้ว เมื่อเดือนมีนาคม 2566 

“วันนั้นเป็นวันเกิดผมในอายุ 25 ปี แล้วผมอยากจะเล่นเรื่องเบญจเพส มีหลาย ๆ คนก็ห่วงว่าในช่วงอายุ 23-24 ปี ผมก็เคยถูกเจ้าหน้าที่บุกถึงห้องพัก ผมเลยแสดงออกให้เห็นว่า เบญจเพสมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย  ผมตัดสินใจตรงนั้น ต่อสู้ตรงนั้น มันก็มีแต่ผม กับ เขา ที่สู้กันทางความคิด ผ่านการแสดงออก”

บังเอิญเล่าถึงห้วงเวลานั้นว่าในประเทศไทยมีหลายเรื่องให้พูดถึง เขาต้องการสื่อสารให้เกิดข้อเรียกร้องของการต่อสู้ “ช่วงนั้นตะวัน ก็อดอาหารเรียกร้องสิทธิขึ้นพื้นฐานอย่างการประกันตัว เรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยนักโทษทางการเมือง และยกเลิกหรือแก้ไข มาตรา 112 ผมก็สนับสนุนในข้อเรียกร้องนั้นด้วย”

วันก่อนจะเกิดเหตุการณ์  “ข้อความแรกที่ผมอยากจะพ่นคือ  “หรือชีวิตไพร่มันไร้ค่า” แต่คำมันยาวไปผมดูแล้ว แต่ละการลากเส้น กว่ามันจะได้พยางค์หนึ่งคือโดนรวบก่อนแน่นอน เลยคิดใหม่ให้รวบรัด เข้าใจง่ายทั้งคนไทย และต่างประเทศที่อยู่แถวนั้นด้วย เลยจะพ่นคำว่า PEOPLE และสัญลักษณ์ Anarchy เพราะว่าสัญลักษณ์นี้เป็นการต่อต้าน Monarchy คนต่างประเทศเห็นสัญลักษณ์นี้ก็จะเข้าใจได้ง่าย” 

แต่วันนั้นเมื่อบังเอิญเดินทางไปพ่นได้แค่ตัว P ก็โดนจับก่อน  ส่วนเหตุผลที่เลือกวัดพระแก้ว บังเอิญกล่าวย้ำว่า  “ผมไม่ได้มองว่าที่นี่เป็นวัด มองว่าเป็นห้องพระ แล้วกำแพงตรงนั้นมันเป็นเหมือนกระดาษขาว เป็นผืนผ้าให้ผมได้วาดภาพ หรือผลงานศิลปะลงไปในกระดาษแผ่นนั้น”

ความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท บังเอิญยอมรับในข้อนั้น เพราะพ่นจริง “แต่มันก็ถูกพ่นทับในเวลาเดียวกันภายในเวลาไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่ก็เอาสเปรย์สีขาวมาพ่นทับไว้ก่อน แล้วปล่อยไว้หนึ่งคืนก่อนเอาสีมาทาทับอีกที”

ส่วนข้อกล่าวหาตามความผิด พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 ระวางโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี และปรับไม่เกิน 700,000 บาท “ส่วนตัวไม่ได้คิดเรื่องนี้เพราะว่า มันไม่ได้มีชื่ออยู่ในโบราณสถาน แต่อยู่ดี ๆ ก็มีแจ้งข้อหานี้เข้ามา  เป็นการกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ยัดข้อหาเกินเลยไปมาก เพราะหลักฐานมันมีชัดอยู่ว่า ไม่ได้ขึ้นเป็นโบราณสถาน เพราะมีการบำรุง บูรณะ ทำให้ดูใหม่ตลอดเวลา และยังแจ้งว่ามีผู้สมรู้ร่วมคิด ผู้ร่วมกระทำ ซึ่งผมตกใจว่า มันจะไปร่วมกันยังไง เพราะว่าผมเป็นคนทำคนเดียว ภาพเหตุการณ์ก็เห็นอยู่ คนอื่น ๆ ก็แค่บังเอิญผ่านไปอยู่เหตุการณ์ตรงนั้น”

.

ศิลปะมันอิสระมากกว่านั้น

ความสูญเสียที่เกิดจากการถูกดำเนินคดี  บังเอิญเล่าว่า “มันหลายอย่าง ทั้งตัวตน เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องชีวิต ความเป็นตัวเอง หลังจากเราพ่นกำแพงวังไปในวันนั้น ทุกอย่างเราต้องเปลี่ยนไปหมดเลยเพื่อให้สอดคล้องกับการต่อสู้นั้น ๆ ในเรื่องการเมือง เพราะเราต้องเจออะไรที่เราไม่เคยเจอ ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า จะเล่นกันแรงขนาดนี้ ทำอะไรกันหนักขนาดนี้” 

อีกอย่างที่บังเอิญสูญเสียคือเรื่องสุขภาพจิต ต้องไปหาจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง “ปัจจุบันผมอยากจะใช้เวลาอยู่ในห้อง ติดตามข่าวสารการเมือง ไม่ค่อยอยากออกไปไหน ไม่ค่อยกิน นอนเช้าตื่นดึก แล้วก็ใช้เวลาอยู่กับงานในตอนกลางคืนมากกว่า ยิ่งใกล้วันพิพากษายิ่งคิดมาก ยิ่งหาข้อมูลมากขึ้น อยากจะทำภาพผลงานต่างๆออกมา แต่ละวันไม่ได้มีอะไรเท่าไร รอแค่ไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวกับหมอ”

ส่วนคดีมาตรา 112  “เรามองว่า คงถูกตราหน้า หมายหัวไว้เรียบร้อยแล้ว ผมคิดว่าผมคงไม่สารภาพ ไม่ยอมรับผิด ที่ออกมาต่อสู้ เพราะผมไม่ได้ทำอะไรผิดชนิดอาชญากรที่ฆ่าคนตาย ไม่ได้ก่อการร้าย ไม่ได้เป็นอะไรตามแบบที่เขามอง”

บังเอิญกล่าวถึงตัวเองอีกว่า “ผมรู้ตัวว่าร่างกายผมไม่ค่อยดีเท่าไร ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างใน 3-4 ปีข้างหน้าก่อนผมอายุ 30 ปี ผมอาจจะถูกจำคุกแล้วปล่อยตัวออกมา ก็คิดว่า มันจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในการเลือกตั้งรอบหน้า ซึ่งอาจจะพ่วงกับภาวะโลกเดือด ภัยโลกร้อน มลพิษ มลภาวะ เศรษฐกิจ ทรัพยากรอาหาร ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ภัยสงครามที่มีแนวโน้มว่าจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ การแย่งชิงอำนาจ การยึดติดยึดถืออำนาจเก่าไว้ มันก็ยิ่งจะรุนแรงขึ้น”

ก่อนศิลปินหนุ่มกล่าวทิ้งท้ายว่า “ไม่มีอะไรที่ผมกลัวอีกแล้ว หลังจากที่พ่นกำแพงวังในวันนั้น  ผมมองถึงความกล้าได้ กล้าเสี่ยง กล้าลองเผชิญกับพวกเขาดู เพราะถึงแม้ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แต่มันก็ยังคงไม่สามารถห้ามเราได้ หรือปิดความคิดเราได้ หรือเปลี่ยนความคิดผู้คนไม่ได้ ยังไงกงล้อกาลเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นก็หยุดไม่ได้อยู่ดี หรือต่อให้ถูกคุมขังก็ยังทำงานศิลปะต่อไปได้ ศิลปะมันอิสระมากกว่านั้นมาก”

X