ศาลเยาวชนฯ พิพากษา ยกฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “มีมี่” ชี้เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายกำหนด

22 ก.ย. 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดอ่านคำพิพากษาคดีของ “มีมี่” เยาวชนผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 จากเหตุเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ25ตุลา63 ที่แยกราชประสงค์ โดยขณะเกิดเหตุ เธอมีอายุ 16 ปีเศษ 

คดีนี้มี พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม เป็นผู้กล่าวหา และเป็นคดีจากการแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี คดีแรกนับจากปี 2563 ที่เยาวชนผู้ถูกกล่าวหายืนยันต่อสู้คดี และปฏิเสธที่จะเข้ามาตรการพิเศษก่อนมีคำพิพากษา ที่ศาลนัดฟังคำพิพากษา 

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีก่อนมีคำพิพากษา มีมี่ได้ให้การปฏิเสธ ปฏิเสธการลงลายมือชื่อในเอกสารชั้นตำรวจ และขอส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารที่มีเนื้อหายืนยันคำให้การที่ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมระบุว่าขอต่อสู้ในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีด้วย แต่คดียังคงดำเนินมาจนถึงชั้นศาล

อ่านภาพรวม บรรยากาศ และประมวลการสืบพยานคดีนี้ >> จับตาคำพิพากษาศาลเยาวชนฯ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีแรก หลัง “มีมี่” สู้คดีเกือบ 2 ปี ยืนยันใช้สิทธิตาม กม. ปราศรัย #ม็อบ25ตุลา

.

ศาลเยาวชนฯ พิพากษายกฟ้อง ระบุจำเลยเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง การขึ้นปราศรัยเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย

เวลา 10:55 น. โดยประมาณ ณ ห้องพิจารณาคดี 7 องค์คณะผู้พิพากษาศาลเยาวชนอ่านคำพิพากษาโดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า 

สาเหตุในคดีนี้เนื่องมาจากพฤติการณ์ของจำเลยที่ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2563 โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม ซึ่งศาลเห็นว่าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 “ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น 

จากรายงานการสอบสวน มีข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยขึ้นปราศรัย โดยระบุว่าตนเองเป็นตัวแทนจากกลุ่มผู้หญิงปลดแอก และถ้อยคำที่จำเลยปราศรัยก็มิได้ผิดกฎหมายใด จึงนับเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตามที่กฎหมายกำหนด

อีกทั้งพยานโจทก์ที่มาขึ้นเบิกความก็ไม่มีปากใดยืนยันได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม ดังนั้นแล้วจากการนำสืบพยานของโจทก์ จึงเป็นการคาดเดาไปเองว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 16 ปีเศษ กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำเลยไม่มีศักยภาพพอที่จะจัดการชุมนุมได้ อาศัยเพียงพฤติการณ์การปราศรัยของจำเลยเพื่อบอกว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมนั้นยังฟังไม่ถนัด

ทั้งนี้ เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ต้องดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมตามมาตรการที่กำหนดไว้ ฟ้องข้อที่ว่าจำเลยด้วยการกระทำความผิดในข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ จึงยังฟังไม่ขึ้น

สำหรับข้อที่ควรวินิจฉัยอีกประการหนึ่ง ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางทางสาธารณะและการจราจร จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรนั้น ศาลเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังจนยุติได้แล้วว่าจำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบการชุมนุมตามมาตรการใดๆ ที่กำหนดไว้ จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

อนึ่ง ในช่วงก่อนการอ่านคำพิพากษา พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขท้ายฟ้องเพื่อให้ศาลนับโทษในคดีนี้ต่อจากคดีอื่นๆ ของจำเลยด้วย แต่เนื่องจากศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้ จึงได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวด้วย

คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของเยาวชนคดีแรกที่ต่อสู้คดีและศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ขณะที่มีคดีข้อหานี้จาการชุมนุมทางการเมืองที่ศาลยกฟ้องไปแล้วรวมอย่างน้อย 28 คดี (ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง)

.

X