ไต่สวนขอประกัน 4 แกนนำราษฎร ศาลอนุญาตอัยการยื่นคัดค้านอีก หลังไต่สวน แม้อานนท์ท้วง นัดฟังคำสั่ง 24 ธ.ค.นี้ 

17 ธ.ค. 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดไต่สวนคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 4 แกนนำราษฎร  ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุมต่างๆ และทนายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา

บรรยากาศในศาลอาญาช่วงเช้ามีการตั้งจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และมีบัตรชั่วคราวสำหรับบุคคลที่จะเข้าร่วมฟังการไต่สวน ส่วนที่ห้องพิจารณา 704 เจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้เก็บเครื่องมือสื่อสารเหมือนที่ผ่านมา ทั้งยังให้ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าร่วมฟังการไต่สวนครั้งนี้ได้ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์

เวลา 09.50 น.เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ราว 8 นาย คุมตัวนักกิจกรรมทั้งสี่ในชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาลอ่อน สวมหน้ากากอนามัยเข้าห้องพิจารณา ครอบครัวและประชาชนที่มาให้กำลังใจต่างทยอยเข้าไปสวมกอดและทักทาย ในช่วงเวลาที่การพิจารณาคดียังไม่เริ่ม 

“เพนกวิน” แถลงอยู่ในคุกเรียนลำบาก ต้องค้นคว้าทำรายงาน หากไม่ส่งอาจไม่จบ พร้อมยินดีรับเงื่อนไขเดียวกับรุ้ง

เวลา 10.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี โดยเริ่มไต่สวนคำร้องขอประกันพริษฐ์เป็นอันดับแรก 

พริษฐ์เบิกความต่อศาลว่า ปัจจุบันตนอายุ 23 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับทุกคดีที่อยู่ในชั้นศาลนั้น ตนได้ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี ซึ่งทุกคดียังไม่มีการตัดสิน 

ส่วนเรื่องสุขภาพขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ตนเคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วครั้งหนึ่ง จากนั้นป่วยมาโดยตลอด ทั้งยังมีโรคประจำตัวเป็นหอบหืดและภูมิแพ้ โดยตนถูกคุมขังมานานกว่า 4-5 เดือนแล้ว และปัจจุบันยังไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แต่อย่างใด

ด้านคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตนถูกเพิกถอนประกันโดยไม่มีการไต่สวนในวันที่ 9 ส.ค. 2564 เนื่องจากขณะนั้นตนอยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ขณะถูกฝากขังในคดี #ม็อบ2สิงหา เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด.ภาค 1

สำหรับเหตุผลที่มีการยื่นขอประกันต่อศาลในครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันเป็นนักศึกษาปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ ซึ่งการส่งเอกสารการเรียนต่างๆ ออกมาจากเรือนจำทำได้อย่างยากลำบาก และช่วงนี้อยู่ในช่วงสอบปลายภาค อีกทั้งยังมีรายงานที่ต้องเก็บข้อมูลและทำการค้นคว้า แต่ตนไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ รวมไปถึงต้นปี 2565 ตนต้องลงทะเบียนเรียนภาคการศึกษาใหม่ ซึ่งการอยู่ในเรือนจำจะไม่สามารถจัดตารางเรียน และลงทะเบียนเรียนได้ และหากไม่ลงเรียนก็จะไม่จบตามหลักสูตร

พริษฐ์แถลงอีกว่า หากศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตนยินดีจะปฎิบัติตามเงื่อนไขเดียวกันกับที่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เคยได้รับการปล่อยตัวเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ดังนี้

  1. จะไม่ก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
  2. จะไม่เข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
  3. จะไม่หลบหนี และมาศาลทุกครั้ง
  4. และยินดีที่จะปฎิบัติตาม หากศาลจะให้อยู่ในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องติดต่อราชการที่ศาลหรือสถานีตำรวจ ไปเรียนหรือไปสอบ ไปรักษาตัวหรือมีเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล 

พร้อมทั้งย้ำว่า เพื่อให้มั่นศาลมั่นใจว่าตนจะปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาล จะขอให้ศาลตั้ง รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่ตนเรียนอยู่ด้วย เป็นผู้กำกับดูแล 

ด้านอัยการโจทก์ถามค้านพริษฐ์ว่า จำได้หรือไม่ว่าหลังจากได้รับการปล่อยตัวถูกกล่าวหาอีกกี่คดี ด้านพริษฐ์ตอบว่า ไม่แน่ใจ จำไม่ได้ ก่อนถูกถามต่อว่า ทราบถึงเหตุผลที่ถูกถอนประกันในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ไม่ทราบเนื่องจากไม่ได้มีการไต่สวน

ด้านทนายถามติงว่า หากมีการไต่สวนคำร้องที่ขอเพิกถอนประกัน จำเลยจะอธิบายพฤติการณ์ที่โจทก์อ้างมาเป็นเหตุในการถอนประกันว่าอย่างไร พริษฐ์ระบุว่า จะอธิบายต่อศาลว่า สถาบันกษัตริย์ไม่สามารถเสื่อมเสียเพียงเพราะคำพูดของตนได้ ส่วนคดีที่ถูกฟ้องเข้ามาใหม่นั้น เป็นคดีเก่าที่เกิดขึ้นก่อนการปล่อยตัวชั่วคราว

จากนั้นศาลได้ถามพริษฐ์ว่า มีคดีละเมิดอำนาจศาลกี่ครั้ง ด้านพริษฐ์ตอบศาลว่า มี 2 ครั้ง คือ ที่ศาลาอาญา รัชดา และศาลจังหวัดธัญบุรี โดยคดีดังกล่าวศาลได้พิพากษาสั่งขัง 10 วันแล้ว

ต่อมาเวลา 11.10 น. รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เข้าเบิกความว่า ตนรู้จักกับพริษฐ์ เนื่องจากจำเลยเป็นนักศึกษาในสาขาวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปัจจุบันจำเลยลงเรียนวิชาการเมืองเปรียบเทียบที่ตนเป็นผู้สอนด้วย 

จำเลยเป็นเด็กเรียนเก่ง สอบได้คะแนนสูง เกรดเฉลี่ยปัจจุบันยังอยู่ในขอบข่ายที่ได้รับเกียรตินิยม ตอนนี้เป็นช่วงการสอบเก็บคะแนน โดยจำเลยต้องทำงานเก็บคะแนน และต้องทำรายงานด้วย หากศาลให้ประกันยังมีเวลาพอที่พริษฐ์จะไปทำงาน ซึ่งมีกำหนดส่งวันที่ 12 ม.ค. 2565 ได้ และหากศาลตั้งตนเป็นผู้กำกับดูแล ตนก็ยินดี

ศาลถามว่า ทราบหรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้มีการตั้งผู้กำกับดูแลพริษฐ์แล้ว ประจักษ์ตอบว่า ทราบว่าเป็น ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดี​ฝ่ายการนักศึกษา ​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ปัจจุบัน ผศ.ดร.อดิศร ไม่ได้ทำงานในตำแหน่งดังกล่าวแล้ว จึงไม่อาจสามารถกำกับดูแลได้อีก

“อานนท์ นำภา” ชี้ ติดคุกว่าความไม่ได้ ศาลยังคงไม่ได้ประกันตัวคดีอื่น แม้ศาลเคยยกคำร้องขอถอนประกันมาแล้ว 

เวลา 11.20 น. อานนท์ นำภา เข้าเบิกความว่า ตนจบเนติบัณฑิตรุ่น 62 ประกอบอาชีพทนายความมา 13 ปี ในคดีนี้ตนถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน ระหว่างถูกคุมขังครั้งก่อน ตนได้ติดโควิดในเรือนจำเมื่อช่วงกลางปี และปัจจุบันยังมีอาการ Long COVID (อาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19) ทำให้เหนื่อยง่าย

กอปรกับการที่ตนประกอบอาชีพทนาย การทำหน้าที่ว่าความในคดีต่างๆ ทำได้ลำบาก เนื่องจากถูกคุมขังอยู่ หลายคดีต้องเลื่อนการพิจารณา ทั้งที่เดิมในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ตนเป็นจำเลย ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมามีพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนมายื่นคำร้องขอเพิกถอนประกัน เนื่องจากเห็นว่าผิดเงื่อนไข ที่ตนเข้าร่วมชุมนุมทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ก่อนศาลสั่งให้มีการไต่สวนและยกคำร้องโจทก์ไป โดยวินิจฉัยว่าตนไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไข

เหตุที่ตนไม่ได้ประกัน หลังยื่นขอประกันหลายครั้ง เนื่องจากศาลให้เหตุผลว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำ หากแต่ก่อนหน้านั้น ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การกระทำที่ถูกร้องให้เพิกถอนประกันนั้นไม่ได้เป็นการกระทำผิดเงื่อนไข

ส่วนเงื่อนไขที่ศาลเคยกำหนดสำหรับตนนั้นมีดังนี้

  1. ไม่กระทําการใดๆ ให้สถาบันกษัตริย์เกิดความเสื่อมเสีย  
  2. ไม่ทํากิจกรรมใดที่จะทําให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย  
  3. ไม่เดินทางออกนอกประเทศ 
  4. พร้อมที่จะเดินทางมาศาลตามที่มีการนัดหมายทุกครั้ง 

สำหรับคดีที่ถูกฟ้องใหม่ เป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนการไต่สวนถอนประกัน และหลังจากที่ไต่สวนเสร็จแล้ว ตนถูกเพิ่มเงื่อนไขอีก 2 ข้อ คือ ห้ามออกจากเคหสถาน 24 ชั่วโมง และให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) แต่ยังไม่ได้ปฎิบัติตาม เนื่องจากถูกขังตามหมายขังคดีอื่นๆ 

ก่อนศาลถามว่า เคยถูกไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลไหม อานนท์ตอบไม่เคย

“ไผ่ จตุภัทร์” ย้ำ ศาลเคยยกคำร้องขอถอนประกันในคดีอื่น แสดงให้เห็นว่าตนสามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้

เวลา 14.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดีช่วงบ่ายอีกครั้ง เป็นการไต่สวนคำร้องขอประกันของจตุภัทร์และภาณุพงศ์

จตุภัทร์เบิกความว่า ตนกำลังศึกษาชั้นปริญญาโท ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และได้สมัครสอบทนายความภาคทฤษฎีเอาไว้ด้วย ซึ่งจะมีนัดสอบวันที่ 26 ธ.ค. 2564 ใน 3 คดี ที่ตนถูกขังอยู่นั้น ตนได้ให้การปฎิเสธและต้องการต่อสู้คดี ทุกคดียังไม่มีคำพิพากษา ปัจจุบันตนถูกขังมาแล้ว 4 เดือนกว่า ระหว่างถูกขังตนได้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย และยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจนถึงปัจจุบัน

ในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร  ตนถูกถอนประกันโดยไม่มีการไต่สวน นอกจากนี้ ในคดีที่ตนถูกฝากขังที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และถูกร้องให้เพิกถอนการประกันตัว จากเหตุชุมนุมที่หน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 แต่พนักงานสอบสวนเบิกความว่า วันดังกล่าวไม่มีผู้ต้องหาคนใดใช้ด้ามเหล็กทำลายรั้ว ข่มขู่เจ้าหน้าที่ หลังจากไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลก็ไม่ได้เพิกถอนประกันตัวในคดีนั้นแต่อย่างใด เท่ากับเป็นการยืนยันว่า ตนสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้ 

ทนายจำเลยถามว่า เงื่อนไขในคดีนั้นมีอะไรบ้าง จำได้หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่เข้าร่วมชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัติรย์ ไม่ออกนอกประเทศ มาศาลตามกำหนดนัดทุกครั้ง ทนายจำเลยถามต่อว่า หากศาลกำหนดให้อยู่ในเคหสถาน 24 ชั่วโมงเว้นแต่มีเหตุจำเป็น คือ เพื่อไปเรียน ไปศาล รักษาพยาบาล รวมทั้งให้ติดกำไล EM จำเลยยินดีรับเงื่อนไขดังกล่าวหรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่ายินดี โดยกล่าวว่าถ้าศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ตนสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดได้ และหลังจากได้ปล่อยตัวชั่วคราว ตนจะไปสอบใบอนุญาตว่าความ และไปศึกษาปริญญาโทต่อไป 


จากนั้นอัยการได้ถามค้านไผ่ว่า ทราบหรือไม่ว่าตนเองถูกถอนประกันในคดีชุมนุม 19 กันยา ด้วยเหตุอะไร ไผ่ตอบว่า ตนถูกถอนประกันโดยไม่มีการไต่สวนในวันที่  9 ส.ค. 2564 ก่อนจะมีการเบิกตัวไปไต่สวนในภายหลัง โดยการคอนเฟอร์เรนซ์จากในเรือนจำ อัยการได้ถามย้ำว่า มีการถอนประกันก่อนการไต่สวนอย่างนั้นหรือ ไผ่ยืนยันว่า ใช่

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะมาเป็นผู้กำกับดูแลของไผ่ เข้าเบิกความเป็นพยานอีกปาก ระบุว่า ยินดีที่จะเป็นผู้กำกับดูแลและควบคุมให้จตุภัทร์ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด โดยมั่นใจว่าจตุภัทร์จะสามารถปฏิบัติตามได้ และเนื่องจากจตุภัทร์จะต้องสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ทั้งยังมีวิชาที่ติดต้องแก้ไขอีก 4 วิชา จึงเห็นว่า หากศาลให้ประกัน จตุภัทร์คงไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นนอกจากเรื่องเรียน 

อัยการถามค้านพยานว่า ถ้าหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข จะทำอย่างไร พัทธ์ธีราตอบว่า จะตักเตือน แต่ตนเชื่อว่าจำเลยจะไม่มีเวลาไปร่วมกิจกรรม เพราะขอบเขตเวลาในการทำวิทยานิพนธ์ได้กระชั้นเข้ามาแล้ว มั่นใจว่าจำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขได้อย่างแน่นอน

“ไมค์ ภาณุพงศ์” ชี้ถูกถอนประกันถึง 2 ครั้ง แต่ศาลยกคำร้อง – ศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้ประกันคดี 112 แล้ว

เวลา 14.30 น. “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก เข้าเบิกความว่า ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 3 ตนเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องหาเลี้ยงแม่และพี่สาว โดยประกอบธุรกิจขายของออนไลน์ทุเรียนทอด ตนถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 2564 รวมเวลาประมาณ 3 เดือน 

ตนเคยถูกพิพากษาในคดีละเมิดอำนาจศาลของศาลธัญบุรี หลังรับสารภาพ โดยเหตุที่ต้องทำเช่นนั้นเนื่องจากวันดังกล่าว ตนถูกควบคุมตัวโดย คฝ.พยายามจะมาลากเพื่อนของตนไป พวกตนจึงต้องป้องกันตัว โดยศาลได้ลงโทษกักขัง 10 วัน 

ทนายจำเลยถามว่า ในระหว่างที่ถูกคุมขังมีปัญหาสุขภาพอย่างไรบ้าง ภาณุพงศ์ตอบว่า ติดโรคโควิด-19 ถึง 2 ครั้ง ส่งผลให้ตอนนี้มีอาการหอบ และโรคภูมิแพ้ที่เป็นโรคประจำตัวเดิมมีอาการหนักขึ้น ต้องกินยาทุกวัน เนื่องจากต้องอยู่ในสถานที่ที่จำกัด และจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับวัคซีน

ภาณุพงศ์เบิกความอีกว่า ในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตนได้ถูกร้องให้เพิกถอนการประกันตัว แต่หลังจากไต่สวนแล้วศาลมีคำสั่งไม่ถอนประกัน เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขเพิ่ม เนื่องจากที่ผ่านมาตนปฏิบัติตามเงื่อนไข ทั้งนี้ ตนเคยถูกร้องให้ศาลเพิกถอนประกันแล้ว 2 ครั้ง แต่ศาลไม่เคยมีคำสั่งให้ถอนประกัน นอกจากนี้ คดีมาตรา 112 อีก 2 คดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลก็อนุญาตให้ประกันโดยกำหนดเงื่อนไขให้ติด EM 

รวมถึงคดีที่อยู่ในศาลนี้ ศาลก็ได้ให้ประกันเช่นเดียวกัน โดยกำหนดเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการอันจะเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ให้อยู่ในเคหสถานตลอดเวลาเว้นแต่มีเหตุจำเป็น, ให้ติด EM และตั้งผู้กำกับดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด โดยในคดีนี้ตนก็สามารถยอมรับเงื่อนไขข้างต้นได้เช่นเดียวกัน ทนายจำเลยถามว่า ถ้าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วจะทำอะไรต่อไป ภาณุพงศ์กล่าวว่า จะกลับไปเรียนและประกอบอาชีพตามเดิม

อนุญาตอัยการยื่นคำคัดค้าน ก่อนนัดฟังคำสั่ง 24 ธ.ค. 

เวลา 14.45 น. ภายหลังศาลไต่สวนจำเลยทั้ง 4 คนพร้อมทั้งพยานแล้ว ได้กล่าวกับจำเลยว่า จะต้องนำข้อเท็จจริงจากการไต่สวนไปพิจารณาในที่ประชุมของศาล เนื่องจากไม่อยากให้การสั่งปล่อยหรือไม่ปล่อยเป็นการสั่งโดยผู้พิพากษาคนเดียว พร้อมทั้งย้ำว่า อย่าเข้าใจว่าการให้โอกาสไต่สวนในครั้งนี้จะเป็นเหตุให้ปล่อยตัวได้ทันที การอ้างว่าจะต้องกลับไปเรียนหรือกลับไปทำงานไม่ใช่เหตุที่จะนำไปสู่การปล่อยตัว ไม่เช่นนั้นทุกคนที่ถูกขังอยู่ก็คงอ้างได้

นอกจากนี้ศาลยังกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่ว่าจำเลยแถลงยอมรับเงื่อนไขแล้วศาลจะต้องปล่อยตัวเท่านั้น การเสนอเงื่อนไขไม่ใช่เหตุปล่อยตัวอย่างเดียว ศาลจะต้องพิจารณาที่การกระทำ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้ปล่อย จึงจะอนุญาตปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าจะสั่งอย่างไร สังคมก็จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำสั่งนั้น ศาลจึงต้องให้โอกาสในการเรียกมาไต่สวน 

จากนั้นศาลได้ถามพนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ว่า จะคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ก่อนกล่าวว่าอันที่จริงอัยการได้แถลงคัดค้านไว้แล้วก่อนจะมีการไต่สวน อัยการแถลงว่า จะต้องคัดค้านเนื่องจากคดีทั้งหมดเป็นคดีที่มีโทษสูง หากปล่อยตัวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี 

ต่อมา คณะพนักงานอัยการราว 15 คน ได้ปรึกษากันอีกครั้ง ก่อนจะแถลงว่าไม่สามารถแถลงคัดค้านภายในวันนี้ได้ เนื่องจากจำเลยแต่ละคนมีหลายคดี จึงขอทำคำแถลงเป็นเอกสารมายื่นภายในสัปดาห์หน้าซึ่งอาจจะเป็นวันพุธที่ 22 ธ.ค. 2564 

อานนท์ได้ขอแถลงต่อศาลว่า ตนรู้สึกว่าขั้นตอนการไต่สวนค่อนข้างแปลก เนื่องจากเปิดให้มีการไต่สวนแล้ว ยังจะเปิดให้มีการแถลงคัดค้านหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนอีก ซึ่งตนกังวลว่าหากอัยการทำคำแถลงมาแล้วปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ ฝ่ายจำเลยก็จะไม่ได้โต้แย้ง จะเป็นเสมือนการตอกฝาโลงตนหรือไม่ จึงขอท้วงติงไว้ 

ศาลกล่าวตอบอานนท์ว่า จำเลยอย่าบังคับศาลมากเกินไป ศาลได้ย่นย่อการพิจารณาให้สั้นลงโดยไม่ได้เรียกพนักงานสอบสวนแต่ละคดีมาไต่สวน หรืออานนท์อยากจะให้มีการสืบพยานอีกซัก 2-3 นัด ซึ่งมันก็อาจจะช้าออกไปอีก อานนท์จึงกล่าวว่า การพูดอย่างนี้ก็เหมือนเอาคนที่ถูกคุมขังอยู่เป็นตัวประกัน เพราะเวลาของคนข้างนอกกับคนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้เท่ากัน

หลังศาลและจำเลยโต้เถียงเหตุผลกันอยู่ราวครึ่งชั่วโมง ศาลจึงกล่าวสรุปว่า เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่ายเต็มที่ โดยโจทก์ได้ยืนยันว่าจะไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ การทำหนังสือคัดค้านเป็นเพียงการคัดค้านตามปกติ ส่วนฝ่ายจำเลยก็สามารถทำคำแถลงคล้ายกับการทำคำแถลงปิดคดีได้เช่นกันหากประสงค์จะทำ

ให้พนักงานอัยการยื่นคำคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหนังสือภายในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 และนัดฟังคำสั่งว่าศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ในเวลา 13.00 น.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี 

X