‘อานนท์ นำภา’ เข้ามอบตัวคดี ม.112 เหตุปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ชุมนุมครบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์

วันนี้ (9 สิงหาคม 2564) เวลาประมาณ 18.00 น. อานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรม ได้เดินทางเข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน หลังทราบว่าถูกออกหมายจับในคดีปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาชน หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา บริเวณลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ โดยปรากฏชื่อ นายนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการของศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา

หลังเดินทางไปถึง สน.ปทุมวัน เวลา 19.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการแสดงหมายจับต่ออานนท์ พร้อมกับแจ้งข้อหาและสิทธิของผู้ต้องหา โดยพบว่าเป็นหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ออกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 มีนายสมชาย พฤกษ์ชัยกุล เป็นผู้พิพากษาที่ออกหมาย ระบุ 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต  โดยในหมายจับไม่มีการติ๊กเหตุแห่งการออกหมายแต่อย่างใด

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำบันทึกจับกุม โดยระบุว่าอานนท์ ผู้ถูกออกหมายจับ ได้ประสานงานจะเข้าทำการมอบตัวเองที่ สน.ปทุมวัน การดำเนินการเกิดขึ้นภายใต้การสั่งการของ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 6 โดยมีชุดจับกุม ได้แก่ ตำรวจกองกำกับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล นำโดย พ.ต.ท.นิติกรณ์ ระวัง และตำรวจจากฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวัน นำโดย พ.ต.อ.เอกภพ ลิขิตธนสมบัติ 

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้นำตัวอานนท์ส่ง พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภาการณ์ สารวัตร (สอบสวน) สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่อานนท์ โดยมีทนายความและผู้ไว้วางใจร่วมด้วย

พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า ก่อนเกิดเหตุ นายนพดล พรหมภาสิต ผู้กล่าวหาได้พบว่า เฟซบุ๊กชื่อ “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group – DRG” โพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมครบรอบ 1 ปี กิจกรรม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” โดยได้ทำการนัดหมายในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เวลา 16.00 น. ที่บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ 

ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 15.30 น. บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ได้มีรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียงและอุปกรณ์เวทีในการปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งมีกลุ่มผู้เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณดังกล่าวประมาณ 200 คน โดยไม่มีมาตรการในการป้องกันโรคติดต่อ 

จากนั้นเวลาประมาณ 17.34 น. ถึง 18.09 น. อานนท์ได้ขึ้นพูดปราศรัยแสดงถ้อยคำกับประชาชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรม อันมีเจตนาทำให้พระมหากษัตริย์ด้อยค่า เสื่อมพระเกียรติ โดยปราศรัยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม 

ข้อกล่าวหาได้มีการยกเนื้อหาคำปราศรัยทั้งหมด 5 ช่วงตอนขึ้นมากล่าวหา โดยมีทั้งส่วนที่กล่าวทบทวนถึงสถานการณ์ในปี 2563 ข้อเรียกร้องให้เสด็จกลับจากเยอรมนีมายังประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ที่กษัตริย์โอนทรัพย์สินของแผ่นดินไปเป็นของส่วนพระองค์ และยังไม่ยอมปรับตัว กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการถือหุ้นในบริษัทสยามไบโอไซน์ของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 

นายนพดล พรหมภาสิต เห็นว่าข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จึงได้มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดําเนินคดีกับนายอานนท์ นําภา

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่ออานนท์ 3 ข้อหาหลัก ได้แก่ 

1. “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

2. ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 มาตรา 9 (2) ฉบับที่ 15 ข้อ 3 “ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมในสถานที่แออัด ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด” และฉบับที่ 30 ข้อ 4 (1) “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจํานวนมากกว่าห้าคนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”

3. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

พนักงานสอบสวนยังแจ้งข้อหาเรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม โดยอ้างถึงประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม การทํากิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 9) ข้อ 3 “ห้ามร่วมกันชุมนุม หรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคําสั่งกําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” และตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ข้อ 7 “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่าห้าคน”

อานนท์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไปภายใน 30 วัน

ในคืนวันนี้ อานนท์ยังถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ปทุมวัน และในพรุ่งนี้ตำรวจจะยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ต่อไป 

สำหรับการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งอานนท์ นำภา ได้เริ่มปราศรัยในที่สาธารณะถึงประเด็นปัญหาสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยเป็นครั้งแรก ก่อนจะนำไปสู่ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 116 คน ใน 115 คดี โดยในจำนวนนี้มี 58 คดีแล้วที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 

สำหรับนพดล พรหมภาสิต เป็นผู้กล่าวหานักกิจกรรมทางการเมืองในคดีมาตรา 112 คดีของอานนท์นี้ เป็นคดีที่ 5 เป็นอย่างน้อยแล้ว ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้กล่าวหาทั้งพริษฐ์ ชิวารักษ์, ปิยรัฐ จงเทพ และชลธิชา แจ้งเร็ว ในคดีที่ บก.ปอท. อีกด้วย  ส่วนคดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 13 ที่อานนท์ถูกกล่าวหาแล้ว 

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

X