Thai PBS เปิดเวทีสาธารณะ ชาวบ้านนามูล ดูลสาด กรณีขุดเจาะปิโตเรียม

Thai PBS เปิดเวทีสาธารณะ ชาวบ้านนามูล ดูลสาด กรณีขุดเจาะปิโตเรียม

Thai PBS เปิดเวทีสาธารณะ ชาวบ้านนามูล ดูลสาด กรณีขุดเจาะปิโตรเลียม

วันนี้ (4 มีนาคม 2558) เวลาประมาณ 14.00 น. รายการ Thai PBS เปิดเวทีสาธารณะที่บ้านนามูล ต.ดูลสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น กรณีขุดเจาะปิโตรเลียม โดยมี นายสมชาย ตะสิงห์ษะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเหมืองแร่ ตัวแทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายประสาร มฤคพิทักษ์ ตัวแทนสภาปฎิรูปแห่งชาติ นางสาวณัฐพร อาจหาญ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน นายอดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน และปลัดอำเภอกระนวนที่ถูกเชิญให้มาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านนามูล แต่ปลัดอำเภอได้ปฏิเสธการเข้าร่วมพูดคุยในเวทีสาธารณะนี้ โดยให้เหตุผลว่าส่วนใหญ่คนที่มาร่วมในเวทนี้มีแต่คนคัดค้าน ด้านบริษัท อพิโก้ ก็ได้ปฏิเสธการเข้าร่วมเช่นกัน ทั้งนี้ยังมีชาวบ้านนามูลและอีกหลายหมู่บ้านที่เคยมีการขุดเจาะปิโตเรียม เช่น บ้านหนองแซงและบ้านคำไผ่ อ.ท่าคันโท กาฬสินธุ์ มาร่วมแลกเปลี่ยนภายในเวทีสาธารณะครั้งนี้ด้วย

เหตุผลที่ชาวบ้านไม่ยอมเข้าร่วมกับเวทีของบริษัทจัด

ชาวบ้านนามูลเล่าถึงความเป็นมาเกี่ยวกับการที่ชาวบ้านไม่ยอมเข้าประชุมกับรัฐและบริษัทว่า ชาวบ้านเคยยื่นข้อเสนอให้กับทางรัฐว่า อยากได้เวทีที่มีนักวิชาการที่หลากหลาย รวมถึงอยากให้มี กรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าไปด้วยรับฟังปัญหาอีกทั้งเวลาประชุมก็ไม่อยากให้มีการลงชื่อ และทุกครั้งที่มีการลงชื่อ ก็จะมีทหารมาทุกครั้ง รวมถึงรู้สึกไม่สบายใจเรื่องลายเซ็นที่จะเอาไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการในการขุดเจาะปิโตรเลียม และยังตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่เคยมีข้อกล่าวหาว่าเวลาที่รัฐจัดเวทีทำความเข้าใจเรื่องการขุดเจาะปิโตรเลียม ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยไม่ยอมเข้าร่วม แต่ในขณะนี้มีเวทีสาธารณะของ Thai PBS ในหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งนักวิชาการจากหลายฝ่าย ทางปลัดอำเภอและบริษัทก็ปฏิเสธ ทั้งที่เป็นเวทีที่มีทั้งนักวิชาการที่หลากหลายเข้าร่วม

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ กอ.รมน.และผู้ใหญ่บ้านได้เข้ามาเรียกชาวบ้านให้เข้าร่วมประชุมกับทางบริษัทและรัฐ แต่ชาวบ้านไม่ได้เข้าไปร่วม เพราะชาวบ้านเองก็กำลังประชุมเกี่ยวกับ EIA อยู่เช่นกัน อีกทั้งในวันนั้น กอ.รมน. และตำรวจยังเอารถกรงขังผู้ต้องหามาประจำไว้ในเวทีแสดงความคิดเห็นด้วย นอกจากนี้เวลาประชุมจะต้องมีการลงชื่อ และตรงที่ลงชื่อก่อนเข้าร่วมประชุมจะมีทหารคอยคุมอยู่หน้าประตู จึงทำให้รู้สึกกลัวและช่วงนี้อยู่ในสภาวะกฎอัยการศึก ทำให้ชาวบ้านยิ่งรู้สึกกังวลใจมากขึ้นกับการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก รวมถึงการเข้ามาคุกคามจากทางภาครัฐ

รัฐเปิดทางให้บริษัทขนอุปกรณ์เข้าพื้นที่

สายสมร รัตนติสร้อย สมาชิก อบต.ต.ดูลสาด เล่าถึงเหตุการณ์ที่ปลัดอำเภอ มาขออนุญาตให้ทางบริษัทขนอุปกรณ์เข้าพื้นที่ไปไว้ก่อน ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่เข้าร่วมเซ็น MOU กับทางบริษัท เกี่ยวกับการขุดเจาะปิโตรเลียม อีกทั้งเวลาที่มีการประชุม และมีคำถามสำหรับถามบริษัท คนที่ตอบคำถามแทนบริษัทมักจะเป็น กอ.รมน. ทุกครั้ง และในคืนหนึ่งกลางดึกมีเจ้าหน้าที่เอาเอกสารไปให้ที่บ้าน มาเปิดดูตอนเช้าจึงรู้ว่า เป็นเอกสารเรียกให้ไปปรับทัศนคติ

แค่ทางผ่าน! ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านจริงหรือไม่

ชาวบ้านนามูลร่วมกันเปิดแผนที่เพื่ออธิบายถึงระยะที่จะได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะปิโตรเลียม หลุมเจาะดงมูล บี (DM-B) แปลงสัมปทาน L27/43 ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด โดยทางบริษัทอ้างว่าขออนุญาตพลังงานจังหวัดและทางหลวงชนบทแล้ว ถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่เขต ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ แต่จากบริเวณแปลงสัมปทานอยู่ห่างจากพื้นที่ชุมชนบ้านามูลเพียง 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่สิ้นสุดการแบ่งเขตจังหวัดกาฬสินธุ์และเขตบ้านนามูล อ.กระนวน จ.ขอนแก่น พอดีและอยู่ในขอบเขตพื้นที่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 5 กิโลเมตร แต่ชาวบ้านนามูล ที่อยู่ในเขตขอนแก่นยังไม่เคยร่วมในกระบวนการทำ EIA เลย อีกทั้งในละแวกหลุมเจาะมีทั้ง เกษตรกรรมและชุมชน แต่กลับถูกปัดความรับผิดชอบโดยการบอกว่าอยู่คนละเขตจังหวัด อีกทั้งอพิโก้ยังมีแผนพัฒนาแหล่งผลิตดงมูล ประกอบไปด้วย 3 ฐานเจาะ Pad A , Pad B, Pad C ที่ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ โดยมีโรงแยกก๊าซที่ อ.ห้วยเม็ก ซึ่ง Pad A ได้มีการทดลองขุดเจาะไปแล้ว หากทางรัฐยังละเลยกระบวนการของการทำ EIA ชาวบ้านอีกพื้นหลายต้องได้รับผลกระทบซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ความเสี่ยง สองอันดับแรก จากการขุดเจาะปิโตรเลียม

อ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า ถ้าดูพื้นที่จริงจะเห็นได้ว่าพื้นที่นามูลอยู่ห่างจากหลุมขุดเจาะเพียง 1.3 กิโลเมตร เท่านั้น ดังนั้นชาวบ้านจะได้รับอยู่ 2 อย่างหลักๆ คือ ความเสี่ยงที่ 1) อยู่ใต้ทิศทางลมซึ่งจะทำให้ได้รับไฮโดรเจนซัลไฟด์ (hydrogen sulfide)หรือก๊าซไข่เน่า มีกลิ่นเน่าเหม็นเหมือนไข่เน่าซึ่งอาการพิษเฉียบพลันของผู้ที่ได้รับก๊าซนี้คือ คลื่นไส้ หายใจขัดต่อเนื่องจากการขาดออกซิเจน หมดสติ และอาจถึงตายได้ถ้ามีความเข้มข้นสูง ความเสี่ยงที่ 2) คือมีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ติดกับหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม เช่น ยางพาราและอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเสียหาย

ผลกระทบจากก๊าซไข่เน่า

ชาวบ้านคำไผ่ อ.เมื่อ จ.กาฬสินธุ์ เล่าว่า ในช่วงที่บ้านคำไผ่ จ.กาฬสินธุ์ มีการทดลองขุดเจาะปิโตรเลียมอยู่ประมาณ 3 ครั้ง บางที มีกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่า ช่วงแรกๆ ไม่รู้ก็คิดแค่ว่ามันคงเป็นกลิ่นไข่เน่า แต่พักหลังๆ เริ่มได้กลิ่นบ่อยๆ ทำให้สามีอาการลิ้นแข็ง ตัวชาและหมดสติ จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ผลวินิจฉัยของแพทย์เขียนระบุว่ามีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ
สมชาย ย้ำ EIA ทำถูกต้องตามกระบวนการ ต้องรอให้เกิดผลกระทบก่อนถึงจะเรียกว่าเกิดผลกระทบ

นายสมชาย ตะสิงห์ษะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเหมืองแร่ ตัวแทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระบวนการทำ EIA เป็นไปอย่างถูกต้องตามกระบวนการและมีการสำรวจผลกระทบแล้วในกระบวนการทำ ถ้าอยู่ในรอบ 1 กิโลเมตร จะสอบถามทุกหลังคาเรือน แต่ถ้าเลย 1 กิโลเมตร จะสุ่มทำ ในเรื่องของผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม อีกทั้งหลุมขุดเจาะอยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ ของ จ.ขอนแก่น การที่ EIA ฉบับนี้ผ่านเพราะมันยังไม่เกิดผลกระทบต้องรอให้เกิดผลกระทบเสียก่อนสำหรับหลุมนี้ ถึงจะบอกได้ว่ามีผลกระทบ ส่วนจะหยุดหรือไม่ให้หยุดโครงการต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการตัดสินของศาลที่ชาวบ้านได้ฟ้องไป

ปกรณ์ สระแก้งตุ่ม ชาวบ้านนามูล ถามว่า ถ้าการทำ EIA คือ การทำภายใน 5 กิโลเมตรและผลกระทบเกิดขึ้นภายใน 5 กิโลเมตร แล้วEIA ให้ผ่านได้อย่างไร ใครจะรับผิดชอบต่อผลกระทบเหล่านั้น ทั้งการเกษตร น้ำ สุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่

ปัญหาของการทำ EIA กรณีบ้านหนองแซงล้มเหลวหรือต้องปฎิรูปใหม่หมด!

มีการขุดเจาะในหลุมแรกที่ ต.นาตาล อ.ท่าคันโท และมีการทำ EIA ผ่าน แต่พอมีการย้ายไปขุดเจาะหลุมอื่นที่อยู่ห่างหลุุมแรกในระยะประมาณ 3 กิโลเมตร กลับไม่มีการทำ EIA ใหม่แต่กลับให้ใช้ EIA ฉบับเดิม

ข้อเสนอของ กระบวนการ EIA จากนักวิชาการ

ดร.อาภา หวังเกียรติ และอ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ส่วนใหญ่กระบวนการทำ EIA มักจะจ้างนักวิชาการให้ทำและเอาเข้าจริง ชาวบ้านแทบจะไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการนั้นเลย อีกทั้งในช่วงการขนอุปกรณ์ทางบริษัทก็ไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าก่อน 15 วัน ตามกฎหมาย แต่ยังขนอุปกรณ์เข้าพื้นที่จนเสร็จโดยรัฐเป็นคนเปิดทางให้ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะการที่ทหาร ตำรวจเข้ามาในพื้นที่ด้วยพฤติกรรมต่างๆ ภายใต้กฎอัยการศึกแล้วถือว่าเป็นการคุกคามสิทธิฯของชาวบ้าน ดังนั้น จึงเสนอให้หยุดโครงการขุดเจาะไปก่อนและให้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมและถี่ถ้วน เพราะถ้าปล่อยให้มีการขุดเจาะก็คงจะเกิดปัญหาเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้น ตัวอย่างก็มีให้เห็น ดังเช่น กรณีบ้านคำไผ่และบ้านหนองแซง จ.กาฬสินธุ์

สปช. ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามีมาตรการและมาตราฐาน EIA แล้วทำไมถึงมีคนป่วย

ประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช. ย้ำว่ากระบวนการทำ EIA มีปัญหาจริง และต้องให้หยุดโครงการขุดเจาะปิโตรเลียมเสียก่อน อีกทั้งการที่ทหารเข้ามาในพื้นที่นามูลนั้นทำให้สร้างความกลัวและความขุ่นข้องใจแก่ชาวบ้าน ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่อยู่ในกฎอัยการศึกยิ่งไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้านบ้าง เพราะกฎอัยการศึกเป็นกฎหมายพิเศษ จะใช้ทำอะไรก็ได้

1491587_797412623641927_3878872937187448908_n 1504591_797412660308590_1245945399300450221_n 10407995_797411630308693_6571170246226629892_n 11016831_797412630308593_4456663603197598858_n

X