เมษายน 64: ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มไปกว่า 635 คน แนวโน้มอัยการเร่งฟ้องหลายคดีตลอดเดือน

ในช่วงเดือนเมษายน 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาเป็นระลอกที่สามในประเทศไทย ทำให้ไม่ได้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะการรวมตัวหรือชุมนุมขนาดใหญ่เกิดขึ้น แต่ยังมีกิจกรรมสำคัญคือการ #ยืนหยุดขัง เพื่อเรียกร้องปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองเกิดขึ้นทุกๆ วันตลอดเดือนนี้ 

ขณะเดียวกันสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมือง ก็ไม่ได้ยุติไปตามการระบาดของโควิด แต่ยังคงมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอีก จากการแสดงออกและชุมนุมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ในเดือนนี้ยังมีแนวโน้มของการที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีหลายคดีอย่างรวดเร็วกว่าในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์การต่อสู้คดีทางการเมืองดำเนินไปถึงในชั้นศาลมากขึ้น

สถิติในภาพรวม จากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 รวมเวลา 9 เดือนเศษ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 635 คน ในจำนวน 301 คดี

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2564 เท่ากับมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 54 คน และคดีเพิ่มขึ้น 33 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ย้อนดู สรุปสถิติคดีเดือนมีนาคม

หากพิจารณาสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 88 คน ในจำนวน 81 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 103 คน ในจำนวน 27 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 184 คน ในจำนวน 36 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 479 คน ในจำนวน 136 คดี  แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 113 คดี

หากย้อนนับคดีตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ยอดผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีรวมกันอย่างน้อย 492 คน ในจำนวน 144 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 99 คน ในจำนวน 64 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 43 คน ในจำนวน 47 คดี

ในจำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 35 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

จากจำนวน 301 คดีดังกล่าว มีจำนวน 52 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น ขณะที่ในจำนวนนี้มี 1 คดี ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโดยเด็ดขาด

 

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนเมษายน 2564 นี้ ยังมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

1. การดำเนินคดีมาตรา 112 จากการโพสต์บนโลกออนไลน์ ยังเพิ่มขึ้น ขณะปัญหาการไม่ให้ประกันตัวยังดำเนินต่อไป 

ตลอดเดือนเมษายน มีสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอย่างน้อย 6 ราย ใน 7 คดี ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เริ่มมีการนำข้อหานี้กลับมาใช้อีกครั้ง มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 88 ราย ใน 81 คดี (ดูตารางสถิติคดีมาตรา 112) สถิตินี้เป็นเพียงตัวเลขที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลเท่านั้น คาดว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นประชาชนทั่วไป ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวอยู่อีก

เดือนที่ผ่านมา พบว่าคดีมาตรา 112 คดีใหม่ เกิดขึ้นที่ บก.ปอท. และ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เป็นหลัก โดยมากยังเป็นคดีที่มี “ประชาชนทั่วไป” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้กับทางตำรวจ จากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะคดีที่ สภ.บางแก้ว ซึ่งพบว่ามีประชาชนรายหนึ่งไปแจ้งความผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากทิ้งไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และตำรวจได้ทยอยออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดี 

อีกทั้งเมื่อผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับทราบข้อหาที่ สภ.บางแก้ว ในทุกคดี ตำรวจยังมีการนำตัวไปขอฝากขังที่ศาล ทั้งที่เป็นการเดินทางมาตามหมายเรียก ทำให้ผู้ต้องหาต้องทำการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์อีกด้วย โดยถึงปัจจุบันพบว่ามีคดีมาตรา 112 ในลักษณะนี้ที่ สภ.บางแก้ว เท่าที่ศูนย์ทนายสิทธิฯ ทราบข้อมูลอย่างน้อย 6 คดีแล้ว (ดูตัวอย่างคดีของ มีชัย, ธีรวัช, “ปุญญพัฒน์” และ พิพัทธ์)

 

 

ประเด็นการไม่ให้ประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีในมาตรา 112 ยังเป็นประเด็นสำคัญ โดยกลุ่มแกนนำราษฎรคนสำคัญ ยังคงไม่ได้รับการประกันตัว แม้จะมีการยื่นขอประกันตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ที่อดอาหารระหว่างอยู่ในเรือนจำ มานับเดือนแล้ว และยื่นประกันตัวไปรวม 9 ครั้ง ศาลอาญายังคงไม่อนุญาต

ขณะที่กรณีของ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่ศาลอาญาทยอยอนุญาตให้ประกันตัว ในลักษณะที่มีเงื่อนไขว่าหากได้รับการปล่อยตัว จะไม่ทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์อีก และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

นอกจากนั้น ยังมีกรณีของพรชัย และ พรพิมล ประชาชนที่ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนในข้อหามาตรา 112 ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับการประกันตัวเพิ่มเติม หลังจากมีการอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลชั้นต้น ไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 

หากแต่ในกรณีของ “ตี้ พะเยา” วรรณวลี ธรรมสัตยา นักศึกษานักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีกคนหนึ่ง หลังจากอัยการสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 กรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา แล้ว ศาลอาญาธนบุรีกลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเธอ ระหว่างการพิจารณา ทำให้แนวโน้มของการประกันตัวในคดีมาตรา 112 ยังต้องพิจารณาเป็นรายคดี และแนวโน้มของแต่ละศาลอีกด้วย 

 

 

ทั้งนี้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2564 มีผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีตามมาตรา 112 อยู่อย่างน้อย 10 คน (ดูสถิติผู้ถูกคุมขัง)

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การพิจารณาคดีในชั้นศาลก็ทยอยมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในคดีแกนนำราษฎรซึ่งถูกคุมขังอยู่ และสังคมติดตามให้ความสนใจ กระบวนในการพิจารณาคดีมาตรา 112 ดำเนินไปด้วยปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ที่ส่งผลต่อสิทธิของจำเลยในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม อาทิเช่น ญาติและผู้ติดตามไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้ แม้ไม่ได้มีคำสั่งพิจารณาเป็นการลับ, การควบคุมจำเลยโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ศาลอย่างเข้มงวด, การที่ทนายความไม่สามารถพูดคุยกับลูกความได้เป็นการส่วนตัว, การยึดโทรศัพท์มือถือระหว่างการพิจารณา รวมทั้งการไม่ให้สิทธิในการประกันตัว ทำให้การต่อสู้คดีเป็นไปอย่างยากลำบาก

 

2. การสั่งฟ้องคดีทางการเมืองของพนักงานอัยการ มีแนวโน้มเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น

แนวโน้มในช่วงเดือนเมษายนอีกประการหนึ่ง คือคดีชุมนุมทางเมืองหลายคดี ทยอยถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องอย่างรวดเร็วมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ โดยเดือนที่ผ่านมา จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีคดีใหม่ที่ถูกสั่งฟ้องขึ้นสู่ชั้นศาลอีกอย่างน้อย 15 คดี หลังจากก่อนเดือนเมษายน มีคดีการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 อยู่ในชั้นศาล จำนวน 27 คดี 

นอกจากนั้น คดีที่ถูกสั่งฟ้องหลายคดี ยังเป็นคดีที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีอย่างค่อนข้างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับคดีจากการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการสั่งฟ้องมากนัก 

คดีชุมนุมที่มีการสั่งฟ้องในเดือนนี้ อาทิเช่น คดีจากกาชุมนุม #ม็อบ28กุมภา หน้ากรมทหารราบที่ 1 จำนวน 2 คดี, คดีทีมการ์ด We Volunteer ที่ถูกจับกุมที่เมเจอร์รัชโยธิน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 64, คดีที่เกี่ยวเนื่องกับหมู่บ้านทะลุฟ้า ซึ่งถูกสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 64 อีกจำนวน 3 คดี

 

 

ในชุดคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า นับตั้งแต่การแจ้งข้อกล่าวหาจนสั่งฟ้องคดียังใช้เวลาราวหนึ่งเดือน โดยที่คดีเหล่านี้ยังเป็นคดีที่มีผู้ต้องหาจำนวนมาก ทำให้ขั้นตอนการสั่งฟ้อง ยังต้องใช้หลักทรัพย์สำหรับขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา จากกองทุนการประกันตัวรวมกันแล้วค่อนข้างมากด้วย 

นอกจากนั้นยังมีการทยอยฟ้องคดีตามมาตรา 112 เพิ่มอีกอย่างน้อย 3 คดี ได้แก่ คดีของสิริชัย นาถึง นักศึกษาม.ธรรมศาสตร์ จากการพ่นสีสเปรย์, คดีปราศรัย #ม็อบ6ธันวา ที่วงเวียนใหญ่ ของ “ตี้” วรรณวลี และ “จัสติน” ชูเกียรติ รวมทั้งคดีปลดรูประหว่างการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในช่วงเดือนตุลาคม 2563

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีคดีที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 1 คดี ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างเด็ดขาดแล้ว ได้แก่ คดีการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 63 ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งนักกิจกรรม 4 ราย ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอัยการคดีศาลแขวงลำปางได้มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมจัดขึ้นในพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด ผู้ชุมนุมสวมหน้ากาก ไม่พบการติดเชื้อไวรัสในท้องที่จังหวัด และยังเป็นการแสดงความเห็นทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

หากแต่คดีนี้ยังเป็นคดีเดียวเท่าที่ทราบ ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในลักษณะนี้ ขณะที่ในหลายคดี อัยการยังเดินหน้าสั่งฟ้องคดีข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้ตลอดการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 จะไม่มีรายงานการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด 

บทบาทของพนักงานอัยการต่อการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาต่อไป

 

 

3. ตำรวจยังออกหมายเรียกคดีจากการชุมนุมต่อเนื่อง และแนวโน้มการดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล

เดือนเมษายน แม้จะมีการชุมนุมขนาดใหญ่ไม่มากนัก แต่การดำเนินคดีต่อการจัดกิจกรรมทางการเมือง ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ถูกนำมาใช้กล่าวหาผู้จัดและผู้ร่วมการชุมนุมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 

คดีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา อาทิ คดีจากการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 มีการออกหมายเรียกและแจ้งข้อหาเพิ่มเติมผู้ชุมนุมอีก 20 ราย, คดีจากการชุมนุม #ม็อบ24มีนา #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร ที่ราชประสงค์ มีการออกหมายเรียกและแจ้งข้อหากับผู้ปราศรัย 10 ราย รวมทั้งมายด์ ภัสราวลี ที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 อีกด้วย หรือคดีการจัดกิจกรรม “เงี่ยนก้อย” แจกอาหาร “ก้อยดิบ-สุก” จัดโดยกลุ่มสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2564 ก็ได้มีการดำเนินคดีนักเรียนนักศึกษาในเดือนนี้ 12 คน ในจำนวนนี้ยังเป็นเยาวชนอยู่ 5 คนด้วย 

ขณะที่การชุมนุมที่เพิ่งเกิดขึ้นในเดือนนี้ ก็พบว่าตำรวจทยอยออกหมายเรียกผู้ชุมนุม ได้แก่ คดีจากการชุมนุมกลุ่ม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ที่นำโดยจตุพร พรหมพันธ์ุ มีรายงานการออกหมายเรียกผู้ร่วมปราศรัยและชุมนุมในวันที่ 4-5 เม.ย. 64 อย่างน้อย 23 คน, คดีจากการชุมนุม #ม็อบ15เมษา กลับหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่ทำเนียบรัฐบาล ของกลุ่ม UNME of Anarchy มีการออกหมายเรียกอย่างน้อย 4 คน ทั้งสองกรณีนี้ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา

 

 

นอกจากนั้นในเดือนนี้ เจ้าหน้าที่ยังมีการจับกุมและดำเนินคดีผู้ทำกิจกรรมที่หน้าศาล เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจับกุม “บาส มงคล” ผู้มานั่งอดอาหารที่หน้าศาลอาญาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไปดำเนินคดีมาตรา 112 ที่จังหวัดเชียงราย การจับกุม “สมณะดาวดิน” ถึงสองครั้ง หลังมานั่งอดอาหารที่หน้าศาลอาญาเช่นกัน ทำให้สมณะถูกดำเนินคดีติดตามมาถึง 4 คดีแล้ว โดยเฉพาะข้อหาเรื่องการแต่งกายเลียนแบบพระ นอกจากนั้นยังมีรายงานการควบคุมตัวผู้ปักหลักหน้าศาลในช่วงกลางคืน ไปเปรียบเทียบปรับในข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ อย่างน้อย 5 คดีแล้ว 

สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมือง และการไม่ให้ประกันตัวแกนนำราษฎร ยังนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์บทบาทขององค์กรตุลาการอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการเคลื่อนไหวแสดงออกในบริเวณศาล ทำให้มีการดำเนินคดี “ละเมิดอำนาจศาล” เพิ่มมากขึ้น

ที่ศาลอาญาพบว่าขณะนี้มีการตั้งเรื่องพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลแล้ว อย่างน้อย 5 คดี จากสถานการณ์ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา อาทิ คดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ จากการลุกขึ้นอ่านแถลงการณ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมและประกาศอดอาหารในห้องพิจารณาคดี, คดีถ่ายภาพในห้องพิจารณาของ “ครูใหญ่-ฟอร์ด-ไบรท์” หรือคดีการปราศรัยหน้าศาลของ “เลิศศักดิ์-นวพล”

แนวโน้มการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกต่อองค์กรตุลาการ จึงเป็นสถานการณ์สำคัญที่ต้องจับตาในช่วงเดือนต่อๆ ไป

 

สรุปสถานการณ์เดือนก่อนหน้านี้

มีนาคม 64: เดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มเกือบ 200 ราย ยอดพุ่งไปอย่างน้อย 581 คน ใน 268 คดี
กุมภา 64 : คดีทางการเมืองยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึง 207 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 382 คน
ม.ค. 64: คดีชุมนุม/แสดงออกทางการเมืองพุ่งไปกว่า 183 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 291 คน

 

X