ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ให้ประกันตัว ฟ้า พรหมศร คดี 112 แม้ระบุ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และพร้อมรับเงื่อนไขศาล

 24 เมษายน 2564 ทนายความเดินทางไปที่ศาลจังหวัดธัญบุรี เพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” จากกลุ่มราษฎรมูเตลู ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยดัดแปลงเนื้อเพลงที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ระหว่างติดตามและเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว สิริชัย” ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับในคดีพ่นสีข้อความ “ภาษีกู”, “ยกเลิก 112” บนรูปพระบรมวงศานุวงศ์และป้าย เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 4 ระบุ หากได้ประกันตัวจะไม่พูดพาดพิงสถาบันกษัตริย์อีก แต่ศาลจังหวัดธัญบุรียังมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว  

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความยื่นเอกสารประกอบคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว ฟ้า พรหมศรต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังต่อไปนี้  

1.คดีนี้  ผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ศาลจังหวัดธัญบุรี มีคำสั่งว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าเป็นคดีอัตราโทษสูง ตามพฤติการณ์และลักษณะการกระทำเกรงว่าจะหลบหนี และไปกระทำความผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก  จึงเป็นกรณีไม่มีเหตุสมควรให้หล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง”  จากนั้นผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีก 3 ครั้ง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 , 29 มีนาคม 2564 และวันที่ 20 เมษายน 2564 ซึ่งล่าสุดศาลจังหวัดธัญบุรี ได้มีคำสั่งว่า “พิเคราะห์คำร้องประกอบกับคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว เห็นว่ากรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง”   

รายละเอียดปรากฏตามคำสั่งศาลในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฝ.๒๔๒/๒๕๖๔

2.คำสั่งของศาลจังหวัดธัญบุรี  ที่มีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง” ผู้ต้องหาไม่เห็นพ้องด้วย  จึงขออุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลจังหวัดธัญบุรีที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 และขอให้ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลจังหวัดธัญบุรี และมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปในระหว่างสอบสวน  โดยผู้ต้องหาขอเรียนเหตุผลในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังต่อไปนี้

2.1  ตามประมาลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 วางหลักไว้ว่า  “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้  (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี  (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล…”

การที่ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งว่า “เป็นคดีอัตราโทษสูง ตามพฤติการณ์และลักษณะการกระทำเกรงว่าจะหลบหนี และไปกระทำความผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก” นั้น ไม่ถูกต้อง  เนื่องจากคดีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหานั้น แม้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง แต่การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้น  ไม่อาจพิจารณาเพียงข้อหาหรือฐานความผิดที่ถูกฟ้องเท่านั้น  คดีนี้ผู้ต้องหาถูกแจ้งข้อกล่าวหาในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สามถึงสิบห้าปี  ซึ่งในคดีอื่นที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันหรือในข้อหาร้ายแรงอื่นๆ ศาลก็ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้  ดังนั้น  อาศัยเพียงฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  เป็นบทสันนิษฐานเบ็ดเสร็จเด็ดขาดว่าเป็นคดีร้ายแรงมีอัตราโทษสูง  และไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว  จึงไม่อาจรับฟังได้และไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง  และในประเด็นเรื่องกระทำผิดซ้ำหรือก่อให้เกิดภยันตรายอื่นนั้น พนักงานสอบสวนไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงให้เห็นว่าผู้ร้องจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่นแต่อย่างใด

 

2.2 ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีมาตั้งแต่ต้น ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา แม้ในวันก่อนหน้า (16 มีนาคม 2564) ผู้ต้องหาจะเพิ่งประสบกับอุบัติเหตุบนท้องถนน มีบาดแผลฉกรรจ์หลายแห่ง แต่ผู้ต้องหาก็มาตามกําหนดนัดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เนื่องจากเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

2.3. ด้วยสถานะทางสังคมของผู้ต้องหา คงไม่สามารถจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือหลบหนีไปที่ใดได้ เนื่องจากผู้ต้องหามิได้เป็นผู้มีอิทธิพล เป็นเพียงบุคคลธรรมดา กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีควบคู่ไปกับประกอบสัมมาชีพสุจริต  อีกทั้งพยานหลักฐานทั้งปวงนั้น อยู่ในครอบครองของพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาไม่อาจจะไปยุ่งเหยิงได้ การที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาในคดีที่มีโทษทางอาญาไม่ใช่เหตุผลเพียงพอว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคี ต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว ในข้อ 14 (1) กล่าวว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” และในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11(1) ที่ว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาคดีที่เปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จําเป็นทั้งปวงสําหรับการต่อสู้คดี”

2.4 ข้ออ้างของพนักงานสอบสวนที่ต้องขอฝากขังผู้ต้องหา เนื่องจากการสอบพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหานั้น ในการไต่สวนขอฝากขัง พนักงานสอบสวนก็ได้เบิกความว่าเหตุดังกล่าวนั้น ไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้แต่อย่างใด

ทั้งการอ้างเหตุว่าผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำทั้งโดยพนักงานสอบสวนและศาลจังหวัดธัญบุรี ก็ไม่เป็นธรรมกับผู้ต้องหา เพราะเปรียบเสมือนเป็นการพิพากษาไปแล้วว่าผู้ต้องหากระทำความผิด ทั้งที่ทุกๆ คดีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาอยู่ระหว่างกระบวนการสอบสวนทั้งสิ้น

 ในส่วนท้ายคำร้องระบุว่า  หากศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยกคำสั่งของศาลจังหวัดธัญบุรี  และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา  หากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีมาตรการหรือเงื่อนไขเพิ่มเติม  ขอให้ศาลอุทธรณ์  ระบุเงื่อนไขให้ชัดเจน  ซึ่งผู้ต้องหารับว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล  

อย่างไรก็ดี วันที่ 25 เมษายน 2564 เวลา 11.20 น. ศาลจังหวัดธัญบุรี อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีใจความว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี เป็นข้อหาร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และพนักงานสอบสวนคัดค้าน ประกอบกับมีการกระทำในลักษณะเดียวกันอย่างต่อเนื่อง หากปล่อยชั่วคราวอาจหลบหนี หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม คำสั่งศาลชั่นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

ส่งผลให้ฟ้า พรหมศร ยังคงถูกคุมขังที่เรือนจำอำเภอธัญบุรีในระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2564 นับเป็นเวลา 40 วันแล้ว

เมื่อย้อนไปวันพบพนักงานสอบสวนตามที่ออกหมายเรียก สองวันก่อนหน้าวันที่ 17 มีนาคม 2564 ฟ้า พรหมศรเพิ่งประสบอุบัติเหตุรถจักรยานต์ล้ม โดยถูกเย็บ 15 เข็มและได้รับบาดเจ็บหนัก ทำให้เขามีบาดแผลตามร่างกายจำนวนมาก ขณะเดินทางไปรับทราบข้อหา แม้จะอยู่ระหว่างการรักษาบาดแผลจากอุบัติเหตุ แต่ฟ้าอยากแสดงเจตจำนงว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนีตั้งแต่ครั้งนั้น จึงเข้ารายงานตัวที่ สภ.ธัญบุรี แต่กลับถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปขอฝากขัง ก่อนที่จะไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2564

จากการติดตามสถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา กรณีของพรหมศรนับเป็นกรณีแรก ที่ผู้ถูกออกหมายเรียกเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมาย แต่กลับถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาล และศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกด้วย โดยสถานการณ์ก่อนหน้านี้มีเพียงกรณีการถูกจับกุมและนำตัวไปขอฝากขัง 

ทั้งนี้ ฟ้า พรหมศรถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 คดีนี้นับเป็นคดีที่ 4 หลังจากถูกกล่าวหาในคดีการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb หน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่, คดีการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา หน้ากรมทหารราบที่ 11 และคดีทำกิจกรรมหน้าสภ.คลองหลวง ระหว่างการจับกุมนิว สิริชัย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยื่นประกันครั้งที่ 4 “ฟ้า” พรหมศร ก่อนศาลจังหวัดธัญบุรีสั่งยกฯ แม้ยื่นเงื่อนไขประกันไม่พาดพิงสถาบันฯ อีก

ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน “ฟ้า พรหมศร” คดีม.112 ยืนตามคำสั่งของศาลจังหวัดธัญบุรี

 

X