กุมภา 64 : คดีทางการเมืองยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึง 207 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 382 คน

*มีการแก้ไขตัวเลขจำนวนคดีในวันที่ 5 มี.ค. 64

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนนี้เริ่มมีการนัดหมายชุมนุมสาธารณะของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนหลายครั้งมากขึ้น หลังจากในช่วงเดือนมกราคม กิจกรรมการชุมนุมลดน้อยลงไป เนื่องจากการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศไทยอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม

สำหรับสถิติการดำเนินคดีในภาพรวม จากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รวมเวลา 7 เดือนเศษ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 382 คน ในจำนวน 207 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 13 ราย 

เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2564 เท่ากับมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 91 คน ในจำนวน 24 คดี (ดูสรุปสถิติคดีเดือนมกราคม) โดยแกนนำและผู้ชุมนุมที่มีบทบาททางการเมืองยังถูกกล่าวหาดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

หากพิจารณาสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 60 ราย ในจำนวน 47 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 99 ราย ในจำนวน 22 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 152 ราย ใน 25 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 301 ราย ในจำนวน 101 คดี  แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 78 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 84 ราย ในจำนวน 57 คดี

ในจำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 32 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของพ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

จากจำนวนคดี 207 คดีดังกล่าว มีจำนวน 35 คดีที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีเพียงอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น ขณะที่คดีส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน และเริ่มมีคดีที่ทยอยถูกสั่งฟ้องต่อศาลมากขึ้นในเดือนที่ผ่านมา

 

 

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ ยังมีประเด็นที่สำคัญซึ่งควรกล่าวถึง ได้แก่

1. การไม่ได้รับการประกันตัวแกนนำที่ถูกสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 และการออกหมายจับของศาล

หลังจากรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” อีกครั้ง ตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา พบว่าคดียังพุ่งสูงต่อเนื่อง โดยตลอดเดือนกุมภาพันธ์ มีรายงานการดำเนินคดีใหม่เพิ่มขึ้นอีก 5 คน ใน 5 คดี รวมแล้วทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้นอย่างน้อย 60 ราย ใน 47 คดี (ดูตารางสถิติ)

สถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 ยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีก จากกรณี 4 แกนนำราษฎร ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ได้ถูกสั่งฟ้องคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร รวมทั้งกรณีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ที่ถูกสั่งฟ้องในคดีชุมนุม Mob Fest อีกคดีหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 64 ถือเป็นการสั่งฟ้องคดีข้อหานี้สองคดีแรก นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ทั้งปรากฏว่าศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แกนนำทั้ง 4 คน ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี แม้จะยื่นอุทธรณ์คำสั่ง และยื่นขอประกันตัวซ้ำมา 3 ครั้งแล้ว ทำให้ทั้งสี่คนไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว โดยที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาแต่อย่างใด 

ทั้งพริษฐ์และอานนท์ แม้จะถูกคุมขังแล้ว พนักงานสอบสวนในหลายท้องที่ก็ยังเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ต่อทั้งสองคนเพิ่มเติมในเรือนจำในหลายคดี ทั้งคดีที่สภ.สันทราย, สภ.เมืองเชียงใหม่, สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ และ สน.ชนะสงคราม ทำให้พริษฐ์ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ไปแล้วถึง 17 คดี และอานนท์จำนวน 11 คดี

การไม่ได้รับการประกันตัวภายหลังจากคดีถูกสั่งฟ้องต่อศาล ยังรวมไปถึงคดีของประชาชน 5 ราย ที่ถูกกล่าวหาเรื่องการขัดขวางและทุบรถผู้ต้องขังระหว่างการควบคุมตัวเพนกวินและไมค์ไปยัง สน.ประชาชื่น ในช่วงคืนวันที่ 30 ต.ค. 63 ทั้ง 5 คนถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 64

สถานการณ์การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำหลังการถูกคุมขัง ยังเป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งเรือนจำยังไม่อนุญาตให้ญาติหรือเพื่อนผู้ต้องขังเข้าเยี่ยมได้ โดยอ้างถึงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งทนายความ แม้จะเข้าเยี่ยมได้ แต่ต้องดำเนินการแต่งตั้งทนายความก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นแต่อย่างใด และยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้ามาบันทึกรูปภาพระหว่างการเยี่ยมลูกความของทนายความอีกด้วย

 

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ ยังพบว่าศาลมีการออกหมายจับคดีมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 3 หมายจับ หลังจากในช่วงปลายปี 2563 ยังไม่มีรายงานการออกหมายจับในคดีมาตรา 112 มาก่อน ได้แก่ หมายจับพริษฐ์และอานนท์ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในคดีการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” และหมายจับสุปรียา ใจแก้ว ของศาลจังหวัดเชียงราย จากกรณีการติดป้ายข้อความ “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” 

แนวโน้มของการดำเนินคดีมาตรา 112 ยังคงถูกบังคับใช้อย่างกว้างขวาง ไม่ใช่การตีความเคร่งครัดตามหลักกฎหมายอาญา อาทิในเดือนที่ผ่านมา มีการนำมาตรา 112 มากล่าวหาต่อกรณีการติดป้ายข้อความวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อย่างกรณีที่จังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงราย, การกล่าวหาพริษฐ์ เรื่องการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการนำพระแก้วมรกตไปขายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7, การปราศรัยเนื้อหาเรื่องทรัพย์สินประเภทต่างๆ ของกษัตริย์ โดยพริษฐ์และอานนท์ หรือการกล่าวหาผู้ทวิตข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่ใช่พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

 

2. เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงและเกินกว่าเหตุ ต่อการชุมนุมสาธารณะ

ในเดือนกุมภาพันธ์ เหตุการณ์การเข้าใช้กำลังสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญกว่าช่วงการชุมนุมก่อนหน้านี้ แม้ในบางการชุมนุมในช่วงเดือนนี้พบว่ามีบุคคลจากฝั่งผู้ชุมนุมพยายามขว้างปาสิ่งของหรือประทัดใส่เจ้าหน้าที่ แต่การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ ก็พบว่ามีลักษณะของการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นไปตามหลักการดูแลการชุมนุม 

อาทิ การใช้กำลังชุดควบคุมฝูงชนและตำรวจตระเวนชายแดนจำนวนมากเข้ายึดพื้นที่การชุมนุม ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนของการสลายการชุมนุมสาธารณะ, การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ทั้งกระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง หรือรถฉีดน้ำและสารเคมีแรงดันสูง เพื่อสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ, การนำตัวไปควบคุมที่ บก.ตชด.ภาค 1 เพื่อแจ้งข้อหาและดำเนินคดี ทั้งที่ไม่ใช่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุและกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ หรือการปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสวมหมวกป้องกันสีขาว ซึ่งมีรายงานจากสื่อมวลชนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 

การชุมนุมสำคัญในเดือนที่ผ่านมาที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุม ได้แก่ กรณีการสลายการชุมนุม #StandWithMyanmar ที่หน้าสถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64, กรณีการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับหนึ่งถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 64 รวมทั้งล่าสุด กรณีการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา เดินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปกรมทหารราบที่ 1 เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64

 

ภาพการจับกุมอาสาพยาบาลในการชุมนุม #13กุมภา (ภาพโดยสำนักข่าวรอยเตอร์)

 

ในการจับกุมผู้ชุมนุม หลายกรณียังพบว่าไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุวุ่นวาย หรือผู้ขวางสิ่งของในการชุมนุมแต่อย่างใด อาทิ การจับกุมทีมแพทย์อาสา ซึ่งเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุม หรือการจับกุมคนไร้บ้านใน #ม็อบ13กุมภา หรือการจับกุมคนส่งอาหารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมใน #ม็อบ28กุมภา เป็นต้น

นอกจากนั้นในการชุมนุมที่มีการสลายการชุมนุม หรือการ “ปะทะ” เกิดขึ้น ผู้ถูกจับกุมยังมีแนวโน้มจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาจำนวนมาก ทั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน โดยที่ข้อเท็จจริงของผู้ต้องหาหลายรายก็ไม่ได้เข้าข่ายข้อกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใด

หลังการชุมนุมแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่ยังมีการออกหมายเรียกผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากติดตามมาในภายหลัง เช่น การชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา มีการจับกุมผู้ชุมนุม 3 ราย แต่ออกหมายเรียกเพิ่มเติมอีก 12 ราย โดยมี 1 รายที่ไม่ได้ไปชุมนุมดังกล่าวด้วย แต่กลับถูกออกหมายเรียก เจ้าหน้าที่จึงไม่แจ้งข้อกล่าวหา, การชุมนุม #ม็อบ13กุมภา มีผู้ถูกออกหมายเรียกภายหลังเพิ่มเติมอีก 9 ราย หรือกิจกรรม #Saveบางกลอย ที่หน้ากระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 64 ก็มีผู้ถูกออกหมายเรียกในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 10 ราย 

 

 

3. การย้อนออกหมายเรียกต่อการชุมนุมที่ผ่านไปหลายเดือน และการตั้งข้อหาเกินจริง

ในเดือนนี้ การตั้งข้อหาแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่สืบเนื่องมาจากปี 2563 ยังคงดำเนินต่อไป โดยพบว่าเจ้าหน้าที่มีการตั้งข้อกล่าวหาย้อนหลังต่อการชุมนุมที่ผ่านไปหลายเดือนแล้ว และยังกล่าวหาผู้ชุมนุมจำนวนมากด้วย กรณีสำคัญได้แก่ กรณีการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ข่วงประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกผู้ร่วมชุมนุมถึง 37 คน มาแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ต่อทุกคนเหมือนกัน ทำให้คดีนี้นับเป็นกรณีที่มีการกล่าวหาบุคคลจำนวนมากที่สุดในคดีเดียวตั้งแต่หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา

นอกจากนั้นพฤติการณ์ข้อกล่าวหาของทางตำรวจในคดีนี้ ยังมีลักษณะการตั้งข้อกล่าวหาเกินจริง และใช้กฎหมายอย่างผิดเพี้ยน คือไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าพฤติการณ์หรือการกระทำใดที่เข้าข่ายข้อหาตามมาตรา 116 โดยที่นักศึกษาและประชาชนแทบทั้งหมดเพียงแต่ไปร่วมการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้กล่าวปราศรัย หรือแม้แต่แกนนำนักศึกษาที่ร่วมปราศรัยก็ไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าคำปราศรัยใดที่เข้าข่ายความผิดข้อหามาตรา 116 ทั้งพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงการชุมนุมดังกล่าวก็เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่ได้มีเหตุวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีการออกหมายเรียกและตั้งข้อกล่าวหาต่อศิลปินนักร้องและประชาชน ซึ่งร่วมขึ้นเวทีชุมนุม #27พฤศจิกาไปห้าแยกลาดพร้าว ที่ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 63 เพิ่มอีก 7 คน โดยแจ้งทั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ และการใช้เครื่องเสียง ทั้งหมดถูกกล่าวหาในลักษณะว่าร่วมเป็นแกนนำในการจัดการชุมนุม ทั้งที่บางรายเพียงร่วมขึ้นเวทีร้องเพลง

 

 

อีกทั้งการรวมตัวของประชาชนบริเวณหน้าสถานีตำรวจเพื่อติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ยังนำไปสู่การถูกดำเนินคดีมากขึ้น อาทิ กรณีการรวมตัวติดตามสถานการณ์การจับกุม “นิว สิริชัย” และการเข้ารายงานตัวของ “เดฟ ชยพล” ที่สภ.คลองหลวง ทำให้มีนักศึกษาและประชาชน 22 ราย ถูกกล่าวหาดำเนินคดีใหม่อีก หรือการชุมนุมหน้าสภ.ภูเขียวเรียกร้องให้ตำรวจขอโทษในกรณีการเข้าคุกคามเยาวชนผู้ร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” กลับทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมทยอยถูกออกหมายเรียก 

ทั้งการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของนักกิจกรรมในช่วงหลังหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ยังมีการเตรียมกำลังและจัดเตรียมอุปกรณ์รอรับแบบ “เล่นใหญ่” อาทิ กรณีรับทราบข้อหาที่สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 64 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งปิดถนน กั้นแบริเออร์ ตั้งแผงเหล็กปิดสะพานลอย กีดกั้นการเข้าออกของประชาชนในพื้นที่ การนำเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนจำนวนมาก และนำรถฉีดน้ำ “จีโน่” มาจอดรอรับอีกด้วย

 

X