เปิดคำฟ้องคดีชุมนุม 19 กันยา- คดี MobFest ก่อนศาลไม่ให้ประกันสี่แกนนำ

วันนี้ (9 ก.พ. 64) พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้อง 2 คดี ได้แก่ คดี #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ Mobfest ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 63 ซึ่งมี “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นผู้ต้องหา และคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 63 ซึ่งมีพริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นผู้ต้องหา 

ทั้งสองคดีมีการดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116 จึงถือเป็นสองคดีแรกจากการชุมนุมในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่ผ่านมา ที่อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลในข้อหาตามมาตรา 112 โดยผู้ต้องหาเพิ่งเดินทางไปรับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. และ 8 ธ.ค. 63 

 

ผู้ต้องหายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ชี้เจตนาวิจารณ์รัฐบาลและกฎหมาย 112 พร้อมขอสอบเพิ่มพยาน

เวลา 10.00 น. บรรยากาศช่วงเช้าบริเวณศาลอาญา รัชดา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนตั้งจุดคัดกรองเพื่อควบคุมการเข้าออกของประชาชนบริเวณศาลอย่างเข้มงวด 

ต่อมา เวลา 11.00 น. เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ หมอลำแบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม เดินทางมาถึงศาลอาญา รัชดา และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน พร้อมระบุว่า ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้สอบพยานเพิ่มเติมและไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีการชุมนุม 19 ก.ย. 63 

หนังสือระบุว่า เนื้อหาปราศรัยของผู้ต้องหาเป็นการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และสถานะของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในบริบทสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่การหมิ่นประมาทกษัตริย์ และไม่ถือเป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตาม มาตรา 116 

นอกจากนี้ ยังขอให้สอบพยานฝ่ายผู้ต้องหาเพิ่มเติม 2 ปาก ได้แก่ 

  1. นายสุลักษณ์  ศิวรักษ์  ให้การในประเด็นเกี่ยวกับสถานะของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการบังคับใช้  ในบริบททางการเมืองในสังคมไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยสุจริต และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 
  2. นายชำนาญ จันทร์เรือง ให้การในประเด็นหลักสิทธิมนุษยชนกับปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ และข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขกฎหมาย

 

อัยการสั่งฟ้อง 2 คดี ระบุแม้สอบพยานผู้ต้องหาเพิ่ม ก็ไม่ให้ทำให้เปลี่ยนความเห็น

อย่างไรก็ตาม เวลา 14.00 น. โฆษกสำนักงานอัยการแถลงต่อสื่อมวลชนว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องพริษฐ์ในคดีชุมนุม Mob Fest และสั่งฟ้องพริษฐ์, สมยศ, อานนท์ และปติวัฒน์ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จำนวนทุกข้อหา รวม 10 ข้อหา 

หลังโฆษกแถลงข่าวเสร็จ พริษฐ์ทวงถามถึงการพิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งพูดถึงปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112 พร้อมถามถึงสาเหตุที่อัยการไม่พิจารณาประเด็นนี้ ด้านโฆษกตอบว่า อัยการเห็นว่าพยานที่ผู้ต้องหาขอให้สอบเพิ่มไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงความเห็น จึงจะยื่นฟ้องคดีในวันนี้ต่อไป

ก่อนพริษฐ์เดินออกจากการแถลงข่าวได้เอ่ยขึ้นว่า “กระบวนการอัยการประเทศนี้ไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

 

ฟ้องเพนกวินคดี Mob Fest 4 ข้อกล่าวหา ชี้ปราศรัยหมิ่นประมาทกษัตริย์ 

ในส่วนคำฟ้องของคดีชุมนุม Mob Fest เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 63 นายวรชัย ไชยวงศ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ฟ้องพริษฐ์ใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต  บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า 

  1. ตามที่รัฐบาลยังคงประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อมา ระหว่างวันที่ 13 พ.ย. ถึง 14 พ.ย. 63 จําเลยซึ่งเป็นแกนนํา หรือเป็นผู้จัดหรือผู้ดูแลรับผิดชอบให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมือง ได้นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊ก ผ่านบัญชี “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” โพสต์รูปภาพซึ่งปรากฏข้อความว่า “14 พฤศจิกายน MOB FEST รวมพลบ่าย 2 โมงตรง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (หน้าแมคโดนัลด์)” และการ์ตูนภาพบุคคลจํานวนหลายคนหลากหลายอาชีพชูสามนิ้วหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมโพสต์ข้อความตัวอักษรว่า “พรุ่งนี้ไปลุย!!” อันเป็นการเชิญชวน หรือนัดให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นมาเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมือง

    ในวันที่ 14 พ.ย. 63 ตามเวลาและสถานที่ที่จำเลยนัดหมายข้างต้น  มีประชาชนทั่วไปประมาณ 5,000 คน เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว อันเป็นการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยจําเลยไม่ได้จํากัดทางเข้า – ออกในการเข้าร่วมกิจกรรมิ และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ําลาย อันเป็นการจัดกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองที่โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคไวรัสโคโรนา (โรคโควิด – 19) ตามที่ทางราชการกําหนด

    จำเลยยังใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโฆษณากล่าวปราศรัยบนเวทีแก่ประชาชนทั่วไปผู้เข้าร่วมการกิจกรรมการรวมกลุ่ม อันกระทำให้ปรากฎข้อความอันมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน และกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นการกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

 

  1. ในวันนั้นจำเลยได้ใช้เครื่องเสียงขึ้นปราศรัยบนเวทีในประเด็นเกี่ยวการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หลังออกจากเรือนจำ ให้กษัตริย์ธำรงตนภายใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยจําเลยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายกษัตริย์รัชกาลที่ 10 อันเป็นการ ปลุกปั่น ยุยง ส่งเสริมประชาชน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

    เมื่อประชาชนได้รับฟังข้อความคําปราศรัยดังกล่าวก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงขนาดที่จะไปชุมนุม ประท้วง ขู่เข็ญ หรือบังคับ กดดันให้รัฐบาลและรัฐสภา และขู่เข็ญหรือบังคับให้กษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ประชาชน อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร และทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ สักการะอันเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์

    อีกทั้ง ประชาชนที่ได้ฟังคำปราศรัยดังกล่าวได้มีการแสดงความคิดเห็นกับจําเลย ด้วยการตะโกน ตอบโต้ โห่ร้อง ปรบมือ สนับสนุน อันเป็นการทําให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

 

  1. ตามวันเวลาดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยมาตรา 5 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดไม่ได้”

    แต่จำเลยได้บังอาจหมิ่นประมาทกษัตริย์ อ้างอิงจากข้อความคำปราศรัยขอให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันถือว่าเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย มีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

พนักงานอัยการยังระบุว่าหากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

 

คดีชุมนุม 19 กันยา ฟ้อง 11 ข้อหา ‘อานนท์-เพนกวิน’  ส่วน ‘สมยศ-ปติวัฒน์’ ถูกขอให้ลงโทษเพิ่มในคดี 112

สำหรับคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร นางผุสดี สุวรรณมงคล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ. 287/2564 โดยจำเลยแต่ละคนถูกฟ้องด้วยข้อหาแตกต่างกันไป โดยมีอานนท์และพริษฐ์ที่ถูกฟ้องใน 11 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
  2. ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มการการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
  3. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
  4. พ.ร.บ.การจราจรทางบกฯ
  5. พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
  6. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215
  7. “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
  8. “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 
  9. พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
  10. ทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358
  11. กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385

ส่วนสมยศและปติวัฒน์ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และ 116 เป็นข้อหาหลัก 

คำฟ้องโดยสรุปกล่าวหาว่าทั้งสี่คนกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน อาทิ จัดกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองโดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ทางราชการกำหนด และไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับสน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จึงเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

จำเลยทั้งสี่ยังได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง คือได้จัดการชุมนุมสาธารณะ มีการปราศรัยแสดงความเห็นในลักษณะเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ยุบสภา เรียกร้องให้รัฐบาลมีคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารประเทศ เรียกร้องให้ประชาชนออกมาช่วยยืนหยัดต่อสู้เพื่อทวงคืนอำนาจอธิปไตย แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย และได้ทำการปิดล็อกประตูเข้าออกมหาวิทยาลัย แต่พวกของจำเลยทั้งสี่ได้ใช้เครื่องเสียงประกาศโดยขู่เข็ญให้เปิดประตูให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปภายใน สั่งการให้ผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายขึ้น และเข้าทำลายประตูทางเข้าออกมหาวิทยาลัย ก่อนได้ร่วมกันพากลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหลายร้อยคนเข้าไปภายใน 

ต่อมา ยังได้มีผู้ชุมนุมใช้คีมขนาดใหญ่ตัดทำลายแม่กุญแจและโซ่ซึ่งคล้องประตูมหาวิทยาลัยฝั่งท่าพระจันทร์จนได้รับความเสียหาย ก่อนได้ชักชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยออกไปชุมนะุมที่ท้องสนามหลวงแทน โดยได้เดินล้ำเข้าไปในทางจราจร และกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และยังมีการร่วมกันใช้กำลังทำให้ทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครเสียหาย ได้แก่ การพังรั้วเหล็ก เป็นเหตุให้รั้ว 1 อัน ได้รับความเสียหาย และตัดกุญแจที่ปิดล็อกรั้วดังกล่าว 

ทั้งสี่ยังได้ปราศรัยบนรถบรรทุก และบนเวทีเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และกระทำจาบจ้วง หมิ่นประมาท ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ บิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง อันเป็นการปลุกปั่น ยุยง ส่งเสริมประชาชน ให้ประชาชนเกิดความกระด้างกระเดื่อง และเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงขนาดที่จะไปชุมนุม ประท้วง ขู่เข็ญ หรือบังคับกดดันให้รัฐบาล รัฐสภา และขู่เข็ญหรือบังคับให้พระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ประชาชน อันจะทำให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร เป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้รับฟังคำปราศรัยดังกล่าว ตะโกน ตอบโต้ โห่ร้อง ปรบมือ สนับสนุน  อันเป็นการทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

ในส่วนของอานนท์และพริษฐ์ยังได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลง รื้อถอน ทำลายโบราณสถาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร โดยร่วมกันใช้เครื่องมือขุดเจาะพื้นคอนกรีตบริเวณทางเดินคอนกรีตในพื้นที่สนามหลวง 

พนักงานอัยการยังระบุขอให้เพิ่มโทษจำคุกปติวัฒน์ หนึ่งในสาม และเพิ่มโทษสมยศกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ด้วย เนื่องจากได้กระทำผิดซ้ำอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ และหากจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

 

ศาลไม่ให้ประกันตัว ระบุน่าเชื่อว่าจะกระทำผิดซ้ำอีก

หลังศาลอาญารับฟ้องคดี ทั้งสี่คนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้นัดหมายคุ้มครองสิทธิในทั้งสองคดีต่อไปในวันที่ 15 มี.ค. 64

ต่อมาเวลา 15.45 น. ทนายความและนายประกันได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสี่คนระหว่างพิจารณาคดีในช้้นศาล โดยยื่นหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท ส่วนในคดี Mob Fest ของพริษฐ์ ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้ตำแหน่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นนายประกัน

จนเวลา 17.50 น. นายเทวัญ รอดเจริญ ผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งสี่คน รวมทั้งไม่อนุญาตให้ประกันตัวพริษฐ์ในคดี Mob Fest โดยระบุในคำสั่งว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้ยกคำร้องแจ้งคำสั่งให้ทราบ และคืนหลักประกัน”

การไม่ได้ประกันตัวดังกล่าว ทำให้ทั้งสี่คนถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และการคุมขังในครั้งนี้เป็นการขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลา หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณา ทั้ง 4 คน จะถูกคุมขังจนกว่าจะมีคำพิพากษา

 

X