จำคุก 4 ปี 6 เดือน “สิรภพ” ม.112 ชี้ข้อความทำให้เข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์ อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทางการเมือง

วันนี้ (18 ม.ค. 64) เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.3032/2562 ของนายสิรภพ (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากการโพสต์บทกลอนและข้อความจำนวน 3 ข้อความในปี พ.ศ. 2552, 2556 และ 2557

.

.

สำหรับข้อความที่ถูกสิรภพกล่าวหา ปรากฎตามเอกสารคำฟ้องของอัยการศาลทหาร ลงวันที่ 24 ก.ย. 2557 ดังนี้

(ก) เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2552 นายสิรภพได้เขียนและโพสต์บทกลอนในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ “ประชาไท” โดยใช้นามแฝงว่า “รุ่งศิลา” บทกลอนดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ยังคงปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2557 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเมื่ออ่านบทกลอนทั้งหมดย่อมเข้าใจว่า ถ้อยคำบางคำในบทกลอน หมายถึงรัชกาลที่ 9 และความหมายของบทกลอนเป็นการสื่อให้บุคคลทั่วไปไม่ต้องให้ความเคารพเทิดทูนรัชกาลที่ 9 อีกต่อไป

(ข) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2556 นายสิรภพได้โพสต์ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเฟซบุ๊กชื่อบัญชี “Sira Rungsira” โดยใช้นามแฝงว่า “รุ่งศิลา” ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ยังคงปรากฏอยู่จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2557 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อดูภาพการ์ตูนล้อเลียนรูปผู้ชายใส่แว่นตาสวมชฎา และอ่านข้อความที่กล่าวถึงเทวดา ย่อมต้องเข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 9 และความหมายของข้อความเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม

(ค) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2557 นายสิรภพได้โพสต์ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในบล็อก หัวข้อ “เชื้อไขรากเหง้า “กบฏบวรเดช” ที่ยังไม่ตาย ของเหล่าทาสที่ปล่อยไม่ไป” โดยใช้นามแฝงว่า “รุ่งศิลา” ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ยังคงปรากฏอยู่จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2557 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เมื่อดูภาพการ์ตูนล้อเลียนรูปผู้ชายใส่แว่นตาสวมชฎา และอ่านข้อความ ย่อมต้องเข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 9 และความหมายของข้อความเป็นการสื่อให้บุคคลทั่วไปไม่ต้องให้ความเคารพศรัทธารัชกาลที่ 9 อีกต่อไป

.

ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน ชี้จำเลยมีทัศนคติว่า สถาบันอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทางการเมือง จากบทสนทนาในอินเทอร์เน็ต

ที่ห้องพิจารณา 914 มีตัวแทนจากสถานทูตเยอรมนี สถานทูตลักเซมเบิร์ก และสถานทูตออสเตรีย เข้าร่วมฟังการอ่านคำพิพากษา พร้อมกับผู้สื่อข่าวจากประชาไท และผู้สังเกตการณ์จาก iLaw รวม 15 คน

เวลา 09.20 น. ก่อนศาลอาญาอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ขอความร่วมมือให้แค่ทนายจำเลย ญาติของจำเลย และสถานทูตที่ยื่นขออนุญาตมาก่อนหน้านี้เข้าฟังเท่านั้น ส่วนสื่อมวลชนขอให้รอด้านนอก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากการเจรจาขอให้นั่งเว้นระยะห่างกัน เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์จึงยินยอมให้คนอื่นๆ ฟังการพิจารณาได้

เวลา 09.30 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยมีเนื้อหาสาระโดยสรุป ดังนี้

มูลเหตุของคดีนี้เกิดจากาการฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 จำเลยได้ให้การปฏิเสธ และพบว่าเป็นจำเลยคนเดียวกับคดีฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2557 ซึ่งคดีถูกพิพากษาโดยศาลทหาร ให้รอลงอาญา 2 ปี

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐาน ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยใช้นามแฝงว่า “รุ่งศิลา” นำเข้าข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์จำนวน 3 ข้อความ ตามคำฟ้องข้อ ก., ข. และ ค. โดยจำเลย รับว่าเป็นผู้โพสต์รูปภาพและข้อความลงบนเว็บไซต์จริง

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2557 พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมฯ โดยได้ขอศาลออกหมายจับในวันที่ 1 ก.ค. 2557 นอกจากนี้ พ.ต.ท.โอฬารยังได้เบิกความว่า ขณะนั้น คสช. ยังอยู่ในอำนาจ และได้ขอให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสถาบันกษัตริย์ไปให้ คสช.

ในขณะนั้น มีคำสั่งจาก คสช. ให้จำเลยไปรายงานตัว แต่จำเลยฝ่าฝืน จึงอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก เข้าจับกุมจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ที่ 41/2557 และนำตัวไปสอบสวนตามอำนาจของกฎอัยการศึก

พยานโจทก์ ซึ่งเป็นพยานบุคคล ได้แก่ ภรภัทร อธิเกษมสุข, นายทรงวุฒิ รมยะพันธุ์, นางภัทรมาศ ชำนิบริบาล ประชาชนที่พนักงานสอบสวนนำข้อความตามคำฟ้องมาให้ดู ทั้งหมดอ่านแล้วเข้าใจว่าข้อความสื่อถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 9 โดยจำเลยเป็นผู้ที่มีความสนใจทางด้านการทหาร การเมือง และการวิเคราะห์การเมือง

ส่วนข้อความตามคำฟ้องข้อ ก., ข., ค. ตามบทสนทนาออนไลน์ระหว่างจำเลยกับผู้ใช้ชื่อ “พลังเงียบ” ซึ่งโจทก์นำมาเป็นพยานหลักฐานในคดี เป็นเวลาเดียวกันกับช่วงที่เผยแพร่ข้อความดังกล่าว โดยในบทสนทนาจำเลยพูดจาพาดพิงถึงสถาบันโดยใช้รหัสตัวเลขเพื่อพาดพิงถึงสถาบันฯ แทน เมื่อจำเลยตอบคำถามอัยการถามค้าน จำเลยยอมรับว่าได้สนทนาถึงสถาบันฯ จริง แต่ไม่ได้พูดถึงในแง่ลบ ดังนั้น บทสนทนาระหว่างจำเลยกับ “พลังเงียบ” จึงสนทนาถึงสถาบันฯ จริง และมีทัศนคติว่าสถาบันฯ ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อกษัตริย์รัชกาลที่ 9

ข้อความในคำฟ้องมีการพาดพิงถึงกบฎบวรเดช และยังนำรูปภาพการ์ตูนล้อเลียนและข้อความ “เทวดาเดินดิน” มาเผยแพร่ และอีก 1 เดือน ต่อมายังนำรูปภาพดังกล่าวมาลงในเว็บไซต์ พร้อมกับภาพของพระองค์เจ้าบวรเดช, ดิ่น ท่าราบ, พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์, สุเทพ เทือกสุบรรณ และสนธิ ลิ้มทองกุล พร้อมภาพมือชักใยอยู่เบื้องหลัง

เมื่ออ่านเอกสารดังกล่าว ทำให้เห็นว่าพระองค์เจ้าบวรเดชทำกบฎไม่สำเร็จ ส่วนสนธิ ลิ้มทองกุลนั้น เป็นผู้นำประชาชนออกมาประท้วงให้ทหารออกมาทำรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2556-2557 และสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้นำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำประชาชนออกมาขับไล่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และทำให้ คสช. ออกมาทำการรัฐประหาร เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองนำโดยคณะทหาร โดยเชือกโยงใยด้านหลังทำให้เห็นว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง

ข้อความข้างต้นนี้สอดคล้องไปกับบทสนทนาของจำเลยกับ “พลังเงียบ” ว่าสถาบันฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายทางการเมือง โดยจำเลยเคยเบิกความว่าสถาบันฯ ควรปรับบทบาท ดำรงสถานะเหนือการเมือง แต่พยานบุคคลมีความเห็นว่าภาพการ์ตูนล้อเลียนนั้นสื่อถึงรัชกาลที่ 9 เพราะตัวการ์ตูนมีลักษณะมีอายุและสวมแว่นตา ซึ่งไม่เหมือนแว่นตาที่รัชกาลที่ 9 สวมใส่ เพราะเป็นภาพล้อเลียน โดยภาพนี้ จำเลยไม่ยอมรับความผิดในการดำเนินคดี ในชั้นสอบสวน และระบุว่าภาพนี้นำมาจากเว็บไซต์ต่างประเทศและนำมาตัดต่อ

ตามประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญามาตรา 84 วรรค 4 จึงรับฟังคำจำเลยที่ว่ารูปภาพนี้นำมาจากเว็บไซต์ต่างประเทศ

จำเลยจงใจใช้คำว่า “เทวดาดินดิน”,​ “กบฏ” โดยจำเลยได้เบิกความว่า ไม่ได้ต้องการสื่อถึงตัวบุคคล แต่สื่อถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม การแสวงหาอำนาจ มักใหญ่ใฝ่สูง แต่ก็ไม่อาจเข้าใจที่จำเลยอ้างได้ เพราะมีการตกแต่งรูปการ์ตูนล้อเลียนให้มีมงกุฎ

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าใช้มงกุฎเพราะต้องการแสดงความเป็นไทย เพราะสามารถเลือกแสดงออกทางอื่นได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยต้องการให้ภาพการ์ตูนสื่อถึงรัชกาลที่ 9 ดังนั้นพยานจำเลยรับฟังไม่ได้

ทั้งข้อวิตกของจำเลยว่ากลัวจะเกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศ นับว่าเป็นข้อความที่เป็นคนละแบบกับการล้อเลียน

เมื่อประชาชนอ่านข้อความยังสามารถนึกถึงสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อรัชกาลที่ 9 ทำให้ประชาชนเกิดความดูหมิ่น เกลียดชัง และไม่เคารพ ดังนั้นข้อความ 2 ข้อความข้างต้นนี้ จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์

ส่วนกลอนตามคำฟ้องข้อ ก. ที่จำเลยโพสต์บนเว็บบอร์ดประชาไท พล.ต.ต.ชนะชัย ลิ้มประเสริฐ ผู้บังคับกองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานโจทก์ปากที่ 7 เบิกความว่าเคยมีคำขอให้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บบอร์ดประชาไทจริง และในปี 2552-2553 มีการปราบปรามผู้ชุมนุมจริง ขณะนั้นรัชกาลที่ 9 ทรงประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ในบทกลอนมีการใช้คำอุปมาอุปไมย แต่พยานโจทก์ไม่ทราบว่าคำว่า “พยัคฆา” หมายถึงสิ่งใด และอาจสามารถแปลความตามที่จำเลยเบิกความก็ได้ว่า บทกลอนนี้เผยแพร่ขณะที่เว็บบอร์ดประชาไทกำลังปิดตัวลง ดังนั้น จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยในการกระทำครั้งนี้

ดังนั้น ศาลจึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 2 กรรม กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักสุด พิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี จึงลดโทษจำคุกลง 1 ใน 4 เหลือพิพากษาจำคุกรวม 4 ปี 6 เดือน

ก่อนหน้านี้ สิรภพถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในศาลทหาร โดยไม่ได้รับการประกันตัว มาเป็นเวลา 4 ปี 11 เดือน และ 22 วัน ทำให้เขาได้รับโทษจำคุกไปจนครบกำหนดโทษที่ศาลกำหนดแล้ว จึงไม่ต้องถูกคุมขังหลังศาลอาญามีคำพิพากษาอีก ถึงแม้เขาจะไม่ต้องกลับไปเรือนจำอีกครั้ง แต่เขาก็รู้สึกว่าคำพิพากษาครั้งนี้ยังทำให้เขาเป็น “ผู้ที่มีมลทินมัวหมองอยู่”

.

ย้อนดูเส้นทางการต่อสู้ 6 ปีของสิรภพในศาลทหาร-ศาลพลเรือน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2557 ไม่ถึงเดือนหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน สิรภพถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุมในข้อหามาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ขณะที่เขาได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวไปสอบสวนที่ค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน

สิรภพยืนยันให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดีมาตรา 112 และนับตั้งแต่วันนั้น (3 ก.ค. 57) เป็นเวลาเกือบ 5 ปีที่สิรภพถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างการพิจารณาคดี แม้ขอยื่นประกันตัวไปทั้งหมด 7 ครั้ง ด้วยหลักประกันเป็นเงินสดสูงสุดถึง 500,000 บาท ศาลทหารจะให้ประกันในวงเงิน 500,000 บาทในวันที่ 11 มิ.ย. 62

>> ศาลทหารให้ประกันตัว “สิรภพ” หลังถูกคุมขังเกือบ 5 ปี โดยคดีสืบพยานได้เพียง 3 ปาก

.

ทนายคัดค้านเขตอำนาจศาล ชี้ข้อความเผยแพร่ก่อนประกาศ คสช. ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร

ในยุค คสช. มีการออกประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557 กำหนดให้คดีพลเรือนในความผิดบางประเภทอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร รวมไปถึงความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ ทำให้คดีนี้ถูกพิจารณาบนศาลทหาร โดยทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเขตอำนาจศาล ระบุว่าข้อความที่ถูกกล่าวหาเผยแพร่ก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะบังคับใช้ และการดำเนินคดีพลเรือนบนศาลทหารถือเป็นการละเมิดมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557

ต่อมา เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 58 ศาลทหารนัดฟังความเห็นต่อกรณีนี้ แต่เนื่องจากความเห็นของศาลทหารและศาลอาญาไม่ตรงกัน กล่าวคือ ศาลอาญาเห็นว่าคดีนี้ต้องขึ้นศาลอาญา เนื่องจากข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เผยแพร่เข้าสู่ระบบก่อนประกาศของ คสช. และไม่ถือว่าข้อความนี้เป็นการกระทำผิดต่อเนื่อง ดังนั้น จึงต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล และงดพิจารณาคดีไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

อีก 4 เดือนถัดมา ศาลทหารนัดฟังคำสั่งคณะกรรมการฯ ซึ่งมีความเห็นว่าคดีนี้อยู่เขตอำนาจศาลทหารในที่สุด โดยระยะเวลากว่า 5 ปี ในศาลทหาร สืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 4 ปาก และศาลทหารยังมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ แม้แต่ครอบครัวของสิรภพก็ไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้

.

5 ปีในเรือนจำ ก่อนกลไกพิเศษสหประชาชาติชี้เป็นการคุมขังโดยพลการ-ม.112 มีความคลุมเครือ

ระหว่างการถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดี ในปี 2562 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitary Detention) กลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกความคิดเห็นว่ากรณีการคุมขังสิรภพเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ

นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังชี้ว่า ข้อความที่ถูกกล่าวหายังอยู่ภายใต้การใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และไม่ได้เห็นว่าข้อความเหล่านี้คุกคามสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น ความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อย สาธารณสุข หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ต่อมา มีคำสั่งคสช.ที่ 9/62 ให้โอนย้ายคดีมาตรา 112 ที่ยังสืบพยานอยู่ในศาลทหารให้ศาลยุติธรรมพิจารณาคดีต่อ รวมไปถึงคดีของสิรภพ อย่างไรก็ตาม อัยการพลเรือนไม่ได้นำคดีมาพิจารณาใหม่ว่าควรจะสั่งฟ้องหรือไม่แต่อย่างใด แต่นำสำนวนจากศาลทหาร มาสืบพยานโจทก์ต่อจากเดิม

>> 5 ปีการคุมขัง: คณะทำงานฯ UN เรียกร้องปล่อยตัว “สิรภพ” คดี 112 ชี้เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ
>> ศาลอาญานัดสืบพยานต่อจากศาลทหารคดี 112 ‘สิรภพ’ พ.ย.นี้-ยังไม่นัดฟังคำพิพากษา ‘ลุงบัณฑิต’

.

ประเด็นต่อสู้ของจำเลยที่ศาลไม่ได้ระบุในคำพิพากษา

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 63 ระหว่างการสืบพยานต่อในศาลอาญา จำเลยยังได้ขึ้นเบิกความโดยสรุปว่า มูลเหตุของการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาจากการจับกุมจำเลยเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2557 จากการฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวคสช. โดยสิรภพระบุว่าเขาไม่ไปตามคำสั่งคณะรัฐประหาร เพราะเห็นว่าคณะรัฐประหารและผู้ร่วมสั่งการเป็นคณะกบฏ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จึงกระทำอารยะขัดขืนปฏิเสธคำสั่งดังกล่าว ทั้งเป็นสิทธิในการต่อต้านโดยสันติที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

ส่วนสาเหตุที่จำเลยถูกเรียกให้ไปรายงานตัวนั้น เพราะจำเลยเป็นนักคิดนักเขียน ซึ่งเขียนบทความเกี่ยวกับการต่อต้านรัฐประหารมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 และยังคงเขียนอยู่อย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่สอง จำเลยชี้แจงว่าข้อความทั้ง 3 กรรมที่ถูกนำมาฟ้องคดีนั้นเกิดในบริบททางเวลาและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาและตีความถ้อยคำจึงต้องอาศัยบริบทประกอบกับเจตนาของจำเลยเป็นสำคัญ ทั้งยังระบุว่าข้อความทั้งสามนั้นไม่ได้สื่อถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 9 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในการสืบพยานจำเลย สิรภพระบุอีกว่า มีแต่ผู้เขียนเท่านั้นที่สามารถระบุได้ว่าข้อความสื่อถึงอะไร และขอให้ศาลให้ความยุติธรรม ตัดสินบนข้อเท็จจริง มิใช่ความเมตตา

.

ติดตามอ่านประมวลคำเบิกความพยานโจทก์และจำเลยฉบับเต็ม ทางเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเร็วๆ นี้

อ่านเหตุผลที่สิรภพตัดสินใจสู้คดีม.112 แม้ต้องแลกอิสรภาพในชีวิตให้กับเรือนจำเกือบ 5 ปี

X