ยกฟ้องคดีที่ 2 แกนนำ “คนอยากเลือกตั้ง” ศาลรับรองเรียกร้องเลือกตั้ง อยู่ในความมุ่งหมายรธน.

25 ธ.ค. 2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อหาในคดี 9 แกนนำ MBK39 หรือคดีชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน หน้า MBK Center ในชื่องาน “หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ” เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561

เมื่อปลายปี 2561 พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนักกิจกรรมที่เข้าร่วมชุมนุมดังกล่าวรวม 9 คน ได้แก่ วีระ สมความคิด, รังสิมันต์ โรม, “นิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา, อานนท์ นำภา, เอกชัย หงส์กังวาน, สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์  รวม 3 ข้อหา คือ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116  และจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระบรมวงศ์ฯ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 

>>> อ่าน ประมวลคำเบิกความพยานโจทก์

>>> อ่าน ประมวลคดี แกนนำ MBK39



บรรยากาศการอ่านคำพิพากษา มีประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้เปิดห้องพิจารณา 301 เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าฟัง ชมการถ่ายทอดแบบ conference จากห้องพิจารณา 501 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ศาลอนุญาตเพียงคู่ความและทนายความเข้าฟังการอ่านคำพิพากษา ในวันนี้ยังมีนายอาเล็กซ์ซานเดอร์ โนวาค ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองและพิธีการ สถานทูตเยอรมนี ร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย 

9.45 น. เมื่อทนายความและจำเลยมาพร้อมกัน ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยเริ่มอ่านคำฟ้องโดยย่อของโจทก์และอ่านเรื่องการพิจารณานับโทษต่อจากคดีอื่นๆ ที่จำเลยถูกฟ้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ 

ศาลจำหน่าย ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12
ศาลได้กล่าวว่าความผิดในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ถูกจำหน่ายไปแล้วเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ซึ่งให้ยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว 

ยกฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุม จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร

ศาลอ่านคำเบิกความของพยานโจทก์โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561 พยานพบเพจเฟซบุ๊กชื่อ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยใหม่ และ พลเมืองโต้กลับ ได้โพสต์เชิญชวนประชาชนไปชุมนุมที่ สกายวอล์คหน้ามาบุญครอง วันที่ 27 ม.ค. 2561 โดยพวกจำเลยได้นัดแนะกันไปที่บริเวณสวนครูองุ่น ซอยสุขุมวิท 55 ก่อนจะเดินทางไปยังสกายวอล์คหน้ามาบุญครอง โดยกลุ่มจำเลยได้ทำการปราศรัยและให้สัมภาษณ์ รวมถึงมาชุมนุมกันเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 โดยที่ทราบอยู่แล้วว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าว ทั้งนี้ได้มีการวัดระยะพื้นที่จากจุดชุมนุมไปยังวังสระปทุมโดยพบว่ามีระยะห่างไม่เกิน 150 เมตร 

ศาลอ่านคำเบิกความโดยสรุปของจำเลยว่า จำเลยที่ 1 (วีระ) เบิกความว่า ตนไปงานเสวนาเรื่องการคอรัปชั่นที่บริเวณสวนครูองุ่น จากนั้นเดินทางไปมาบุญครองและได้ให้สัมภาษณ์สื่อ จำเลยที่ 2 (รังสิมันต์) เบิกความว่าการปราศรัยเรียกร้องการเลือกตั้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และในวันดังกล่าวไม่ได้มีป้ายห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากเขตวัง รวมถึงไม่มีใครมาบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในระยะรัศมี 150 เมตร จากเขตวัง  จำเลยที่ 3 (สิรวิชญ์) เบิกความว่าได้ไปร่วมงานเสวนาที่สวนครูองุ่น ก่อนเดินทางไปยังมาบุญครอง โดยตนได้ปราศรัยถึงการเลือกตั้งหลายครั้งเพราะขณะนั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว จึงเป็นสิทธิที่จะพูดได้ การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวมีการจัดชุมนุมมาโดยตลอดแต่ไม่เคยมีผู้ถูกดำเนินคดีชุมนุมในรัศมี 150 เมตร 

จำเลยที่ 4 (ณัฏฐา) เบิกความว่าตนเป็นผู้ดำเนินรายการที่งานเสวนาบริเวณสวนครูองุ่น และเดินทางไปมาบุญครอง โดยได้ไปอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลมีฝ่ายค้านไว้ตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจ จำเลยที่ 5 (อานนท์) เบิกความว่าเหตุผลที่ตนและจำเลยอื่นๆ ไปชุมนุม เนื่องจากต้องการให้มีการเลือกตั้ง อยากให้มีการปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย โดยขณะนั้น รัฐบาลเลื่อนเลือกตั้งมาหลายครั้งแล้ว ขณะเกิดเหตุไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 6 เคยถูกทำร้ายจากการออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล ส่วนจำเลยที่ 9 เป็นผู้ที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมาโดยตลอด ในวันดังกล่าวยังมีผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ลงพื้นที่บริเวณสกายวอล์ค มาบุญครอง แต่ก็ไม่มีการแจ้งเตือนผู้ชุมนุมเกี่ยวกับการชุมนุมในระยะ 150 เมตร แต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 8 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและไม่ได้ปราศรัย  

ศาลเห็นว่า จำเลยทุกคนได้มาชุมนุมในวันดังกล่าวจริง มีการปราศรัยโดยใช้โทรโข่ง การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ ส่วนการชุมนุมอยู่ในระยะรัศมี 150 เมตร หรือไม่ ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ 2 คน เบิกความว่า มีการวัดระยะทางจากจุดชุมนุมว่าอยู่ในระยะ 148.5 เมตร จากเขตวัง อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ทุกปากเบิกความตรงกันว่าไม่เคยทราบมาก่อนว่าจุดชุมนุมดังกล่าวอยู่ในระยะไม่เกิน 150 เมตร และไม่พบเห็นว่ามีป้ายเตือน เมื่อไม่มีป้ายจึงย่อมไม่มีใครทราบ ทั้งนี้ ลานกิจกรรมบริเวณหน้าหอศิลป์มีระยะทางที่ใกล้กว่าบริเวณสกายวอล์ค มีการจัดกิจกรรม เช่น คอนเสิร์ต อยู่บ่อยครั้ง และมีเสียงดัง จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่าบริเวณสกายวอล์คก็สามารถจัดกิจกรรมได้ ศาลเชื่อว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำผิดกฎหมาย

เพียงไม่ต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้ง ไม่ถึงกับเป็นการยุยงปลุกปั่น

ศาลพิจารณาถ้อยคำปราศรัยของจำเลยทั้งหมดแล้วไม่ปรากฏว่าเป็นการยุยงปลุกปั่น แม้ข้อความปราศรัยบางส่วน เช่น คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 พูดถึงเรื่องส่วนตัวของผู้ถูกพาดพิง บุคคลดังกล่าวย่อมสามารถดำเนินคดีได้  ถ้อยคำส่วนใหญ่ของจำเลยแต่ละคนมีเนื้อหาเกี่ยวกับความต้องการให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ พล.ต บุรินทร์ ทองประไพ ซึ่งรับว่ารัฐบาลได้มีการเลื่อนเลือกตั้งจริง คำปราศรัยว่ารัฐบาลเลื่อนเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องจริง ทั้งนี้ ผู้ปราศรัยยังได้ปราศรัยในลักษณะชักชวนให้คนออกมาชุมนุมกันในครั้งต่อไปหากรัฐบาลยังเลื่อนเลือกตั้ง เป็นเพียงการสื่อความหมายว่าผู้ชุมนุมไม่ต้องการให้มีการเลื่อนเลือกตั้งอีก ไม่ถึงขนาดเป็นการยุยงปลุกปั่น แม้อาจมีคำไม่สุภาพและเกินเลยไปบ้าง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เพียงพอที่จะเอาผิดในข้อหาดังกล่าว

พิพากษายกฟ้อง 

“คนอยากเลือกตั้ง” ยังต้องสู้คดี แม้หลายคดียกฟ้องแล้ว

นับจากการชุมนุมครั้งแรกที่สกายวอล์คปทุมวัน หน้า MBK Center ซึ่งนอกจากคดีแกนนำ 9 คนนี้แล้ว ยังมีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีอีก 30 ราย ในข้อหาเช่นเดียวกัน ยกเว้นข้อหายุยงปลุกปั่น การชุมนุมของ “คนอยากเลือกตั้ง” ก็มีขึ้นอีกหลายครั้ง และก็ถูกทั้ง คสช. และตำรวจดำเนินคดี หลัก ๆ รวม 10 คดี มีประชาชนถูกดำเนินคดี 130 ราย นอกจากคดีนี้ซึ่งจะฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้แล้ว อีก 6 คดี มีคำสั่งหรือพิพากษาแล้ว ที่เหลือ 3 คดี จะเริ่มสืบพยานในปีหน้า รายละเอียดดังนี้   

  1. คดีผู้ชุมนุมหน้า MBK 
  • ผู้ชุมนุม 2 ราย ที่รับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำคุก 6 วัน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี 
  • ผู้ชุมนุมอีก 28 ราย ซึ่งยืนยันให้การปฏิเสธ อัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นพ้องกันสั่งไม่ฟ้องคดี หลังจากคดีดำเนินมากว่า 1 ปี 9 เดือน เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไปแล้ว และเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม รวมทั้งการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44
  1. คดีผู้ชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน (RDN50) อัยการถอนฟ้องคดี ชุมนุม 41 ราย
  2. คดีแกนนำการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน (RDN50) ศาลพิพากษายกฟ้อง 6 แกนนำ และอัยการถอนฟ้องรังสิมันต์ โรม
  3. คดีการชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06) ศาลพิพากษายกฟ้อง 6 ผู้ชุมนุม ข้อหาชุมนุมทางการเมือง แต่ปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
  4. คดีผู้ชุมนุมหน้ากองทัพบก (ARMY57) ที่ศาลพิพากษายกฟ้องผู้ชุมนุม 45 คน แต่สั่งปรับ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว 1,000 บาท ฐานเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่สามารถดูแลและควบคุมผู้ชุมนุมได้ ซึ่งลูกเกดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาอยู่ 
  5. คดีการชุมนุมที่พัทยา ศาลจังหวัดพัทยายกฟ้องผู้ชุมนุม 9 คน แต่ปรับ “นิว” สิรวิชญ์​ เสรีธิวัฒน์ และผู้ร่วมชุมนุมอีก 2 คน คนละ​ 3,000​ บาท ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ปรับนิวเพียงคนเดียว
  6. คดี 10 แกนนำการชุมนุมหน้ากองทัพบก (ARMY57) ศาลอาญานัดสืบพยานในเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2564 
  7. คดีผู้ชุมนุมหน้าธรรมศาสตร์และสหประชาชาติ (UN62) ศาลแขวงดุสิตนัดผู้ชุมนุม 39 ราย สืบพยานในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2564 ขณะที่อัยการยังไม่สั่งฟ้องอีก 1 ราย
  8. คดี 18 แกนนำการชุมนุมหน้าธรรมศาสตร์และสหประชาชาติ (UN62) ศาลอาญานัดสืบพยานในเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564
X