จากถนนเลือนลั่นถึงผืนฟ้า: หลากเสียงสะท้อนบนถนนสาย 112

หนึ่งในการสื่อสารต่อสถาบันฯ โดย #คณะราษฎร2563 ที่ชัดตรงและแหลมคมที่สุดคือการอ่านแถลงการณ์ของมวลชนทั้ง 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และเยอรมัน ในการชุมนุมที่ด้านหน้าสถานทูตเยอรมันเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณแยกวิทยุ เจตจำนงของยุคสมัยถูกส่งต่อผ่านตัวแทนผู้อ่านแถลงการณ์ซึ่งเกือบทุกรายเป็นมวลชนอาสา แทบจะไม่เคยมีใครรู้จักกันมาก่อน บ้างยังคงเป็นนักศึกษาและที่ใกล้จะเรียนจบ บางคนเพิ่งเริ่มต้นชีวิตวัยทำงาน หรือแม้แต่พนักงานบริษัทที่ทำงานอยู่ในบริเวณดังกล่าว พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ใช่นักกิจกรรมทางการเมือง เป็นแค่เพียงคนธรรมดาที่เข้าร่วมในการชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง ทว่ากล้าหาญพอที่จะยืนประจันหน้ากับรัฐที่มีกฎหมายเป็นอาวุธ

จนกระทั่งเมื่อมีแถลงการณ์จากนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 เมื่อรัฐบาลประกาศจะใช้ปฏิบัติการทางกฎหมายทุกรูปแบบเพื่อกดปรามความเห็นต่าง หมายรวมถึงการนำกฎหมายอาญาร้ายแรงอย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาใช้ นอกเหนือจากแกนนำและผู้ปราศรัยในการชุมนุมที่ตกเป็นเป้าโจมตีแรก ผู้อ่านแถลงการณ์ทั้งหมดในการชุมนุมครั้งนั้นเองยังกลายเป็นผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มแรกสุดที่ถูกตั้งข้อหาร้ายแรงตามมาตรา 112 ควบคู่ไปกับมาตรา 116

ในวาระที่มาตรา 112 ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับเหล่าผู้ตื่นรู้ ศูนย์ทนายฯ ชวนอ่านซีรีส์บทสัมภาษณ์สะท้อนหลากหลายเรื่องราวชีวิต ความฝัน ความหวัง และภาพสะท้อนความกล้าหาญของเหล่าคนธรรมดาสามัญที่ถูกตั้งข้อหาเพียงเพราะอาสาเป็นตัวกลางเพื่อสื่อสารกับฟากฟ้า ในวันที่พวกเขาต้องเดินบนถนนสาย 112 โดยมีอนาคตข้างหน้าเป็นเดิมพัน

 

รวิสรา เอกสกุล: “ถ้าไม่ใช่เรา ก็ต้องเป็นเพื่อนหรือน้องของเราที่โดน”

“เดียร์” รวิสรา คือหนึ่งในผู้อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด 6 คน และเป็นคนกลุ่มที่สองที่ร่วมในการชุมนุมที่ด้านหน้าสถานทูตเยอรมันและได้รับหมายเรียกให้เข้าไปรับทราบ 2 ข้อกล่าวหาคือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563

อดีตบัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายนี้สะท้อนว่า ในอดีตก่อนหน้าที่จะอาสาออกไปอ่านแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืน เธอไม่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง นอกเหนือจากการเข้าร่วมในการชุมนุมของกลุ่ม #คณะราษฎร2563 การตัดสินใจเฉพาะหน้าในวันนั้นเริ่มต้นจากที่เห็นประกาศบนทวิตเตอร์ว่าทางผู้จัดการชุมนุมกำลังต้องการอาสาสมัครเพื่อออกมาอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมัน เธอจึงเสนอตัวเองอย่างไม่ลังเล

“เราไม่ได้รู้มาก่อนว่าจะมีการอ่านแถลงการณ์ เพิ่งจะรู้ก็เมื่อตอนไปถึงม็อบ พอลองทักไปทางต้นทวิตที่เขาประกาศหา เขาก็ช่วยประสานงานให้จนได้เบอร์ติดต่อมา พอโทรไป ทางนั้นก็บอกให้เราเดินไปที่ด้านหน้าของม็อบเพื่อเตรียมตัว”

“การที่เราตัดสินใจอาสาไปก็เพราะเรารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ และเราเองอยากที่จะมีส่วนช่วยในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ให้มากที่สุด ก่อนหน้านั้น เรามองว่าแค่การไปร่วมม็อบก็ถือว่าเราเป็นหนึ่งในพลังที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ในครั้งนี้พอมันเป็นภาษาเยอรมัน มันเป็นสิ่งที่เราถนัดและเชี่ยวชาญมานานมาก เลยรู้สึกว่า ถ้าเราจะสามารถใช้ความรู้ของเราเพื่อส่งสารให้กับใครต่ออีกหลายคน เราก็เต็มใจ และยินดีที่จะช่วย”

ถึงแม้การแสดงออกดังกล่าวจะเป็นไปด้วยเจตนาที่ดี อย่างไรก็ตาม เมื่อเลือกยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกการกระทำล้วนตามมาพร้อมกับผลลัพธ์ – ทั้งที่คาดเดาได้และคาดเดาไม่ได้ เดียร์สะท้อนความรู้สึกว่า ถึงจะเตรียมใจไว้แล้วบ้างส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็เรียกได้ว่ามีจุดที่เหนือไปจากความคาดหมาย

“ตั้งแต่ก่อนที่จะขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ น้องที่เป็นคนประสานงานเขาก็ถามเราว่า เราพร้อมที่จะรับความเสี่ยงไหม? พอลองคำนวณดูแล้ว เราตอบตัวเองได้ว่าเราพร้อม จังหวะที่ขึ้นไปและลงมาแล้ว เราไม่ได้คิดว่ามันจะมีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้น เพราะเหมือนทุกคนที่ขึ้นไปยืนอ่านตรงนั้นไม่มีใครรู้จักกันมาก่อน ทุกคนเป็นแค่คนธรรมดาที่ไปม็อบ ไม่มีใครเตรียมใจว่าจะมีโอกาสได้ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ พวกเราเป็นแค่คนธรรมดาที่ไม่เคยเคลื่อนไหว รัฐก็ไม่น่าจะมาเพ่งเล็งที่เราเท่าแกนนำ อย่างแย่ที่สุดที่สุดที่ประเมินไว้ตอนนั้นก็อาจจะแค่ถูกคุกคามโดยคนที่เขาไม่ชอบใจ แต่ถามว่าในใจพร้อมรับความเสี่ยงที่มากกว่านั้นไหม เราก็คิดว่า ถ้ามันจะมีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้นจริง เราก็พร้อมทำใจยอมรับ”

“เราเริ่มเครียดตั้งแต่ตอนที่มีข่าวลือว่ามีคำสั่งให้ดำเนินคดีคนที่ออกไปอ่านแถลงการณ์ทั้ง 3 ภาษา จนตอนหลังมีข่าวว่ารัฐจะเอา 112 กลับมาใช้ เราก็ไม่ได้เครียดอะไรมากแล้ว เริ่มทำใจไว้ระดับหนึ่ง พอเราเห็นกลุ่มแรกที่ได้หมาย 112 ก่อนเรา ก็คิดว่าตัวเองก็ไม่น่ารอด ก็ได้แต่นั่งรอว่าเมื่อไหร่หมาย 112 จะมา พอมันมาแล้วก็ โอเค เครียดอยู่แค่ประมาณ 4 – 5 วัน พอถึงเวลามันก็เริ่มปลง จะมาก็มา รอ แต่ใจก็พร้อมที่จะสู้ เราโชคดีที่พ่อแม่เข้าใจด้วย เขารู้เรื่องข่าวลือพร้อมกันกับเราก็เลยพร้อมซัพพอร์ตในทุกด้าน”

ถึงจะยังกังวลในเรื่องของกระบวนการทางคดี แต่ในเวลานี้ เดียร์ยืนยันว่าเธอยังมีกำลังใจดี และถึงแม้การตัดสินใจในวันนั้น ณ ที่ด้านหน้าของสถานทูตเยอรมันจะเป็นต้นเหตุให้เธอถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาร้ายแรงที่อาจเปลี่ยนชีวิตและความฝันต่อนาคตแบบพลิกฝ่ามือ แต่ถ้าย้อนกลับไปได้ เดียร์ยืนยันว่าเธอก็จะยังคงทำแบบเดิม

“ต้องบอกว่ากำลังใจกับสภาพจิตใจของเราดีมากตอนนี้ พยายามไม่คิดอะไรเยอะ อยากที่จะสนุกกับช่วงเวลานี้ก่อนแล้วในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยังไง เราก็พร้อมที่จะสู้ เพื่อนรอบตัวเรา พอเขารู้ข่าว ทุกคนก็ทักมา พร้อมที่จะช่วยเหลือ ทุกคนรู้สึกเดือดร้อนแทนเรามาก ๆ ก็รู้สึกดีตรงที่ว่าเหมือนไม่ได้กำลังสู้อยู่คนเดียว”

“เราวางแผนว่าจะไปเรียนต่อ อยากจะลองขอทุนไปเรียนด้านการศึกษาเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน เพราะอยากกลับมาช่วยพัฒนาวงการสื่อฯ ไทย อย่างในช่วงเวลานี้ มันสะท้อนให้เห็นมีความบกพร่องอยู่ในสื่อเยอะมาก สื่อดี ๆ ถูกปิดกั้น สื่อใหญ่ๆ ก็เลือกข่าวที่จะนำเสนอ เลยคิดว่าอยากจะเข้าไปแก้ไขตรงนั้น เพราะอย่างคุณยายคุณป้าเราที่อยู่ที่บ้าน เขาก็แทบไม่รู้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในสังคมตอนนี้”

“ถ้าโดนตัดสินว่าผิดจริงและต้องถูกขัง เราก็อาจจะหมดสิทธิขอทุน เพราะทุนกำหนดว่าต้องเรียนจบมาไม่เกิน 5 ปี ตอนนี้เราก็เรียนจบมา 2 ปีแล้ว แพลนชีวิตของเราก็อาจต้องเปลี่ยนต้องเลื่อน ไม่รู้เหมือนกันว่าสุดท้ายพอรับโทษเสร็จ ชีวิตมันจะเป็นยังไงต่อไป โอกาสในการทำงานของเราก็น่าจะลดลง เพราะด้วยอายุที่เพิ่มขึ้นและด้วยความที่เป็นคนมีคดีติดตัว”

“เวลาคิดย้อนกลับไป ถามว่าเราเคยเสียใจไหมกับการที่ออกไปพูดวันนั้น แน่นอนว่ามีคิดบ้าง เพราะถ้าวันนั้นเราไม่ได้ไปชุมนุม ชีวิตของเราอาจจะสบายกว่านี้ก็ได้ คงได้ทำตามแผนการในอนาคตที่วางไว้ แต่พอทบทวนกับตัวเองจริง ๆ เออ ถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้จริง ๆ ล่ะ เราจะยังทำอยู่ไหม? เราคิดว่าเราก็คงจะทำเหมือนเดิม เพราะในประเทศไทยมันมีแค่ไม่กี่คนที่ใช้ภาษาเยอรมันได้ ส่วนใหญ่ก็เป็นรุ่นพี่เรา รุ่นน้องเรา เพื่อนเรา ต่อให้มันไม่ใช่เรา ยังไงก็ต้องเป็นคนใกล้ตัวเราอยู่ดี ยังไงมันก็ต้องมีใครซักคนที่โดน ต่อให้ไม่ใช่เราก็ต้องเป็นคนที่เรารู้จัก”

“ถ้าจำเป็นต้องรับโทษ เราก็ทำใจยอมรับได้ ไม่ว่าชีวิตจะเป็นยังไงต่อ เราเชื่อว่าเราก็คงหาทางไปต่อของเราได้ตามที่วางแผนไว้”

 

เบนจา อะปัญ: “เมื่อกฎหมายถูกทำให้ปราศจากความศักดิ์สิทธิ์”

หนึ่งในสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ได้ขึ้นอ่านแถลงการณ์ภาษาไทยที่ด้านหน้าของสถานทูตเยอรมันคือ เบนจา อะปัญ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ผันตัวจากเยาวชนที่สนใจในประเด็นเรื่องสิทธิและการเมืองตั้งแต่สมัยอยู่ในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สู่การเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัวเมื่อเริ่มต้นก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ในช่วงจังหวะเดียวกันกับที่มีการจัดตั้งแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เธอได้ทำตามความเชื่อและแนวคิดทางการเมืองร่วมกับเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน

ในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีการชุมนุม ด้วยความที่ทางผู้จัดการชุมนุมเองไม่ได้กำหนดล่วงหน้าว่าจะให้ใครขึ้นมาเป็นคนอ่านแถลงการณ์เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เบนจาที่เข้าร่วมชุมนุมในวันนั้นจึงขออาสาขึ้นมาเป็นหนึ่งในคนที่อ่านแถลงการณ์ภาษาไทย การตัดสินใจหน้างานในครั้งนั้นกลายเป็นต้นเหตุให้เธอถูกดำเนินคดีแรกในชีวิตคือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ก่อนจะถูกแจ้งข้อหาเพิ่มคือมาตรา 112

“ตอนที่ขึ้นไปอ่าน เราไม่ได้อ่านด้วยความรู้สึกกลัวว่าจะถูกรัฐเพ่งเล็ง แต่มันเป็นการอ่านที่เต็มไปด้วยอารมณ์โกรธมากกว่า เพราะว่าสถานการณ์ในตอนนั้นคือการที่พวกเราตั้งคำถามกับสถาบันฯ แต่สิ่งที่ประชาชนได้รับกลับมาคือการถูกดำเนินคดี พออ่านปุ๊ป มันก็เลยมีอารมณ์ร่วมไปในทางโกรธ ตั้งคำถาม ผสมกับความโมโห”

“เราประเมินไว้แล้วว่ารัฐต้องจับตาดูเราทุกคนอยู่ เขาน่าจะมีข้อมูลของนักเคลื่อนไหวในมืออยู่แล้วด้วยซ้ำ แค่รอให้ใครสักคนออกมาเคลื่อนไหว แล้วรอจังหวะเพื่อจัดการด้วยกฎหมาย ความสุ่มเสี่ยงที่จะโดนมาตรา 112 คือสิ่งที่เราประเมินไว้แต่แรก ถึงแม้รัฐจะมีนโยบายพักการใช้มาตรา 112 ถึงจะยังไม่ใช้ในตอนนั้น แต่เราก็มองว่า ถ้าวันหนึ่งเขาจะหยิบมาใช้ ยังไงเราก็น่าจะโดน”

ส่วนตัวของเบนจาเอง ถึงแม้จะทำใจไว้ส่วนหนึ่ง พร้อมยอมที่จะแลกอิสรภาพและความฝันเพื่อการต่อสู้ในครั้งนี้จนกว่าจะสุดปลายทาง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรงส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อครอบครัวของเธออย่างไม่อาจเลี่ยงได้

“ตอนได้หมาย 112 ตำรวจเอาหมายไปให้เซ็นต์ถึงที่บ้าน พ่อเราเสียแล้ว แม่ก็ไม่ค่อยได้อยู่บ้านซักเท่าไหร่ เพราะต้องออกไปทำงาน คนที่อยู่บ้านรับหมายก็คือป้ากับยาย ซึ่งเขากลัวกันมาก เพราะเขาไม่เคยเจออะไรแบบนี้ เขาเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาที่ทำงานในชุมชน แล้ววันหนึ่งญาติตัวเองต้องมาโดนหมายดูหมิ่นกษัตริย์ฯ”

“มันไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน เพราะตอนได้หมาย 116 คือถูกส่งไปรษณีย์มา ตำรวจไม่ได้มาเอง แม่เราก็เครียดนะ อาจจะเครียดกว่าเราอีก เรายังพอโอเค ชิลได้ แต่ก็เข้าใจตามประสาผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ลงมาทำการเมือง หรือไม่ได้อยู่ในวงการการเมือง เขาคงมองด้วยคำถามว่าหมายพวกนี้จะทำให้เราหมดอนาคตหรือเปล่า? แล้วถ้าติดคุกขึ้นมาจะทำยังไง? อนาคตจะยังมีอยู่ไหม? แล้วจะทำงานอะไร? เขาจะมองในเชิงอนาคตของเราซะส่วนใหญ่ เราก็พยายามสื่อสารว่าหมายนี้มันไม่ได้แฟร์อยู่แล้ว คดีนี้มันไม่ได้แฟร์ที่จะเกิดขึ้นแต่แรก แต่ในอนาคตเราประเมินว่าคดีมันน่าจะยังจัดการ”

“การมาทำตรงนี้ แน่นอนว่าต้องมีความเสี่ยง ถ้าวันหนึ่งเขาจะเอาเราเข้าคุก เราก็คงต้องเข้าคุก เราคุยกับเพื่อนว่า ถ้าวันหนึ่งมันเกิดเหตุการณ์แบบนั้นจะทำยังไง? ก็คงต้องปล่อยให้มันเป็นไป ถึงแม้จะไม่อยากให้มันเกิดขึ้นก็ตาม ความฝันของเราที่อยากจะไปเรียนเมืองนอกแล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่ไทยก็อาจต้องล่าช้าออกไป”

จากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแสดงออกทางการเมืองแล้วถึง 33 ราย ใน 20 คดี (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2563) และตัวเลขดังกล่าวดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน สำหรับนักศึกษาปีหนึ่งรายนี้ เธอมองว่าการที่รัฐหยิบกฎหมายมาตรานี้กลับมาใช้อีกครั้งคือภาพสะท้อนว่ารัฐไม่เคยคิดที่จะรับฟังประชาชนเลย และเลือกที่จะใช้กฎหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัว แต่ในมุมกลับ ยิ่งมาตรานี้ถูกนำกลับมาใช้มากเท่าไหร่ มันกลับยิ่งถูกลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลงมากเท่านั้น

“เราพูดเสมอว่ามาตรา 112 มันไม่เป็นธรรม ไม่แฟร์ เนื่องจากการตีความและหยิบมาใช้มันก็ไม่ได้มีมาตรฐาน ซึ่งผู้ชุมนุมเองก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ รวมถึงขอให้ยกเลิกการใช้มาตรา 112 อย่างอังกฤษก็ไม่มีใครที่วิจารณ์ควีนแล้วถูกดำเนินคดี พอรัฐทำแบบนี้มันสะท้อนให้เห็นเลยว่าเขาไม่ฟังเรา เขาไม่สนใจด้วยซ้ำว่าเราเรียกร้องอะไร จะใช้แต่กฎหมายเพื่อขู่เราอย่างเดียว ทั้งที่โลกมันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว”

“112 ที่ผ่านมามันเคยน่ากลัวมาก มีกรณีที่ออกหมายจับเลย ไม่ได้เป็นหมายเรียกเหมือนตอนนี้ คือถ้าโดนคุณก็ต้องตัดสินใจเลยว่าจะลี้ภัยหรือจะทำยังไงกับชีวิตต่อไป แต่ด้วยความที่สถานการณ์ปัจจุบัน คนไม่ได้กลัวการใช้กฎหมายตัวนี้เท่าเมื่อก่อน การใช้มาตรา 112 ช่วงเดือนที่ผ่านมาแบบเพิ่มทีเป็นสิบยี่สิบคน กลายเป็นสิ่งที่ลดทอนความศักดิ์สิทธิ์และความน่ากลัวในตัวของกฎหมายเอง แล้วถ้ามีคนต้องถูกขังคุกเพราะกฎหมายตัวนี้จริง เราเชื่อว่ามันจะกลายเป็นเชื้อเพลิงที่สร้างความโกรธให้กับคนในสังคมมากขึ้นไปอีก”

 

สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ: “เพราะเราเชื่อว่าประเทศไทยยังดีกว่านี้ได้

ภายหลังจากที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตราเพื่อกำราบคนที่กล้าแสดงออกว่าคิดต่างจากรัฐ รวมไปถึงการเอามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายความมั่นคงกลับมาใช้เพื่อเป็นอาวุธอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่แค่แกนนำผู้ชุมนุมเท่านั้นที่ตกเป็นเป้าหมายของรัฐ แต่ยังรวมถึงคนธรรมดาทั่วไปที่เพียงต้องการแสดงจุดยืนของตัวเอง

“ฟ้า” สุธินี คือนิสิตปี 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนอนหนังสือนักอ่านที่ฝันอยากเป็นนักแปลวรรณกรรมเยาวชนเมื่อพ้นไปจากรั้วของมหาวิทยาลัย ชีวิตของเธอคงจะเดินต่อไปตามแผนการที่วางไว้ หากไม่ได้เข้าร่วมในการอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันที่ด้านหน้าสถานทูตเยอรมันเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 อนาคตที่เหมือนถูกขีดเป็นเส้นตรงต้องเจอตอกั้นขวางเมื่อฟ้าถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “ดูหมิ่นกษัตริย์”

“วันนั้นเรานัดไปร่วมชุมนุมกับเพื่อน เพราะเห็นว่ามันมีม็อบที่หน้าสถานทูตเยอรมัน แล้วเราเองก็เรียนเยอรมันพอดี ตอนแรกคิดแค่ว่าจะไปชูป้ายเฉยๆ เพื่อยืนยันว่าเราควรจะตั้งคำถามต่อสถาบันหลักของชาติได้ และรัฐควรจะต้องหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน ประมาณนั้น”

“เราบังเอิญไปเห็นทวิตเตอร์ของพี่คนหนึ่งว่าเขากำลังหาคนที่สามารถอ่านภาษาเยอรมันได้ อยากให้มาช่วยอ่านแถลงการณ์หน่อย ก็เลยเสนอตัวนาทีสุดท้าย เพราะคิดว่าเขาน่าจะไม่มีคนจริง ๆ เลยต้องมาหาทางออนไลน์ ด้วยความที่เราเรียนมาทางด้านนี้ พอจะอ่านได้ แล้วสิ่งที่ม็อบต้องการนำเสนอในวันนั้นก็คือการปฏิรูปสถาบันฯ เรามองว่าภาษาเยอรมันของเรากับมุมมองของม็อบมันเข้ากันก็เลยเสนอตัวไป เพราะคิดว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วย”

“พอขึ้นไปอ่าน ลงมาก็รู้สึกโล่งว่าเราก็ทำได้ ก่อนที่จะขึ้นไป คนที่ประสานงานเขาก็บอกเราก่อนว่าให้เตรียมตัวรับแรงกระแทก แรงกดดันหน่อยนะ เพราะข้อความมันก็แรงอยู่ประมาณหนึ่ง แต่เราก็ตัดสินใจแล้วแหละว่าสุดท้าย ในเมื่อเราไปอยู่ตรงนั้นแล้ว ยังไงเราก็ต้องอ่าน”

หลังจากการชุมนุมวันนั้นจบลง แม้ว่าจะไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น แต่ชนวนข่าวลือเรื่องที่รัฐกำลังเล็งที่จะดำเนินคดีแกนนำผู้ชุมนุมในวันนั้นรวมไปถึงผู้อ่านแถลงการณ์ทั้ง 3 ภาษา กลับเริ่มโหมกระพือผ่านช่องทางออนไลน์ แม้จะเตรียมใจไว้บ้างว่าอาจจะต้องถูกรัฐเพ่งเล็งจากการแสดงออก แต่การที่ต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 คู่ไปกับมาตรา 112 เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนธรรมดาอย่างเธอที่ไม่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน

“ตอนแรกที่รู้ข่าวลือจากอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ทางทวิตเตอร์ว่า ตำรวจจะออกหมายเรียกคนที่ไปอ่านแถลงการณ์ แล้วเราเห็นชื่อเราในเอกสารของตำรวจเป็นหญิงไทยไม่ทราบชื่อ เราก็อึ้งไปช่วงหนึ่งเลย รู้สึกว่า เห้ย นี่เราแค่ถามเองนะ มันต้องโดนถึงขนาดนี้เลยเหรอ ตอนนั้นเราไม่ได้คิดเลยว่ามันจะไปไกลถึง 112 แต่เราก็โชคดีที่มีคนติดต่อเข้ามาให้ความช่วยเหลือเยอะแยะ อย่างอาจารย์ เพื่อนๆ ที่ทักมาถามหลังจากที่รู้ข่าว ทนายจากศูนย์ทนายฯ ก็ทักมาว่าจะช่วยเรื่องคดี เราก็เลยรู้สึกสบายใจขึ้นบ้าง”

“เรารู้ก่อนล่วงหน้าว่าจะได้หมายแน่ ๆ แต่ไอ้ตอนที่ต้องรอกว่าที่หมายจะมาที่บ้าน มันเป็นการรอที่แบบตุ้มๆ ต่อมๆ แล้วคือพี่เดียร์ (รุ่นพี่ร่วมคณะ อีกหนึ่งผู้อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมันที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เช่นเดียวกัน) ได้หมายก่อนเรา 3 – 4 วันแล้ว ของเราหมายพึ่งจะมาถึงวันก่อนที่จะไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งมันกระชั้นมาก แล้วคือบ้านเราอยู่ต่างจังหวัด ถ้ากลับบ้านก่อน ก็คงไม่ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่วันที่ 9 ธันวาฯ”

ถึงจะยังกังวลกับกระบวนการในทางคดีที่ยังมาไม่ถึง แต่ฟ้ายืนยันว่าตอนนี้เธอยังมีกำลังใจดี และไม่ได้รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจในวันนั้นที่ด้านหน้าสถานทูต เพราะนั่นคือสิทธิเสรีภาพที่ชอบธรรมของบุคคลบุคคลหนึ่งที่เพียงแค่ต้องการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง

“เราโชคดีที่มีอาจารย์และเพื่อนหลายๆ คนให้กำลังใจเรา เพราะทุกคนต่างก็มีอุดมการณ์เดียวกัน คือพวกเราเชื่อว่าคนไทยยังมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้”

“ในส่วนของกระบวนการทางคดี เราทั้งกึ่งกังวลและไม่กังวล ที่กังวลก็ตรงผู้มีอำนาจในศาล เรากังวลเรื่องการถูกแทรกแซงในการพิจารณาคดี แต่พอเห็นกระบวนการของทนายแล้วก็รู้สึกสบายใจขึ้น เพราะมั่นใจว่าเขาจะช่วยเราเต็มที่”

“พอมองย้อนกลับไป เราไม่ได้รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจของตัวเองวันนั้น เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราออกไปพูดหรือหรือไม่พูดหรือเปล่า สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ต่อให้ไม่ใช่เรา การแสดงออกว่าสงสัยหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันฯ หรืออะไรก็ตามที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับรัฐบาล มันแน่นอนว่าต้องถูกรัฐเพ่งเล็งอยู่แล้ว เราเชื่อว่าเรากับผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ก็แค่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มันคือสิ่งที่เราทุกคนมีเหมือนกัน แล้วทำไมเราถึงจะไม่สามารถใช้สิทธิที่ชอบธรรมของเราได้?”

ในวันที่รัฐแจกคดี 112 ให้กับผู้ร่วมชุมนุมแบบปูพรม กระแสตอบโต้จากฝั่งประชาชนเองก็หนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของเด็กนักเรียนในรั้วโรงเรียน ไปจนถึงการปราศรัยอย่างเผ็ดร้อนโดยผู้ปราศรัยหน้าใหม่ที่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องของตัวกฎหมายโบราณที่เหมือนจะเดินตามหลังโลกในทุกวันนี้ ฟ้ามองว่า ภาพการตื่นรู้ในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนสะท้อนว่าสังคมได้ตระหนักแล้วว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริงของรัฐไทย และทุกคนต่างออกมาแสดงออกในส่วนของตัวเองเพื่อเป้าหมายสูงสุด นั่นก็คือการทำให้สังคมไทยและทุกองคาพยพทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ประชาชนทุกวันนี้ไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน เพราะสื่อมันกว้างขวางขึ้นมาก ทุกคนเริ่มตระหนักถึงความอยุติธรรมของกฎหมายหรืออำนาจรัฐ เราเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวที่ขอให้ยกเลิก 112 เพิ่มมากขึ้น ทั้งในโซเชี่ยลและในชีวิตจริงด้วย”

“สุดท้าย ในปลายทางของการต่อสู้ครั้งนี้ก็คือการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ และทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราทุกคนควรมีสิทธิมีเสียง มีอำนาจในการช่วยตัดสิน เราควรจะสามารถโหวต สามารถแสดงความคิดเห็นได้”

“นักการเมืองไม่ควรจะเป็นคนที่แค่เข้าไปนั่งในสภาแล้วไม่ทำอะไรเลย ตอนนี้ ส.ส. ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำงานตามตำแหน่งอย่างที่ควรจะเป็น เขาไม่ฟังว่าประชาชนต้องการอะไรบ้าง ไม่ได้เอาสิ่งที่ประชาชนเสนอไปพูดในสภา มีแต่ฝ่ายค้านที่เอาไปอภิปรายแล้วโดนตีตก เชื่อว่าคนในประเทศมีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปทำงานแทนในส่วนนั้น ขอแค่ให้ประเทศเราเป็นประชาธิปไตยก็พอ”

 

ชลธิศ โชติสวัสดิ์: “เราต้องการความกล้าหาญเพื่อส่งต่อการต่อสู้ให้คนรุ่นต่อไป

อีกเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น “เอฟ” ชลธิศ จะกลายเป็นบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทว่าในช่วงจังหวะที่เหมือนจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อคาบเกี่ยวกับอนาคตและชีวิต เขาได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดี “หมิ่นฯ กษัตริย์” จากการขึ้นอ่านแถลงการณ์ภาษาไทยในการชุมนุมที่ด้านหน้าสถานทูตเยอรมัน

ย้อนกลับไปสมัยเมื่ออยู่ปี 1 ระหว่างที่สังคมไทยในเวลานั้นยังอยู่ภายใต้การชี้นำของ คสช. เอฟเริ่มบทบาทการเป็นนักเคลื่อนไหวร่วมกับมิตรสหาย หนึ่งในนั้นคือ “เพนกวิน” พริษฐ์ ผลักดันประเด็นทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย พวกเขาเคยร่วมกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องสวัสดิการที่เท่าเทียมให้กับนักศึกษาในมหาลัย ในส่วนของการเคลื่อนไหวนอกรั้วสถานศึกษา เอฟเองยังทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของ สนท. (สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย) ต่อมาเมื่อหมดวาระจึงได้เข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในฐานะนักวิชาการซึ่งเป็นฝ่ายมันสมองของกลุ่ม

เช่นเดียวกับผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รายอื่น ๆ เอฟเป็นหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมที่อาสาขึ้นไปอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาไทย โดยได้มีการแบ่งเนื้อหาเป็นท่อนๆ เพื่อให้ผู้อ่านแต่ละคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงออก สำหรับชายหนุ่ม เขาเข้าใจดีว่าการตัดสินใจในครั้งนั้นจะทำให้ต้องตกเป็นเป้าถูกรัฐจับตา แต่เขาก็ยังเลือกที่จะขออาสา นั่นก็เพราะต้องการจะเป็นตัวแทนของเพื่อน ๆ นักเคลื่อนไหวหลายคนที่ยังถูกจองจำอยู่ในคุก ณ เวลานั้น

“ที่ตัดสินใจไปยืนอยู่ตรงนั้นเพราะผมอยากจะพูดแทนเพื่อน ๆ ที่ถูกจับขัง ในฐานะที่ตัวเองก็ร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวของคณะราษฯ 63 เลยอยากช่วยเพื่อนออกมาให้ได้ หรืออย่างน้อยที่สุด อยากจะใช้ความกล้าหาญในการส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจว่าประชาชนไม่ยอมอีกแล้ว”

“หลังอ่านแถลงการณ์จบ ความรู้สึกที่ตามมามันไม่ใช่ความกลัว เพราะการถูกดำเนินคดีมันไม่ควรเป็นราคาที่เราต้องจ่ายแต่แรก แต่ก็เตรียมใจไว้ว่ารัฐจะต้องจัดการเราแน่ ๆ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เพราะเชื่อว่ายังไงก็ต้องถูกจับตามองอยู่ การที่ผมขอขึ้นไปอ่าน อีกส่วนก็เพราะไม่อยากให้การต่อสู้ของเพื่อนๆ มันหายไป อยากให้ประเด็นมันคงอยู่ สมมติว่าถ้ามันเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา อย่างน้อยก็ขอให้การต่อสู้มันถูกส่งต่อไปยังคนกลุ่มถัดๆ เพื่อให้พวกเขาออกมาสู้ต่อได้”

คดีมาตรา 116 ควบมาตรา 112 ของเอฟเป็นคดีที่สองในชีวิตจากการเข้าร่วมในการชุมนุมทางการเมือง ก่อนหน้านี้ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์รายนี้ได้เดินทางไปยัง สน. สําราญราษฎร์ ร่วมกับมวลชนและเพื่อนผู้ต้องหาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่มีมูลเหตุมาจากการเข้าร่วมในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563

การที่ต้องเผชิญกับการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมถึงสองครั้ง ส่วนตัวแล้วเขาไม่ได้ประหลาดใจนัก ถ้าดูจากสภาวะบ้านเมืองในเวลานี้ ในส่วนของคดีมาตรา 112 เอฟยอมรับว่ามีบางส่วนในข้อความของแถลงการณ์ที่ค่อนข้างชัดตรงไปบ้าง แต่ก็ได้ทำใจยอมรับไว้ล่วงหน้ากับสิ่งที่อาจจะตามมา โชคยังดีที่ทางด้านครอบครัวเองก็คอยช่วยสนับสนุน แม้ว่าจะยังมีความกังวลอยู่บ้างก็ตาม

“แม้ว่ารัฐบาลจะพักการใช้ มาตรา 112 ไประยะหนึ่ง แต่ก็คิดว่าวันหนึ่งยังไงมาตรานี้มันก็น่าจะกลับมา พูดตามตรง ถ้าดูจากเนื้อหาในแถลงการณ์ ผมเองก็เตรียมใจไว้ว่ามันน่าจะโดนอะไรที่มากกว่าแค่ มาตรา 116”

“ทางด้านครอบครัว พ่อแม่เองเขาก็เตรียมใจไว้ล่วงหน้า แต่ก็ยังมีตกใจบ้างว่าการใช้กฎหมายมันไปถึงขั้นนั้นเลยหรือ พ่อของผม เขาเองก็เป็นเสื้อแดงเก่า เลยค่อนข้างสนับสนุนในการทำกิจกรรม ส่วนทางฝั่งแม่ เขาเองก็ยังกังวล แต่ก็ไม่ได้ห้ามเรื่องที่ออกมาเคลื่อนไหว แค่กลัวว่าลูกจะเป็นอะไรหรือเปล่า ผมเองพยายามคุยกับแม่มาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาก็เข้าใจว่าเรากำลังเจอกับอะไรอยู่ มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมเสียด้วยซ้ำ”

ในอดีต รูปแบบการดำเนินคดีมาตรา 112 ในหลายคดี ตำรวจจะใช้วิธีออกหมายจับเลย ถึงแม้ในการดำเนินคดีแบบหว่านแหในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีออกหมายเรียกเช่นเดียวกับคดีทั่วไป แต่ในขั้นตอนของการพิจารณาคดีก็ยังคงมีความน่ากังวล หากวัดจากบรรทัดฐานการพิจารณาคดีในอดีตที่ผ่านมา ทว่าในวันนี้ ณ เวลานี้ เอฟยังคงมองโลกในแง่ดีอยู่ แม้ในปลายทางของการต่อสู้ซึ่งอาจจะทำให้เขาต้องสูญเสียช่วงเวลาชีวิตในวัยหนุ่มให้กับสถานคุมขัง ต้องเอาระยะเวลาในการไล่ตามความฝันมาเพื่อจ่ายเป็นราคาของอุดมการณ์ เขาเชื่อว่าการเดิมพันครั้งนี้มันคุ้มกับสิ่งที่ต้องแลก

“ส่วนตัวผมค่อนข้างกังวลกับการพิจารณาคดี ถ้าดูจากแนวบรรทัดฐานในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ยังไม่นับรวมเรื่องการออกหมายจับ แต่ในปลายทางก็ยังอยากมองโลกในแง่บวก อย่างน้อยที่สุดก็คิดว่า บทสรุปอาจจะไม่ร้ายแรงขนาดนั้น ถึงแม้ว่าตัวบทของกฎหมายตัวนี้จะร้ายแรงก็ตาม ผมว่าเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างทางหรือเปล่า แต่ก็ยังอยากที่จะมีความหวัง”

“ในอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในปลายทางของการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเป็นการติดคุกหรืออะไรก็ตาม ผมมองว่า อย่างน้อยที่สุด เรายังได้เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่อาจจะไม่ได้มีความสำคัญ แต่ก็ยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง และมันไม่ได้เป็นประโยชน์แค่กับคนในรุ่นเดียวกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป เป็นการส่งต่อเสียงที่คนในรุ่นนี้เคยพูดไว้ให้มันดังขึ้นเรื่อย ๆ พอคิดแบบนี้ก็เลยทำให้กำลังใจเรายังดีอยู่ เพราะเหมือนเรากำลังพยายามส่งต่อบางสิ่งให้กับคนในอนาคต”

“ตั้งแต่เด็กเลย ผมอยากเป็นอาจารย์หรือครูสอนหนังสือคน อันนี้เป็นปลายทางที่วางเอาไว้ โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่ใคร่รู้ อยากเรียนรู้เรื่องความคิด ชอบสรรหาอะไรมาอ่านเรื่อย ๆ ด้วยพื้นฐานตรงนี้ ถึงอยากเอาความรู้ที่เรามีไปถกเถียงกับผู้คน นำเสนอความรู้ให้ผู้คน อยากสร้างเป็นพื้นที่ที่เปิดให้เกิดการถกเถียงเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในแวดวงวิชาการ”

“ถ้าต้องติดคุก ความฝันตรงนั้นก็อาจต้องช้าออกไปสักหน่อย แต่ผมมองว่ามันคุ้มค่าที่จะเสี่ยง มันมีความกล้าหาญอย่างหนึ่งที่คนไม่ค่อยมองเห็นก็คือ ความกล้าหาญในเชิงวิชาการ คือการที่เรากล้ายกเรื่องที่เคยเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างเรื่องของสถาบันฯ ขึ้นมาพูดกันอย่างชัดเจนในแวดวงวิชาการ หรือแม้แต่การที่ประเด็นนี้ถูกนำมาพูดคุยถกเถียงกันบนท้องถนน การที่ต้องเสียเวลาในชีวิตเพื่อที่จะพูดความจริง แล้วทำให้ประเด็นต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่คุ้มค่า”

 

อัครพล ตีบไธสง: ถ้าไม่ได้แก้ไข ผมก็คงจะเสียใจในภายหลัง 

ชื่อของ “บ็อบ” อัครพล ไม่เคยเป็นชื่อที่อยู่ภายใต้การจับตามองของรัฐไทยมาก่อน จนกระทั่งเมื่อเขาเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 และขออาสาเป็นหนึ่งในผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน ผลจากการตัดสินใจในครั้งนั้นทำให้พนักงานองค์กรพัฒนาสังคมและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมรายนี้ถูกหมายหัวโดยรัฐไทยและถูกตั้งข้อหาร้ายแรงอย่างมาตรา 116 คู่กับมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

ในอดีตก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมในการชุมนุมของกลุ่ม #คณะราษฎร2563 บ็อบเล่าเรื่องราวพื้นหลังในชีวิตว่า ที่จริงแล้วตัวเขาเองไม่ได้เรียนจบทางด้านภาษาเยอรมันมาโดยตรง เพียงแต่ช่วงจังหวะหนึ่งในชีวิตวัยรุ่น ชายหนุ่มเคยใช้ชีวิตและเรียนที่ประเทศเยอรมันอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรังสิต

เขาเริ่มเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ในการชุมนุมที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก เนื่องจากเห็นด้วยกับทิศทางการต่อสู้ และประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลงเมื่อรัฐบาล คสช. เข้ามามีอำนาจ ซึ่งเป็นปัญหาที่เขาพบเจอโดยตรงจากการทำงาน จนกระทั่งในวันที่ 26 ตุลาคม เมื่อผู้จัดการชุมนุมประกาศว่าต้องการอาสาสมัครมาร่วมอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมัน เขาจึงขออาสาขึ้นไปเป็นคนส่งสารโดยที่ไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า

“ผมเพิ่งจะทราบวันนั้นเลยในที่ชุมนุมว่าจะมีการอ่านแถลงการณ์ 3 ภาษา ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ทางทีมงานของน้องแกนนำขึ้นมาประกาศว่าอยากได้คนมาช่วยอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน พออ่านจบ ก็รู้สึกว่าตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารความเห็นทางการเมืองและความต้องการของเราในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง”

“การที่ผมออกมาเข้าร่วมในการชุมนุม หลักๆ ก็คือรัฐบาลประยุทธ์ตั้งแต่ที่ยังเป็น คสช. ผมสัมผัสปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มันเริ่มเลวร้ายลงตั้งแต่ยุคนั้น ด้วยความที่ตัวเองทำงาน NGO สายสิ่งแวดล้อม ผมเห็นตัวกฎหมายต่าง ๆ ทั้งมาตรา 44 ทั้งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน ปริมาณมลพิษที่เพิ่มขึ้น กฎหมายเอื้อให้ตั้งโรงงานได้ง่ายขึ้น ผมก็เริ่มเห็นตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า การที่ คสช. เข้ามามีอำนาจ มันกระทบกับงานด้านที่ทำ กระทบกับชุมชน เป็นการทำลายหลักการดี ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและการปกป้องสุขภาพของประชาชน ผมเลยเริ่มออกมาชูสามนิ้วใส่ประยุทธ์บ้าง เพราะการที่เป็นรัฐแบบเผด็จการมันให้ระบบต่าง ๆ ล้าหลัง ทำให้กฎหมายถอยหลังลงย้อนกลับไป สิ่งแวดล้อมกับสิทธิของคนก็เสื่อมถอยลง”

แม้การอาสาของบ็อบในวันนั้นจะเป็นไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่เมื่อเลือกที่จะยืนฝั่งตรงข้ามกันกับรัฐก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกจับตามอง ชายหนุ่มวัย 33 ปีรายนี้ยอมรับว่าตัวเขาเองก็ทำใจไว้ในระดับหนึ่ง ในอดีต บ็อบเคยเข้าร่วมกับกลุ่ม กปปส. และมีส่วนร่วมในการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” สำหรับเขา หากไม่เลือกที่จะเสนอตัวออกไปพูดแทนมวลชนที่ด้านหน้าสถานทูต วันหนึ่งหากมองย้อนกลับไป ก็อาจจะเสียใจในภายหลัง

“ตอนที่ได้หมาย 116 ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะไม่มีโอกาสโดน 112 เลย คิดว่าโอกาสที่จะโดนน่าจะน้อย แต่เข้าใจว่าเมื่อเราไปแตะสิ่งที่คนเขาไม่กล้าแตะ กรณีแบบนี้มันก็เกิดขึ้นได้ แล้วเราก็คาดการณ์อะไรไม่ได้ด้วย ก็เลยมองว่าในเมื่อมันมาถึงจุดนี้แล้ว สิ่งที่ผมอาจจะต้องเจอหรือสูญเสียไป หรือการต้องเจอกับบางอย่างที่ไม่ได้คาดหวัง มันก็ยังถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับน้อง ๆ ทีมที่บุกเบิกเรื่องนี้มา ซึ่งตัวเองก็ไม่อยากจะมาเสียใจในภายหลัง”

“ในอดีต ผมเคยเข้าร่วมกับ กปปส. ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีส่วนที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร ถ้าผมไม่ได้แก้ไข ไม่ออกมาสนับสนุน ก็คงเสียใจถ้าไม่ได้ทำ ผมก็เลยทำใจได้ในระดับหนึ่งกับผลการดำเนินคดีที่ตามมา”

ในกรณีการดำเนินคดีของบ็อบ แทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเลือกใช้กระบวนการออกหมายเรียกตามขั้นตอน แต่กลับเลือกใช้วิธีการนอกกฎหมาย อีกทั้งยังมีการเดินทางไปติดต่อผู้ใหญ่บ้านที่บ้านเกิดของเขาโดยตรงเพื่อแจ้งเรื่องการดำเนินคดี สร้างความกังวลให้กับครอบครัวเป็นอย่างมาก แต่ยังดีทางที่ทำงานของชายหนุ่มยังเข้าใจและเคารพในสิทธิทางการเมืองของพนักงานในองค์กร

“ตอนแรกที่ได้หมาย 116 ผมเห็นว่ามีหมายเรียกไปยังทีมผู้ปราศรัยก่อน กับคนที่อ่านแถลงการณ์อังกฤษกับไทย ตอนนั้น เขายังไม่ออกหมายเรียกกลุ่มที่อ่านภาษาเยอรมัน แต่ผู้ปราศรัยที่เขาไปรับทราบข้อกล่าวหา เขาก็เห็นว่ามีชื่อของเราเหมือนกัน ไม่กี่วันต่อมา ตำรวจก็ติดต่อมาโดยตรง เขาบอกว่าต้องการอยากให้เรื่องมันเงียบ เรียกเข้าไปพบ ผมก็ลองปรึกษาทนาย เขาก็แนะนำให้เราทำตามขั้นตอน หลีกเลี่ยงวิธีการนอกกฎหมาย ตำรวจก็เลยออกหมายเรียกตามมา”

“มันเริ่มจากตำรวจไปหาผู้ใหญ่บ้านตามที่อยู่บัตรประชาชนของผมที่โคราชเพื่อสอบถาม ผู้ใหญ่บ้านเขาก็โทรหาเรา เพราะเป็นญาติกัน ทางนั้นเขาก็คิดว่าจะแจ้งที่บ้านของเราดีไหม เพราะกลัวจะตกใจ ส่วนตัวผมมองว่าการที่ตำรวจไปตามเราแบบนั้นก็เพื่อต้องการสร้างความกลัวให้กับครอบครัว เพื่อให้มาบีบเราอีกทีหนึ่ง ทางผู้ใหญ่บ้านก็เลยต้องมาบอกแม่ที่บ้านเรา เขาก็ตกใจว่าเราทำอะไรมา เพราะตำรวจมาเองด้วย การที่คนมีคดีความมันเป็นเรื่องใหญ่ เขาไม่ได้ห่วงเรื่องการเมืองหรืออะไร แต่เขาห่วงสวัสดิภาพของเรา เขาก็ปราม ไม่อยากให้เราไปม็อบอีก”

“เราก็ปลอบเขาว่าเรื่องงานมันไม่ได้กระทบ เขาอาจจะกังวลเรื่องงานเรา ว่าเจ้านายจะโอเคไหม? การโดนคดียังไงเขาก็ต้องห่วง ผมก็เลยให้ครอบครัวคุยกับหัวหน้าเลยว่าเขาเข้าใจนะ ทำงานได้เหมือนเดิม ผมโชคดีที่ทางที่ทำงานเขาเข้าใจเรื่องคดีและสิทธิทางการเมืองของเรา ขอลาได้เวลาถ้าต้องไปรายงานตัว ยังมีทนายจากศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือด้วยเต็มที่ ก็ทำให้เขาสบายใจขึ้นมาก”

ปัจจุบัน การดำเนินคดีมาตรา 112 มีความอะลุ่มอล่วยมากกว่าในอดีตที่มักจะออกหมายจับ แต่การบังคับใช้กฎหมายแบบปูพรมใส่ผู้ชุมนุมเองก็ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับคนในสังคมจำนวนมาก บ็อบเองก็ยอมรับว่า ตัวเขายังรู้สึกกังวลกับกระบวนการที่กำลังจะมาถึง แต่ในเมื่อจำนวนผู้ต้องหายังเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน สิ่งสำคัญในเวลานี้คือการต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

“เมื่อมันโดนแล้ว ก็คิดและกังวลบ้าง มาตรา 112 มันคือความไม่เป็นธรรม ถึงแม้ในสถานการณ์ปัจจุบันมันจะอะลุ่มอล่วย แต่มันก็เรียกผู้ต้องหาเยอะจนแทบไม่เหลือความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายแล้ว บางทีผมก็รู้สึกว่าอัยการอาจจะไม่รับฟ้องก็ได้ แต่ก็ไม่กล้าวางใจซะทีเดียว แต่ไม่อยากจะถึงขั้นลี้ภัย เพราะกรณีของเรายังถือว่าเบาเมื่อเทียบกับน้องแกนนำคนอื่น ๆ ”

“เอาจริง ๆ ผมยังไม่รู้ว่าตัวเองถึงเวลาแล้วจะรับได้แค่ไหน แต่สิ่งที่ทำให้เดินต่อไปได้คือ ความคิดที่ว่า นี่คือสิ่งที่เราเลือกแล้ว ภายนอกเราอาจจะดูเข้มแข็งเพราะตัวผมคิดโดยมีพื้นฐานว่า การออกไปอ่านแถลงการณ์มันคือสิ่งที่เราเลือกด้วยตัวเอง ผลที่ตามมาเราอาจจะคาดเดาไม่ได้ว่ามันจะรุนแรงแค่ไหน แต่ในเมื่อมันคือสิ่งที่เราเลือกก็ต้องจำยอม ถ้าต้องถูกขังขึ้นมาจริง ๆ ก็คงต้องปล่อยให้มันเป็นไป”

“มันก็น่ากลัวถ้าถึงขั้นต้องรับโทษ เพราะมันไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่โดน แต่ยังรวมถึงคนอื่น ๆ ด้วย ตัวผมเองก็อาจต้องเป็นกำลังใจให้กับคนอื่น ๆ ไม่ใช่ว่าท้อแล้วจะไม่มีกำลังใจ”

 

วัชรากร ไชยแก้ว: “เมื่อรัฐไม่สามารถใช้กฎหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัวได้อีกต่อไป”

ในวัย 23 ปี ความฝันของ “ซัน” วัชรากร นักศึกษาปี 3 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการเรียนให้จบและใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้คนที่ถูกผลักจนสุดขอบของสังคมเพียงเพราะความต่างบางอย่าง ซันเท้าความว่า ความมุ่งมั่นของเขาส่วนหนึ่งเกิดจากเมื่อครั้งลงพื้นที่ทำงานร่วมกับองค์กร NGO ท้องถิ่นที่แม่สอด จังหวัดตาก สำรวจประเด็นและภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ การได้เห็นความเป็นอยู่ของเหล่าคนที่ถูกกดทับโดยระบบ กับต่อมาที่ได้เรียนรู้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในอีกหลายๆ โอกาส นำไปสู่ข้อสรุปอย่างหนึ่งนั่นก็คือ ต้นตอสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องชะงักงันนั่นก็คือการที่รัฐขาดประสิทธิภาพในการจัดสรรงบมาเพื่อต่อยอดในการแก้ปัญหา บีบให้ประชาชนต้องหาทางช่วยเหลือกันเอง และตราบใดที่สังคมไทยยังไม่มีรัฐบาลที่ดี วงจรดังกล่าวก็คงจะต้องถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อยไป

จากการตกตะกอนในครั้งนั้นนำพาซันให้ก้าวเข้าสู่แวดวงของนักเคลื่อนไหว เริ่มจากร่วมกันกับเพื่อนจัดตั้งพรรคการเมืองในรั้วมหาลัยเพื่อขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิและสวัสดิการของนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 ก่อนที่ต่อมาจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และกลายเป็นหนึ่งในหัวหอกผู้จัดการชุมนุมแฟลชม็อบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบ #พรรคอนาคตใหม่ แต่หมุดหมายสำคัญที่สุดนั่นก็คือการเข้าไปเป็นหนึ่งในมันสมองของกลุ่ม #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – ศูนย์รวมเหล่าเยาวชนหัวขบถผู้นำพามวลชนก้าวเท้าลงสนามต่อสู้บนท้องถนน ในวันที่ยุคสมัยกำลังโหยหาความเปลี่ยนแปลง

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นเรื่องราวในอดีตไม่กี่เดือนก่อนที่การต่อสู้จะเคี่ยวงวด กระทั่งในวันนี้ที่สมาชิกแนวร่วมฯ หลายรายต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง และนั่นหมายรวมถึงซันที่กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษที่ด้านหน้าสถานทูตเยอรมัน

“เราอยากทำอะไรหลายๆ อย่างให้กับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ การที่อาสาออกไปอ่านแถลงการณ์ แง่หนึ่ง มันเหมือนเป็นการสนับสนุนให้กับการเคลื่อนไหว อีกส่วนก็คือต้องการแสดงออกด้วย ตอนแรกเราตั้งใจเป็นตัวหลักในการอ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ แต่ระหว่างทางก็มีคนอาสามาช่วยอ่าน ก็เลยแบ่งๆ กันทั้งหมด 3 คน”

ถ้อยคำข้างต้นคือความรู้สึกของซันที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ #ม็อบ26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน ในฐานะที่เคยร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งก่อนๆ ซันยอมรับว่าตัวเองก็ประเมินไว้บ้างว่า การแสดงออกในวันนั้น อาจมีราคาบางอย่างที่ต้องจ่าย อย่างไรก็ตาม การที่ต้องกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอย่างมาตรา 116 ควบไปกับมาตรา 112 ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเหนือไปจากสิ่งที่คาดการณ์ไว้ เมื่อรัฐเลือกที่จะกลับไปใช้ยาแรงอีกครั้งเพื่อกดปรามเสียงของประชาชน

“ตอนที่อ่านเสร็จก็คิดว่าเป็นไปได้ที่เราจะถูกโจมตี ก็เตรียมใจไว้บ้าง ช่วงก่อนที่จะรู้ว่าโดนมาตรา 116 เราไปเห็นเอกสารภายในของตำรวจ เป็นบันทึกข้อความที่มีรายชื่อของคนที่อ่านแถลงการณ์ในวันนั้นซึ่งก็มีชื่อของเรา แล้วก็ข้อเสนอให้ดำเนินคดี ถึงตัวเราเองจะไม่ใช่แกนนำ แต่ก็คิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะโดนคดี เพราะเห็นเอกสารก่อน ก็เลยเตรียมใจไว้ระดับหนึ่ง”

“ตอนแรกที่คิด มากสุดก็น่าจะแค่มาตรา 116 เพราะเราไม่ใช่ตัวหลัก เพื่อนเราหลายคนเวลาที่ออกมาเคลื่อนไหวก็มักจะโดนคดี 116 แล้วตอนนั้นยังไม่มีประกาศจากสำนักนายกที่บอกว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตราเพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม พอมีประกาศออกมา ประกอบกับที่เห็นชื่อของตัวเองในเอกสารก็เลยคิดว่า เออ เราก็น่าจะโดนว่ะ”

“คดีนี้เป็นคดีแรกในชีวิต ตอนแรกโดนแค่มาตรา 116 ก่อน ต่อมาเจ้าหน้าที่ถึงแจ้งเพิ่มมาตรา 112 สำหรับเรา มันเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมาย เพราะ 112 มันเหมือนเป็นยาแรงที่ไม่น่าเอามาใช้แล้ว ก่อนหน้าที่เพนกวินกับรุ้งจะโดน มาตรา 112 ตัวกฎหมายมันก็ไม่ได้ถูกเอามาใช้อย่างกว้างขวางเหมือนกับตอนนี้”

เช่นเดียวกับผู้อ่านแถลงการณ์รายอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดี การถูกตั้งข้อหาร้ายแรงไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับจิตใจของผู้ที่กำลังเผชิญกับคดีความ แต่มันยังส่งผลต่อความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัวอย่างไม่มีทางเลี่ยง ในกรณีของซันเองก็ไม่ได้ต่าง สิ่งเดียว ณ เวลานี้ที่พอจะช่วยเยียวยาตัวเขาได้ก็คือกำลังใจจากเพื่อนสมาชิกของแนวร่วมฯ ที่ต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงเช่นเดียวกัน

“แม่เป็นคนโทรมาบอกตอนที่หมาย 112 ถูกส่งไปที่บ้านที่ตรัง ตอนแรกคิดว่าน่าจะเป็นกระบวนการปกติคือส่งหมาย 116 สองรอบ แต่ทีนี้มีเพื่อนเราที่ได้หมาย 116 เหมือนเรา แล้วก็มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมคือ 112 ก็คิดแล้วว่าหรือเราจะโดนนะ เลยโทรกลับไปถามที่บ้านอีกรอบหนึ่ง แล้วก็ให้แม่ช่วยดูข้อหา ก็โอเค โดน”

“ความรู้สึกของครอบครัวคือเขาก็เป็นห่วง แล้วก็น่าจะเครียดด้วยประมาณหนึ่ง นอนไม่หลับ จริงๆ แล้ว ก่อนหน้าที่จะโดนคดี เราเคยคุยกับพ่อแม่เรื่องการเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง พยายามพูดให้เขาเข้าใจ เขาก็เห็นด้วย คิดว่าหลังๆ น่าจะทำใจได้ในระดับหนึ่ง แต่พอเรื่องมันถึงตัวเราแล้ว พอโดนแล้ว เราก็พูดได้แค่ว่า มันเกิดจากการกระทำของเราเอง จะรับผิดชอบเอง ครอบครัวก็ทำได้แค่เป็นห่วงเราเท่านั้น”

“ยอมรับว่าตัวเราเองก็ยังกังวลเรื่องกระบวนการทางคดี แล้วความกังวลตรงนั้นมันก็ส่งผลกับอนาคตที่วางไว้ ในเทอมที่ผ่านมา เราถึงกับต้องดร็อปเรียนเพื่อออกมาเคลื่อนไหว เคยต้องเข้าไปปรึกษากับนักจิตบำบัดเพื่อคุยเรื่องการจัดการความเครียด ก็สบายใจขึ้น แต่หลักๆ วิธีที่เราใช้เยียวยาก็คือการคุยกับเพื่อนๆ ในแนวร่วมฯ ที่โดนคดีเหมือนกัน คอยแลกเปลี่ยนและซัพพอร์ตความรู้สึกของกันและกันตั้งแต่แรกๆ ที่รู้ว่าโดนคดี ทั้งเรื่องจิตใจและเรื่องการเคลื่อนไหวว่าแต่ละคนอยากจะทำอะไรต่อ อยากจะไปอยู่ตรงจุดไหน”

“ถึงจะยังกังวลบ้าง แต่ตอนนี้กำลังใจโอเค วันที่เราไปรับทราบข้อกล่าวหาก็มีรุ่นน้องที่โรงเรียนมาให้กำลังใจ เอาดอกไม้มาให้ กำลังใจมันโอเคขึ้นกว่าตอนที่เพิ่งโดนคดีใหม่ๆ อยากจะใช้ชีวิตตอนนี้ให้ดีที่สุดดีกว่า เราวางแผนไว้ว่าเทอมสองนี้จะกลับไปเรียนอีกครั้ง แต่ก็อาจจะเหนื่อยหน่อยเพราะดร็อปไป”

แม้ในวันนี้ที่อนาคตกลายเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อการต่อสู้ และอิสรภาพถูกวางแขวนไว้บนเส้นด้าย ซันยังคงยืนยันกับศูนย์ทนายฯ ว่า ตัวเขาไม่เคยรู้สึกเสียดายหรือเสียใจกับการตัดสินใจที่ด้านหน้าสถานทูตเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม แม้มันจะสั่นคลอนเส้นทางชีวิตและความหวังที่จะได้ทำงานเพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้อื่น กลับกัน การถูกดำเนินคดีกลับช่วยปลดล็อกความรู้สึกบางอย่าง และหากมองในอีกแง่ ได้ส่องสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของสถาบันฯ และตัวของรัฐเองที่พยายามจะกดเพดานของการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยอำนาจของกฎหมาย ซึ่งก็เสื่อมความขลังลงทุกวัน

“เราไม่เคยเสียดายหรือเสียใจที่เลือกถ่ายทอดเสียงแทนมวลชนในวันนั้น การที่โดนข้อหามาตรา 112 ทำให้บางอย่างในตัวเราถูกปลดล็อก กล้าที่จะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ก่อนหน้านี้ ตอนที่ยังไม่โดนคดี เราเคยกลัว กังวลว่าถ้าทำอะไรไป แล้วเราจะโดนอะไรตามมาไหม มันมีความกลัวอยู่บ้างในนั้น แต่ในวันนี้ที่ถูกปลดล็อก มันกลับทำให้เรากล้าที่จะพูดหรือทำอะไรมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ มันไม่ได้ทำให้เรากลัว หรือทำให้นึกย้อนไปแล้ว เออ วันนั้นกูไม่น่าพูดเลย มันไม่ใช่แบบนั้น แต่มันเป็นอีกอย่าง กลายเป็นว่าเราอยากจะผลักดันมากกว่าเดิม อยากทำอะไรมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

“การที่รัฐบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อกดปราบคนจำนวนมาก มันกลับสะท้อนให้เห็นความไม่มั่นคงของตัวรัฐและตัวสถาบันฯ เอง เพราะว่าเขาจนมุมจนต้องเอากฎหมายที่เป็นยาแรงมาใช้ ถ้าวันหนึ่งเขาเกิดจับเราทั้งหมดเข้าคุกจริงๆ มันจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองของไทยไปเลย เพราะคนจะไม่ยอมอีกต่อไป สิ่งที่เราทำคือแค่ออกไปอ่านแถลงการณ์แต่กลับถูกดำเนินคดี 112 ซึ่งมันเป็นอะไรที่ตลก การเอาข้อหานี้กลับมาใช้ แล้วไม่ได้ใช้แค่ในคนไม่กี่คน แต่มันใช้กับคนหลายๆ คนด้วย มันสะท้อนว่านี่คือฟางเส้นสุดท้ายของเขา เป็นยาเดียวที่เขาจะใช้ได้”

“เราอยู่ในยุคที่คนไม่ได้กลัวมาตรา 112 และการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชนอีกต่อไป ชัดเจนตั้งแต่ตอนที่รัฐใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งคนก็ไม่ได้กลัว ผู้ชุมนุมผ่านมาแล้วทั้งการสลายการชุมนุม การบุกจับแกนนำถึงโรงแรม มันทำให้คนโกรธกว่าเดิมด้วยซ้ำ มันไม่ได้มีความกลัวอยู่ในนั้น ถ้าหลังจากนี้รัฐจะใช้มาตรการอะไรบางอย่างเพื่อสร้างให้เกิดความหวาดกลัว เราเชื่อว่ายังไงคนก็ไม่กลัวอีกแล้ว”

โจเซฟ: “ความโหดร้ายของมาตรา 112 ในวันที่รัฐต้องการสร้างความหวาดกลัวอีกครั้ง

ก่อนหน้าการชุมนุมของกลุ่ม #คณะราษฎร63 ที่ด้านหน้าของสถานทูตเยอรมันเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 “โจเซฟ” เป็นเพียงแค่พนักงานบริษัทด้านความงามทั่วไป อาจเคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองบ้างสมัยปี 2553 ในวันที่กลุ่มคนเสื้อแดงยังคงครองพื้นที่ทั้งบนท้องถนนและสนามการเมืองของประเทศไทย แต่ก็เป็นเพียงแค่มวลชนที่ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากไปกว่านั้น จนเมื่อกระแสการตื่นรู้ระลอกที่ 2 เดินทางมาถึงในปี 2563 พร้อมกับข้อเสนอท้าทายยุคสมัยอย่างการ #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อมวลชนไม่อาจทนเก็บความอัดอั้นที่จะสื่อสารต่อฟากฟ้า โจเซฟที่อยู่ด้านหน้าใกล้กับเวทีปราศรัยของ #ม็อบ26ตุลา จึงขออาสาออกมาเป็นตัวแทนผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ ผลจากการตัดสินใจโดยไม่ได้เตรียมการใดๆ ล่วงหน้าส่งผลให้เขากลายเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมชุดแรกสุดของขบวนที่ถูกตั้งข้อร้ายแรงอย่างการ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
.
กว่าจะมาถึงจุดนี้ โจเซฟเล่าย้อนไปว่า สิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมกับมวลชนเสื้อแดง ส่วนหนึ่งก็เพราะอยากที่จะเห็นความเสมอภาคเกิดขึ้นในสังคม รู้สึกว่าตัวเองมีอุดมการณ์เช่นเดียวกับกลุ่มมวลชน คิดแบบเดียวกัน แต่ด้วยความที่เพิ่งย้ายกลับมาจากประเทศนิวซีแลนด์ไม่นานหลังจากเรียนจบปริญญาตรีที่นั่น บวกกับการงาน ชีวิตในเมืองไทยที่เพิ่งเริ่มต้น ทำให้เขายังไม่กล้าแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างเต็มตัว
.
“แม่ผมพาย้ายไปอยู่ที่นิวซีแลนด์ตั้งแต่ยังเด็กเพราะอยากให้เรามีอนาคตที่ต่างประเทศ ด้วยความที่แม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เราเห็นความยากลำบากของแม่มาโดยตลอดในการเลี้ยงดูเราขึ้นมา จุดนี้มันเลยหล่อหลอมความคิดทางการเมืองของเราในแง่หนึ่ง”
.
หลังจากถูกล้อมปราบด้วยความรุนแรงในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 เรื่องราวการเคลื่อนไหวของผู้ตื่นรู้ระลอกแรกค่อยๆ เลือนจางไปตามยุคสมัยที่ผันผ่าน จนเมื่อประเทศไทยกลับสู่วังวนของการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ภายใต้การชี้นำของ #คสช ต่อเนื่องยาวนานถึงในสมัยรัฐบาลเลือกตั้งที่ คสช. ยังคงกุมอำนาจบริหารไว้เช่นเดิม ความฝันถึงประชาธิปไตยและความเสมอภาคยิ่งถอยห่างจากความเป็นไปได้ เหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ไม่อาจทนต่อสถานภาพดังกล่าวของสังคมจึงเลือกที่จะก้าวออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง ปรากฏการณ์การตื่นรู้ระลอกที่ 2 จึงได้เริ่มขึ้น
.
นับตั้งแต่วันที่ #กลุ่มเยาวชนปลดแอก ประกาศจัดการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงการชุมนุมต่อๆ มาหลังจากนั้น โจเซฟหวนคืนสู่พื้นที่ชุมนุมพร้อมกับความหวังที่ยังไม่มอดดับ กระทั่งจุดเปลี่ยนมาถึงเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ส่งผลให้ทั้งเขาและผู้ชุมนุมรายอื่นรวมทั้งหมด 13 ราย ถูกตั้งข้อหาด้านความมั่นคง กลายเป็นคดีความคดีแรกในชีวิตของชายที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวเองจะต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหาในคดีที่อาจพรากอิสรภาพนานนับ 10 ปี ทว่าที่หนักหนายิ่งไปกว่านั้น นั่นคือการต้องรับมือกับความรู้สึกของคนรอบข้าง โดยเฉพาะครอบครัวที่ฝากความหวังไว้กับตัวเขา
.
“เนื่องจากว่าวันนั้น เราอยู่ข้างหน้าใกล้กับเวทีปราศรัย ด้วยความที่เราเป็นแฟนคลับของ ‘ครูใหญ่’ อรรถพล คอยเดินตามเขามาตั้งแต่สามย่าน เขาก็ประกาศว่า จะมีการอ่านแถลงการณ์ 3 ภาษานะ ตัวเราเองก็เคยคิดอยากที่จะมีส่วนร่วมในขบวนอย่างที่ชอบพูดกันว่า ‘เราทุกคนคือแกนนำ’ เรารู้ว่าเราคงปราศรัยเก่งสู้น้อง ๆ ไม่ได้ แต่มีเรื่องของภาษาอังกฤษที่เรามั่นใจ ณ ตอนนั้น เราคิดว่า คนรู้ภาษาอังกฤษอาจจะมีเยอะในม็อบ แต่จะมีซักกี่คนที่กล้าที่จะออกไปยืนพูดตรงนั้น เราก็เลยขออาสาไปอ่านแถลงการณ์ ผู้จัดเขาก็แบ่งแต่ละท่อนของแถลงการณ์ให้แต่ละคน วันนั้นมีคนอ่านภาษาอังกฤษกันทั้งหมด 3 คน ซึ่งก็โดน 112 กันทั้งหมด 3 คนเลย ปัจจุบันนี้ก็เลยกลายเป็นเพื่อนกันไปแล้ว (หัวเราะ)”
.
“เราอาจจะไร้เดียงสาไปหน่อยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราคิดแค่ว่า สิ่งที่พวกเรากำลังเรียกร้องนั่นก็คือเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ไม่ใช่การล้มล้าง คิดว่าอย่างแย่ที่สุดเราอาจจะโดน พ.ร.บ. ชุมนุมฯ หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการใช้พื้นที่โดยไม่ได้ขออนุญาตชุมนุม มาตรา 112 มันไกลไปจากจินตนาการของเรามากๆ ในเวลานั้น ไม่คิดมาก่อนว่าจะโดน ไม่ได้คาดคิดว่าเราจะตกเป็นเป้าหมายของรัฐ เพราะเราคิดว่า เราแค่อยากมีส่วนร่วม อีกทั้งไม่ใช่แกนนำหลัก ไม่ได้พูดอะไรที่รู้สึกว่าน่าจะเข้าข่ายมาตรา 112 ไม่ได้มีการด่าหรืออาฆาตมาดร้ายตามนิยามของตัว กฎหมาย เราแค่ตั้งคำถามเท่านั้นเอง”
.
“ตอนแรกหมายเรียกมาตรา 116 มาก่อน ตำรวจไปถึงที่คอนโดเราเพื่อให้หมาย แต่เราบังเอิญไม่อยู่วันนั้น เขาเลยไม่ได้ทิ้งหมายไว้ให้ เราเลยไม่รู้ว่าเราได้หมาย 116 จนเมื่อทาง สน. ทุ่งมหาเมฆติดต่อมา พอให้ทางทนายความติดต่อกลับไป มารู้ทีหลังว่าเราโดนมาตรา 112 ด้วย เรื่องมันเกิดหลังจากที่นายกประกาศจะใช้กฎหมายทุกมาตราเพื่อจัดการผู้ชุมนุมเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนไหวทางการเมือง”
.
“สิ่งที่ยากที่สุดในการโดนดำเนินคดีครั้งนี้คือทางหลายคนในบ้านของเราเขาก็ไม่ได้เข้าใจ เพราะมีมุมมองทางการเมือง ทัศนคติ อีกแบบที่ต่างกันกับเรา สำหรับเพื่อนหรือคนรัก เรายังพอกล้าบอกเขา แต่กับแม่ที่อยู่ต่างประเทศ เราไม่กล้าให้เขารู้ ยังปิดไว้อยู่ คิดว่า ถ้าเรารักใครสักคน การให้เขารับรู้อะไรบางอย่างมันก็อาจทำให้เขาเสียใจ และการบอกไปมันก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์มันดีขึ้น เราเลยยังไม่ให้เขารู้ดีกว่า”
.
“ตอนแรกเราพยายามจะปิด ไม่บอกเรื่องนี้กับใครเลย แต่คุยไปคุยมามันก็ปิดไม่อยู่ ที่ปิดไม่ใช่เพราะอาย แต่แค่กลัวคนที่เรารักจะเป็นห่วง มันมีหลายความรู้สึกในนั้น เรากลัวจะทำให้แม่รู้สึกว่าเราไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับเขาได้ เรากลัวเขากังวล กลัวเขาเสียใจ … เราก็เลยขอเก็บไว้กับตัวเอง”
.
ในฐานะคนที่เติบโตขึ้นมาโดยเห็นประจักษ์พยานเป็นความอยุติธรรมนานับประการที่ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ต้องพบเจอ โจเซฟยอมรับว่าตัวเขายังกังวลกับเรื่องทิศทางกระบวนการของคดี กระบวนการใช้กฎหมายที่ปราศจากหลักเหตุและผล ยิ่งในภาวะเช่นนี้ที่ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เริ่มถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ยังยึดเหนี่ยวให้เขาสามารถก้าวต่อไปได้โดยไม่บอบช้ำจนเกินไป นั่นก็คือการได้พูดคุยและสะท้อนความรู้สึกร่วมกันกับผู้ต้องหารายอื่นในคดีเดียวกันนี้
.
“ครั้งแรกตอนที่รู้ว่าโดน 112 เราช็อค ถึงขั้นมือสั่น เราไม่ได้เหมือนกับน้อง ๆ รุ่นนี้ เพราะเราโตมากับการรับรู้ความชั่วร้ายของมาตรา 112 การที่คนโดนไม่สามารถประกันตัวได้ การได้เห็นคนที่ต้องถูกจองจำเป็นสิบๆ ปีเพียงเพราะสเตตัสบนเฟซบุ๊ค มันเป็นตัวกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ พอรู้ว่าโดนก็ค่อนข้างจะเสียใจและกลัว หากจะต้องสูญเสียอิสระ ความกลัวของเรามันยังเชื่อมโยงกับความกลัวว่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการที่ไม่ยุติธรรมด้วย”
.
“ในอดีต กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมือง หลายๆ กรณี มันไม่ได้อยู่บนฐานของเหตุผล อย่างกรณีของไผ่ แค่แชร์ข่าว BBC ก็โดนแล้ว อีกทั้งข้อหานี้มันก็ไม่ได้มีประเทศไหนที่ใช้ เราก็เลยรู้สึกกลัวการถูกพรากอิสรภาพเพียงเพราะแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย”
.
“ย้อนไปเมื่อปี 53 หลังจากที่มีการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ช่วงนั้นมีคนที่ต้องลี้ภัยเป็นสิบๆ คน จากกรณี 112 หลายคนพอได้พูดคุยกับเขา เขาไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เขาทำมันเป็นเรื่องที่ผิด ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษา แต่เขารู้ว่าการโดน 112 มันไม่สามารถพาเขาเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมจริงๆ เขารู้ว่าการโดน 112 ยังไงก็คือต้องติดคุกอย่างเดียว ต้องรับสารภาพอย่างเดียว เพราะคุณไม่สามารถประกันตัวออกมาสู้คดีได้”
.
“หลังจากที่โดนคดี ผมจะมีเพื่อนคนหนึ่งอายุไล่เลี่ยกันที่โดน 112 เหมือนกัน เราจะคุยกับเขาแล้วก็แชร์ความรู้สึกนึกคิด ความกลัว ความรู้สึกที่ขึ้นๆ ลงๆ เป็นการพึ่งพากัน เพราะต่างคนต่างเข้าใจสิ่งที่แต่ละคนกำลังเผชิญ การได้ไปคุยกับน้อง ๆ ก็ช่วยในเรื่องของความรู้สึก เรามองว่าเขาเป็นฮีโร่ของเรา โดยเฉพาะการที่ยังมีความกล้าหาญและไม่ได้หวาดกลัวมาตรา 112 แง่หนึ่งมันช่วยสร้างแรงบันดาลใจ สร้างพลังในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้”
.
เมื่อจะจบบทสนทนา โจเซฟได้ทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกของเขาต่อประเด็นเรื่องที่รัฐหันกลับมาใช้มาตรา 112 อีกครั้งเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ความรู้สึกขอบคุณที่มีต่อนักสู้ที่กล้าออกมาสื่อสารในจุดยืน แม้ในวันที่สังคมยังไม่พร้อมที่จะรับฟัง และความต้องการสำคัญ นั่นคือการได้เห็นประเทศไทยในวันที่ปราศจากการใช้กฎหมายที่กดทับเสรีภาพของประชาชน
.
“ก่อนหน้าที่เราจะโดน 112 เอง เราเคยมองว่าพวกผู้ลี้ภัยทางการเมืองเขาเป็นฮีโร่ และเราก็เห็นใจและขอบคุณในสิ่งที่เขายอมเสียสละให้กับคนรุ่นต่อไป ยิ่งวันนี้ที่เราต้องมาเจอกับตัวเอง เรายิ่งเข้าใจคนพวกนี้มากกว่าเดิม เราคงไม่สามารถเทียบตัวเองกับพวกเขาได้ เพราะเรายังไม่ถึงขั้นต้องลี้ภัย แต่ก็เข้าใจในความยากลำบากที่ต้องเจอ ก็เลยอยากให้การใช้มาตรา 112 มันหยุดที่รุ่นของผม เพื่อที่ในอนาคต คนรุ่นลูกรุ่นหลานเราจะไม่ต้องหันมามองแล้วคิดว่า ประเทศเราปล่อยให้มีการใช้กฎหมายป่าเถื่อนอย่างนี้ได้อย่างไร เชื่อว่าวันนั้นจะต้องมาถึงไม่ช้าก็เร็ว”
.

แอน: “ชีวิตผกผันเมื่อถูกตั้งข้อหา 112 และราคาของความอยุติธรรมที่ต้องแลก”

“Nieder mit dem Feudalismus, lang lebe das Volk”

ถ้อยประโยคข้างต้นเป็นคำแปลภาษาเยอรมันของ “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” – ประโยคถ้อยสะท้อนการต่อสู้ของมวลชน #คณะราษฎร63 และความหวังถึงสังคมที่เท่าเทียมของพวกเขา ถูกระบุทิ้งท้ายไว้ในแถลงการณ์ภาษาเยอรมันซึ่งถูกอ่านที่ด้านหน้าสถานทูตเยอรมันในการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564

ในจำนวนผู้อ่านแถลงการณ์ภาษานี้ทั้ง 4 ราย “แอน” (นามแฝง) คือคนที่เรียนและใช้ภาษาเยอรมันมายาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับรายอื่น เธอจึงรับหน้าที่ถ่ายทอดเนื้อความในส่วนที่ออกเสียงค่อนข้างยาก รวมถึงประโยคส่วนท้ายนี้ด้วย

ปัจจุบัน แอนทำงานเป็นพนักงานระดับสูงในบริษัทด้านพลังงานแห่งหนึ่งบนถนนสาทร เมื่อครั้งยังวัยรุ่น เธอเคยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเยอรมันหนึ่งปี ผลจากการตัดสินใจทำให้ จากเด็กที่เคยเรียนสายวิทย์ แอนเลือกที่จะเบนเข็มไปเรียนภาษาเยอรมันเป็นวิชาหลัก จนกระทั่งได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาภาษาเยอรมัน

หลายปีก่อนหน้าการต่อสู้ของมวลชนคณะราษฎร แอนยอมรับว่าตัวเธอเองก็ไม่ได้แตกต่างจากชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ทั่วไปที่เลือกยืนข้างมวลชน #กปปส ในสมัยที่หลักการประชาธิปไตยถูกมองด้วยสายตาวิพากษ์วิจารณ์ จุดเปลี่ยนเล็กๆ ทางความคิดของแอนเริ่มมาจากการที่สังเกตเห็นมาตรการบางอย่างของ กปปส. ที่เข้ามาก้าวก่ายชีวิตของเธอและใครหลายๆ คน

“เนื่องจากว่าเราทำงานอยู่แถวสาทร มันมีมาตรการบางอย่างของม็อบที่เรารู้สึกว่ามันคุกคามเราและคนอื่น อย่างเช่นเวลาที่ต้องขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินทุกครั้ง จะต้องมีการ์ดมาคอยตรวจค้นกระเป๋า ซึ่งเขาไม่มีสิทธิมาทำแบบนั้น ทำให้การเดินทางที่ควรจะสะดวกกลายเป็นไม่สะดวก เริ่มรู้สึกไม่โอเค แล้วก็เริ่มลามไปตั้งคำถามกับเรื่องอื่นๆ จนเพื่อนแนะนำให้เราหาอะไรที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอ่าน พอตื่นรู้ก็คิดได้ว่าเราคงจะไม่กลับไปเชื่ออะไรเหมือนเมื่อก่อนอีก (หัวเราะ) ”

สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ที่ด้านหน้าสถานทูตฯ แอนเล่าย้อนไปว่า ในตอนแรกเธอคิดแค่ว่าจะไปร่วมในฐานะของมวลชนแต่เพียงอย่างเดียว ด้วยความที่ที่ทำงานใกล้กับสถานที่ชุมนุม เลยอยากจะแวะไปเพื่อสังเกตการณ์ ตัวเธอเองก็ไม่ใช่ขาประจำม็อบ เคยเข้าร่วมเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากติดภาระทางการงาน จนกระทั่งเพื่อนของแอนติดต่อมา เล่าว่าทางผู้จัดการชุมนุมประกาศในทวิตเตอร์ว่าต้องการคนที่จะขึ้นมาอ่านแถลงการณ์ทั้งหมด 3 ภาษา ความกล้าหาญที่วาบขึ้นมาในฉับพลันทันด่วนทำให้เธอติดต่อไปหาผู้จัด และขออาสาก้าวขึ้นไปเป็นตัวแทนเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของมวลชน

เธอยอมรับว่า การตัดสินใจที่ด้านหน้าสถานทูตฯ เป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างกะทันหัน และไม่ได้คิดถี่ถ้วนเกี่ยวกับผลกระทบทางกฎหมายที่อาจตามมา หรือกระทั่งความเสี่ยงที่อาจจะโดนมาตรา 112 สิ่งเดียวที่รบกวนจิตใจภายหลังจากอ่านแถลงการณ์จบคือความกังวลเรื่องเพื่อนร่วมงานที่อาจจะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างไปจากตัวเอง ซึ่งหากมีคนรู้ว่าเธอเข้าร่วมในการชุมนุม คิดว่านั่นน่าจะส่งผลกระทบกับสังคมออฟฟิศ

“ถึงทางบริษัทจะมีนโยบายว่าสามารถแสดงออกทางการเมืองได้ในนามของตัวเองได้ แต่เราไม่อยากให้คนในองค์กรเดียวกัน ที่อาจจะคิดไม่เหมือนกับเรา รู้ว่าเป็นเราที่ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ เราเป็นคนเดียวในกลุ่มคนอ่านที่เลือกปิดหน้าปิดตา ใส่หน้ากากผ้า แล้วก็ขอหมวกกันน็อคของการ์ดมาใส่เพื่อพรางตัว แต่ทั้ง ๆ ที่เราทำขนาดนี้ รัฐยังอุตส่าห์ตามตัวเราเจอเลย (หัวเราะ) ”

“ตอนที่อ่านเราไม่ได้คิดหรือกังวลว่าจะมีคดีความตามมา เพราะเราเชื่อมั่นมากว่าสิ่งที่เราทำเป็นการใช้สิทธิที่ให้ไว้ตามรัฐธรรมนูญ คนเราควรจะสามารถแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้ อีกอย่างเรารู้สึกว่ามันเป็นแค่จดหมายฉบับหนึ่ง เราแค่ไปอ่าน ไม่ได้เป็นคนเขียน หน้าที่ของเราคือถ่ายทอดเนื้อหาในจดหมายเพียงเท่านั้น”

ผลจากการอ่านแถลงการณ์ทำให้แอนและผู้ชุมนุมอีก 13 ราย ถูกตั้งข้อหาหนักตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา แน่นอนว่าการถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมไม่ได้ส่งผลแค่ตัวของแอนเอง แต่กับครอบครัวเองก็ได้รับผลกระทบในหลายๆ แง่ โดยเฉพาะทางด้านของจิตใจ แต่ในเวลานี้เมื่อทุกอย่างล่วงผ่านมาจนอีกแค่เพียง 3 วันก่อนที่เธอจะเดินทางไปฟังคำสั่งฟ้องของอัยการ ซึ่งมีท่าทีว่าจะฟ้องคดี และอาจจะต้องถูกฝากขังระหว่างพิจารณา ความกังวลที่ควบแน่นมานานหลายเดือนแม้จะไม่คลี่คลาย แต่ก็ไม่ได้ทิ่มแทงอย่างที่เคย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แอนและครอบครัวก็พร้อมที่จะรับมือกับอนาคตเบื้องหน้าที่แทบจะไม่มีความแน่นอนใดๆ

“สิ่งที่หนักหนาในความรู้สึกมากที่สุดภายหลังจากที่ถูกดำเนินคดีก็คือ เรากลัวว่าพ่อแม่จะรู้เรื่องคดีที่เราโดน ตอนแรกพยายามที่จะปิดไม่ให้เขารู้ แต่เพราะสื่อเอาชื่อเราไปเผยแพร่ แล้วมีคนเอาเรื่องเราไปบอกพ่อกับแม่ กลายเป็นว่าเขารู้เรื่องนี้จากคนอื่นที่ไม่ใช่เรา”

“พอนึกย้อนก็จำได้ว่าเครียดมากเรื่องครอบครัว เกิดจากการที่เราไม่รู้ว่าจะอธิบายเรื่องนี้กับพ่อแม่ยังไง กินข้าวอะไรไม่ลง พอเขารู้ก็เหมือนยกภูเขาออกจากอก แต่ยังไงความเครียดมันก็ยังมี ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราต้องจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง”

“พอเขารู้ ก็โดนตำหนิเล็กๆ พูดทำนองว่าเหมือนเขาเคยบอกแล้วใช่ไหม อะไรอย่างนี้ ด้วยความที่เรากับครอบครัวเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง แต่เขาก็ไม่ได้ซ้ำเติมอะไรมาก เพราะเขาเองก็เครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา จนถึงตอนนี้ คุณแม่เขาก็พยายามช่วยเต็มที่ เขาเป็นข้าราชการบำนาญ ก็คุยกับเราว่า วันที่ฟังคำสั่งฟ้อง ถ้าถูกเอาไปฝากขัง เขาจะช่วยยื่นประกันตัวเราได้ไหม แต่เราก็ยังไม่แน่ใจว่ากับคดีการเมืองมาตรฐานในเรื่องการประกันตัวจะยังไง”

“ตั้งแต่วันที่เรารู้ว่าตัวเองโดนคดี จนถึงวันนี้ก็หลายเดือน ความรู้สึกตอนนี้ยังตุ้มๆ ต่อมๆ มันมีผลกระทบกับตัวเราอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อ 20 ปี ก่อนตอนที่เราไปเรียนที่เยอรมัน พอกลับมาไทย น้ำหนักขึ้นมา 10 กิโล ลดกลับมาได้มากสุดก็แค่ 2 – 3 กิโล เราเคยเป็นคนที่ชอบกิน จนพอมาโดนคดี น้ำหนักเรากลับมาเท่าเดิมกับก่อนที่จะไปเรียนสมัยวัยรุ่น ตอนนี้คือผอมลงไปเยอะเลย (หัวเราะ) ”

“ความรู้สึกตอนนี้มันมีหลายเฉดมาก เราพยายามบอกตัวเองว่า เราไม่ได้ทำความผิดอะไร บางวันที่เครียดมากๆ ก็ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการจมอยู่กับงาน การทำงานสำหรับเรามันคือการเยียวยาอย่างหนึ่ง พยายามคุยกับเพื่อนที่รู้ว่าเรากำลังเจอกับอะไร ซึ่งเขาก็คอยให้กำลังใจ บอกตัวเองว่าไอ้เรื่องพวกนี้มันคงทำร้ายเราได้เท่านี้แหละ”

“ความเครียดมันไม่ได้หายไปไหน แต่แค่ยังไม่ถึงระดับที่ต้องพึ่งพานักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ ยังอยู่ระดับที่ยังสามารถจัดการความรู้สึกได้ แต่ยังมีความกังวลตรงที่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จะต้องสูญเสียอิสรภาพไหม ประมาณนั้น”

หากลองย้อนดูการพิจารณาคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุคของ #คสช หลายคดี ผู้ต้องหาจำนวนมากถูกบีบให้ต้องรับสารภาพ เนื่องจากการถูกฝากขังอย่างยาวนานโดยไม่ได้ประกัน แม้ว่าศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาก็ตาม สำหรับแอน เมื่อรับรู้ถึงข้อเท็จจริงข้างต้น เธอจึงเริ่มกระบวนการเตรียมความพร้อมหากต้องถูกฝากขัง ทั้งเรื่องบ้านและรถที่ยังต้องผ่อน การศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตในเรือนจำ และเรื่องของงานที่เธอยังเป็นห่วงมากกว่าเรื่องอื่นๆ

“ถึงตอนนี้คงจะทำธุรกรรมทางการเงินอะไรไม่ทัน ก็ได้แต่ฝากน้องชายให้ช่วยเรื่องผ่อนบ้านกับรถต่อ หากฉุกเฉินจริงๆ เราก็ต้องขอความช่วยเหลือกับทางครอบครัว”

“เราพยายามเคลียร์งานในมือให้มากที่สุด ถ้าเราต้องถูกควบคุมตัวจริงๆ น้องในทีมจะได้สามารถทำงานแทนเราต่อไปได้ แต่ยังไม่ได้แจ้งทางฝ่ายบุคคลหรือหัวหน้างาน เพราะเรายังกังวลว่าถ้าบอกไปแล้ว มันจะกระทบกับตำแหน่งของเราไหม”

“อีกส่วนที่เตรียมการไว้ก็คือ หนังสือแสดงเจตจำนงชี้แจงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เราชี้แจงไปว่า คดีความที่เกิดขึ้นกับเรา ถึงเราจะถูกควบคุมตัว แต่เรายังไม่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดนะ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา อยากให้บริษัทรู้เอาไว้ว่า การกระทำแบบนี้ของรัฐไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และจากนโยบายต่างๆ ของบริษัทได้รับรองเรื่องการแสดงออกของบุคคล เราไม่ได้ทำกิจกรรมนี้ในเวลางาน ขอให้องค์กรได้พิจารณาเพื่อที่จะคงสถานภาพการเป็นพนักงานให้กับเราและขอใช้สิทธิลาแบบไม่รับเงินเดือนไป”

“หนังสือชี้แจงเรายังไม่ได้ยื่นกับทางบริษัท แต่กะจะฝากเพื่อนร่วมงานให้ยื่นให้ กรณีที่เราถูกฝากขัง”

“นอกจากเรื่องงานกับทรัพย์สิน เราก็พยายามศึกษาเรื่องชีวิตในเรือนจำด้วย วันก่อนในแอปพลิเคชัน Clubhouse มีห้องที่คนที่เคยกลายเป็นผู้ต้องขังเขามาแบ่งปันเรื่องประสบการณ์และชีวิตข้างใน ฟังเสร็จแล้วเราก็จิตตก แต่ก็คิดว่าในฝั่งของผู้หญิงน่าจะไม่โหดเท่าในฝั่งของผู้ชาย ของผู้หญิงน่าจะเป็นเหมือนกับโรงเรียนคอนแวนต์ คือคนส่วนใหญ่ที่เขาเข้ามาเล่าประสบการณ์มักจะเป็นผู้ชาย ซึ่งข้างในมันยากลำบากมาก ก็ได้แต่หวังว่าของฝั่งผู้หญิงจะไม่ถึงระดับนั้น ถ้าเราต้องเข้าไปจริงๆ”

กระทั่งวันนี้ที่รัฐพยายามปลุกผี 112 ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อกดทับเพดานการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน แอนสะท้อนความรู้สึกของเธอ จุดผกผันในชีวิตของพนักงานออฟฟิศที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง การที่กฎหมายถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความหวาดกลัวมากกว่าการธำรงความยุติธรรม และที่น่ากลัวที่สุดคือความต้องการของรัฐที่พยายามกดปราบความเห็นต่าง เมื่อรู้ว่าความหวาดกลัวคืออาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการกับประชาชน

“มาตรา 112 ในความรู้สึกคือเป็นกฎหมายที่มีความคลุมเครือ แล้วก็ไม่แฟร์ เอาไว้ใช้กลั่นแกล้ง จนวันนี้ที่เรามาโดนเองก็รู้สึกว่า มันเป็นมาตราที่หาเหตุผลอะไรไม่ได้ เราเชื่อว่าหลายปีที่ผ่านมา คนในสังคมก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน”

“การที่รัฐเอามาตรานี้กลับมาใช้เพื่อปิดปากประชาชน เหมือนว่าต้องการสร้างให้เกิดความกลัว ต้องการเชือดไก่ให้ลิงดู พอมันเกิดขึ้นกับเรา เอาจริงๆ มันก็ได้ผลในระดับหนึ่ง เพราะว่าเราเองก็ไม่ได้เตรียมใจที่จะมาติดคุก ความกลัวไม่ได้อยู่แค่เรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว แต่บางทีเราก็คิดไปถึงครอบครัวและคนรอบข้าง พ่อแม่เรา ญาติ เพื่อน กลัวว่าเขาจะโดนรังควานหรือเปล่า เพราะพอเราคุยกับคนอื่นที่เขาออกมาเคลื่อนไหวจริงจัง บางทีก็โดนคุกคามทางไลน์ หรือว่ามีเจ้าหน้าที่มาเฝ้าที่หน้าบ้าน กลายเป็นกลัวว่าคนรอบข้างเราจะไม่ปลอดภัยไปด้วย”

 

ขอบคุณรูปประกอบจาก ประชาไท

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563

แจ้งข้อหา ม.112 ปชช.-น.ศ.-นักกิจกรรม 9 ราย ผู้อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี

แจ้งข้อหา 112 ครูใหญ่-นิสิต-ศิษย์เก่าอักษรฯ จุฬา อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี

บทบัญญัติที่ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย: ย้อนดู ม.112 ในสายตากลไกสิทธิมนุษยชน UN

 

X