แถลงการณ์เรียกร้องให้ตรวจสอบและยุติการควบคุมตัวทิวากร กรณีสวมเสื้อเราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว

ตามที่สำนักข่าวประชาไทได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวนายทิวากร วิถีตน จากบ้านพักในจังหวัดขอนแก่น ไปยังโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และได้ยึดโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และเสื้อยืดนายทิวากรไป พร้อมทั้งวางกำลังไว้เฝ้าโรงพยาบาลไว้  โดยก่อนหน้าการควบคุมตัวในวันเกิดเหตุได้มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาพูดคุยขอให้เลิกใส่เสื้อยืดดังกล่าวที่บ้านพักหลายคราว

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเชียงคานได้นำตัวนายเกรียงไกร สิงห์หฬ ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรเชียงคาน จากเหตุตั้งภาพนายทิวากรสวมเสื้อยืดข้อความดังกล่าวเป็นภาพปก (cover) ในเฟซบุ๊ก โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองจากการใช้อำนาจรัฐและจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก มีความห่วงกังวลถึงปฏิบัติการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐว่าอาจเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล ในประเด็นดังต่อไปนี้

            1. ข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” มิใช่ข้อความอันจะเข้าข่ายการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ตามมาตรา 112  หรือ ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และไม่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงตามมาตรา 14 พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 การดำเนินการใดๆ ต่อบุคคลที่ใส่เสื้อยืดหรือโพสต์ภาพซึ่งมีข้อความดังกล่าว จึงไม่อาจเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินคดีได้

            2. ทิวากรยังอยู่ในภาวะปกติ สามารถสื่อสารพูดคุยอย่างมีสติสัมปชัญญะ ไม่ได้มีลักษณะที่อยู่ในภาวะอันตรายที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น หรือมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา ขาดความสามารถในการให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษา และต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว อันจะเข้าองค์ประกอบที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจบังคับบุคคลไปบำบัดรักษาตามมาตรา 22 ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551

            ดังนั้นการนำตัวบุคคลไปบำบัดรักษาในกรณีนี้จึงต้องอาศัยความยินยอมของบุคคลดังกล่าวเอง ตามมาตรา 21 ไม่ใช่ความยินยอมของญาติหรือบุคคลอื่น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต้องใช้เจ้าหน้าที่ถึงหกรายในการอุ้มทิวากรมาขึ้นรถ การนำตัวทิวากรมายังสถานบำบัดจึงไม่ใช่ความยินยอมของทิวากร อีกทั้งการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปพบทิวากรที่บ้านหลายครั้งตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนเพื่อขอให้เลิกใส่เสื้อ และวันที่เกิดเหตุได้นำกำลังรถไปเกือบสิบคันโดยญาติมิได้ร้องขอ ย่อมอาจทำให้ญาติของทิวากรไม่กล้าที่จะแสดงเจตนาที่แท้จริงในการยินยอมให้ควบคุมตัวทิวากรได้ และเมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวทิวากรมายังสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นยังสับเปลี่ยนกำลังในการเฝ้าสถานพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง พฤติการณ์ดังกล่าวจึงไม่อาจเชื่อได้ว่าเป็นกระบวนการรักษาปกติโดยอาศัยความยินยอมของทิวากร

            3. กรณีการควบคุมตัวทิวากรดังกล่าว นอกจากจะไม่ปรากฏเหตุจำเป็นหรือการร้องขอให้บำบัดรักษาแล้ว หากกระบวนการดังกล่าวเป็นไปเพื่อการบำบัดรักษาจริง ก็ไม่จำเป็นต้องยึดโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเสื้อยืดของทิวากรไป เพราะไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการรักษา ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563  พล.ต.ต.พุฒิพงศ์ มุสิกูล ผู้บังคับการตำรวจภูธร (ผบก.ภ.จว.) จังหวัดขอนแก่น ชี้แจงผ่านสำนักข่าวบีบีซีไทย ว่าการควบคุมตัวทิวากรนั้น “เป็นเรื่องทางการแพทย์และมีการนำตัวไปรักษาตามช่องทางทางการแพทย์”  และไม่มีการดำเนินคดีกับทิวากร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การเข้าไปค้นและยึดสิ่งของโดยปราศจากหมายและปราศจากคดีนั้นเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะอ้างเหตุทางการแพทย์ก็ตาม

 

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการนำกระบวนการทางการแพทย์มาใช้ผิดวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมตัวบุคคลตามอำเภอใจ (Arbitrary detention) อันเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้นเกิดขึ้นหรือดำเนินต่อไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทั้งวงการสาธารณสุขและกระบวนการยุติธรรม และเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามพันธกรณีในข้อบทที่ 9 ข้อบทที่ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สภ.เมืองขอนแก่นและสภ.เชียงคานว่าปฏิบัติการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขอให้เจ้าหน้าที่ยุติการกระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอาจเข้าข่ายการคุกคามประชาชน และยุติการควบคุมตัวทิวากรในทันที

X