ศาลเลื่อนนัดสืบพยานคดี MBK39 แกนนำ เริ่มสืบปากแรก 5 มิ.ย.62

ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดสืบพยานโจทก์คดี MBK แกนนำ แต่จำเลยสามคนไม่มาศาลและขอสืบพยานลับหลัง ศาลจึงเลื่อนสืบพยานโจทก์เป็น 5 มิ.ย.62  ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลให้จำหน่ายข้อหาฝ่าฝืนการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 เนื่องจากถูกยกเลิกไปแล้วตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/61 แต่ศาลยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี ที่ได้กระทำไปก่อนการที่จะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งนี้

วันนี้(4 มิ.ย.62) ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดสืบพยานโจทก์คดี MBK39 (แกนนำ) ซึ่งคดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 9 คน โดยในวันนี้มี วีระ สมความคิด, ณัฏฐา มหัทธนา,อานนท์ นำภา,และสมบัติ บุญงามอนงค์ และเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล มาตามที่ศาลนัด แต่จำเลยสามคน คือ รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, และเอกชัย หงส์กังวาน ไม่มาศาลเนื่องจากติดภาระกิจ และไม่ได้มีคำร้องหรือคำแถลงยืนยันขอพิจารณาลับหลังจำเลยในก่อนหน้านี้ มีเพียงคำร้องขอพิจารณาลับหลังที่ยื่นมาในวันนี้ของทนายจำเลย ศาลจึงเห็นควรให้สอบจำเลยที่ โรม,สิรวิชญ์ และเอกชัยอีกครั้ง ก่อนดำเนินคดีพิจารณาลับหลัง และเพื่อให้ศาลได้ชี้แจงเกี่ยวกับสิทธิของจำเลยในการพิจารณาลับหลังด้วย

จากนั้นทนายความได้แถลงต่อศาลถึงกรณีที่จำเลยไม่สามารถมาศาลได้ว่าในส่วนของโรม ปัจจุบันเป็น สส.พรรคอนาคตใหม่ จึงติดภารกิจในการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ ส่วนสิรวิชญ์และเอกชัยถูกทำร้ายร่างกายได้บาดเจ็บ จนต้องฟักฟื้นและรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นสาเหตุให้ไม่สามารถมาตามที่ศาลนัดได้ และจะพาตัวจำเลยทั้งสามมาศาลในวันพรุ่งนี้ แต่หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถมาศาลได้ ก็จะให้ทำคำแถลงยืนยันการรับรู้ถึงสิทธิของตนและข้อเสียของการไม่มาฟังเบิกความของพยาน ด้านโจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันพรุ่งนี้ (5 มิ.ย.62) เวลา 09.00-16.30 น.

ทั้งนี้โจทก์ได้แถลงต่อศาลว่าพยาน พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา ที่จะสืบเป็นปากแรกในวันนี้ ไม่สามารถมาเบิกความตามที่ศาลนัดได้ในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากติดราชการ และจะยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานมาในนัดต่อไป พร้อมกับขอสืบพยานโจทก์ 5 ปาก เป็นพยานลำดับที่ 2 ถึงลำดับที่ 6 โดยมี ส.อ. ศราวุธร ดวงแก้ว,พ.ต.ท.สุรศักดิ์ เลิศไกร เจ้าหน้าที่ผู้แฝงตัวในการชุมนุม, นวพร กลิ่นบางบัว เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตปทุมวัน,ประภาส เหลืองศิรินภา เจ้าหน้าที่สำนักงานวิศวกรรมจราจรและขนส่ง, บดีศร เผ่าสุทอ ทนายความ ซึ่งเบิกความในประเด็นเกี่ยวกับความเห็นในการตีความข้อความปราศรัย

นอกจากนี้ทนายจำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เนื่องจากถูกยกเลิกไปแล้ว แต่โจทก์แถลงค้านว่า เนื่องจากประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 นั้นมีข้อยกเว้นในข้อ 2 ว่าการยกเลิกประกาศและคำสั่งตามข้อ 1 ซึ่งรวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 ซึ่งห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปนั้น ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการหรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการที่จะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งนี้ ศาลพิเคราะห์คำร้องประกอบคำแถลงของโจทก์แล้วเห็นด้วยกับคำแถลงของโจทก์ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของทนายจำเลย

สำหรับประเด็นซึ่งศาลยกคำร้องขอให้จำหน่ายฐานความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ว่า “การระบุให้การยกเลิกประกาศและคำสั่งไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้ ยังก่อให้เกิดความคลุมเครือในการตีความและเป็นภาระในการต่อสู้คดีของจำเลย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า จะต้องยึดหลักการตามมาตรา 2 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งรับรองหลักไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย (Nullum Crimen Nulla Poena Sene Lege) อันเป็นหัวใจของกฎหมายอาญาว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” นอกจากนี้ ในวรรค 2 ของมาตราเดียวกันยังกำหนดอีกว่า ถ้าหากมีกฎหมายบัญญัติขึ้นในภายหลังให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ก็ให้ผู้กระทำความผิดนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด หรือหากถ้าขณะนั้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษเเล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด หรือหากได้รับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตามภายหลังจากการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมต่างทยอยจำหน่ายคดีหรือยกฟ้องจำเลยซึ่งถูกฟ้องตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 รวมถึงคดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร ที่ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายในคดีว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 61 ได้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ซึ่งในข้อ 1 (7) ได้ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ จึงเป็นกรณีของบทบัญญัติกฎหมาย ที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งห้าไม่เป็นความผิด จึงเป็นเหตุยกฟ้องคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรค 1

ทั้งนี้ 9 คน ถูกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากกรณีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง หรือคดี “MBK39”

X