ประวิตร โรจนพฤกษ์ ยื่นคำให้การคดี 116 คดีที่สองพร้อมพยานนักวิชาการ

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ยื่นคำให้การคดี 116 คดีที่สองพร้อมพยานนักวิชาการ

(จากซ้ายไปขวา) ผศ.สาวตรี สุขศรี, ประวิตร โรจนพฤกษ์, รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, และ ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล

20 ต.ค. 2560 ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ (Khaosod English) ยื่นคำให้การเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนในคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 คดีที่ 2 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 5 ข้อความ พร้อมนำนักวิชาการเข้าให้การเป็นพยานในคดียุยงปลุกปั่นทั้งสองคดี

13.00 น. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประวิตรพร้อมทนายความเดินทางไปยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรในคดีที่ พ.ต.ท.กังวาล ศรีวิไล สว.กก.3 บก.ปอท. แจ้งความกล่าวหาว่า การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวของประวิตรจำนวน 5 ข้อความ ระหว่างวันที่ 21-29 กรกฎาคม 2560 โดยจากเนื้อหาแยกเป็น 2 ข้อความที่โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีก 2 ข้อความเป็นการแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดการปัญหาน้ำท่วมภาคอีสานของ คสช. และอีก 1 ข้อความเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีผู้สื่อข่าวที่เข้าไปตรวจสอบโกดังเก็บข้าวที่อ่างทอง และถูกเจ้าหน้าที่ทหารข่มขู่จะยึดกล้อง เป็นข้อความอันเป็นเท็จที่อาจทำให้ประชาชนที่พบเห็นเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อการปกครองของรัฐบาลปัจจุบัน (คสช.) หรือหัวหน้าคณะรัฐบาลปัจจุบัน และก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศได้ ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

คำให้การของประวิตรระบุว่า เขาเปิดใช้เฟซบุ๊กมาตั้งแต่ปี 2556 ก่อนจะมีการรัฐประหารของ คสช. ไม่ได้เพิ่งสร้างบัญชีเฟซบุ๊กขึ้นมาเพื่อโพสต์เกี่ยวกับ คสช. โดยเฉพาะ เฟซบุ๊กข้าพใช้ชื่อจริงนามสกุลจริง  รูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กก็เป็นรูปจริงของเขา สามารถยืนยันตัวบุคคลได้ชัดเจน พร้อมตั้งค่าบัญชีเฟซบุ๊กเป็นสาธารณะ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กโดยโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีสิ่งใดต้องปิดบัง

ผู้สื่อข่าว Khaosod English เปิดเฟซบุ๊กขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่แสดงออกความคิดเห็นและเรียนรู้ร่วมกัน บนพื้นที่ของโลกสมัยใหม่เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และอื่นๆ เน้นการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ นโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย เช่น ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนกับนโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดในยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร , เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้น

สาเหตุที่ประวิตรโพสต์หรือแสดงความคิดเห็น ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลต่างๆ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและที่มาจากการรัฐประหาร เนื่องจากการดำเนินงานของรัฐบาลมีผลกระทบไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบต่อสังคมโดยตรง รัฐบาลได้รับเงินเดือนมาจากภาษีประชาชน ในฐานะพลเมืองของรัฐและผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ในการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง ที่ออกมาตรการ กฎ หรือคำสั่ง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยิ่งต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากขึ้น  และเขาเชื่อว่าจะปกป้องสิทธิเสรีภาพได้ก็ต่อเมื่อเราหมั่นใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้นๆ ไม่ว่าจะผ่านสื่อ เฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ  และยิ่งไปกว่านั้นนอกจากบทบาทของพลเมืองแล้ว บทบาทหน้าที่สื่อหรือนักข่าวที่นำเสนอเรื่องราวต่างๆต่อสังคมก็มีความสำคัญไม่หยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะนอกจากจะนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ควรต้องตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่ตนเองรับผิดชอบและสนใจด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้สังคมเกิดความตระหนักต่อปัญหาและให้เกิดความรับรู้ที่ถูกต้อง

ประวิตรยืนยันว่า การโพสต์หรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทั้งหมดของเขาอยู่บนหลักการและเหตุผล ใช้ถ้อยคำที่สุภาพ เน้นการเรียนรู้ร่วมกัน รังสรรค์สังคมด้วยความรัก ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบ สร้างความเกลียดชัง หรือยุยงสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงในสังคม และตั้งอยู่บนพื้นฐานการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่กติการะหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้

สำหรับข้อความที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทั้ง 5 ข้อความนั้น ประวิตรเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต กระทำภายในกรอบความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อความผิดกฎหมาย หรือส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และไม่ได้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2), (3), และ (5) แต่อย่างใด ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ข้อความที่ 1

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2560  เวลา 17.34 น.  ที่โพสต์ว่า “คดียิ่งลักษณ์ถือเป็นการวัดใจทั้งฝั่งผู้ยึดอำนาจและเสื้อแดง หากติดคุกอาจเกิดปรากฎการณ์เยี่ยมคุกทุกวันโดยประชาชนจำนวนมากแบบไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ แล้วอาจนำไปสู่สิ่งที่คาดเดายากสำหรับชนชั้นนำและเผด็จการทหาร งานนี้ยิ่งกว่าเก้าเก #ป #ยิ่งลักษณ์ #แดง ฯ

ประวิตรรับว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นของเขาจริง สาเหตุที่โพสต์ข้อความนี้เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว อันเป็นโครงการที่เกี่ยวพันมีผลกระทบต่อคนจำนวนมากโดยเฉพาะเกษตรกร สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความสนใจจับตาการพิจารณาคดีและการเคลื่อนไหวทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมได้ออกรายงานข่าวและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์เป็นจำนวนมาก ตัวเขาทั้งในฐานะคนทำงานด้านสื่อและพลเมืองของประเทศ จึงได้โพสต์ข้อความวิเคราะห์ และตั้งข้อสังเกตสถานการณ์บ้านเมืองด้วยความสุจริต บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ณ เวลานั้น

การใช้ประโยควิเคราะห์ในโพสต์ดังกล่าวใช้ถ้อยคำว่า “อาจ” เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคตเท่านั้น ไม่ได้ฟันธงยุยงให้คนออกไปชุมนุม หรือเรียกร้องให้เกิดเหตุการณ์ตามโพสต์  

ข้อความที่ 2

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2560 เวลา 20.23 น. ที่โพสต์ว่า “ยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์โดยรัฐทหารก่อนศาลตัดสิน? นี่มันกระบวนการยุติธรรมหรือปล้มสะดม? #ป #ยิ่งลักษณ์ #คสช #จำนำข้าว #ประยุทธ์ ฯ”

ประวิตรชี้แจงว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นการโพสต์เพื่อตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานข้อเท็จจริงโดยสุจริต เนื่องมาจากว่าในดังกล่าว เขาทราบข่าวเกี่ยวกับการยึดทรัพย์นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังทราบข้อมูลแล้ว เขาตรวจสอบจากสื่ออื่นๆว่าข้อมูลดังกล่าวมีความจริงเท็จเป็นอย่างไร พบว่าในช่วงต้นมีข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการยึดทรัพย์ของนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ โดยอธิบายว่าเป็นเพียงขั้นตอนการเตรียมการเท่านั้น ก่อนที่ในเวลา 18.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะโพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวตอบโต้ว่า “ไม่ใช่อยู่แค่ขั้นตอนการเตรียมการนะคะ แต่ไม่ยึดและถอนเงินในบัญชีดิฉันไปแล้วค่ะ” ก่อนที่จะทวิตเป็นภาษาอังกฤษอีกครั้งว่า “It is not true what NCPO leader said that seizure of my asset is only in preparation, my bank accounts have already been confiscated.”

ประวิตรเห็นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ได้ตัดสินว่านางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นผู้กระทำความผิดและมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์แต่อย่างใด ทางรัฐบาลเองก็ปฎิเสธว่ายังมิได้เป็นการยึดทรัพย์ แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ กลับยืนยันว่าได้มีการยึดทรัพย์แล้ว เมื่อยังไม่มีความชัดเจน เขาจึงโพสต์ข้อความดังกล่าวเพื่อตั้งคำถามให้เกิดความชัดเจนกับตนเองและสังคม โดยใช้เครื่องหมายคำถาม 2 ครั้ง ไม่ได้ฟันธงว่ามีการยึดทรัพย์จริงหรือไม่อย่างไร โดยการโพสต์ข้อความดังกล่าวได้กระทำโดยสุจริต และเป็นไปตามธรรมชาติที่ประชาชนจะใช้เสรีภาพของตนวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามต่อองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐตามหลักการระบอบประชาธิปไตย การกระทำดังกล่าวจึงไม่ผิดกฎหมาย

ต่อมา หลังจากที่ประวิตรโพสต์ข้อความ วันที่ 27 ก.ค. 2560 ก็ปรากฎตามสื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตอบว่า กรมบังคับคดีอายัดทรัพย์จริง อาศัยคำสั่งทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่ศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายก็ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า ทางกรมบังคับคดีได้มีการอายัดทรัพย์สินของนางสาวยิ่งลักษณ์ไว้จริง

ข้อความที่ 3

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560 เวลา 09.01 น. โพสต์ว่า “นักข่าววอยซ์ทีวีบอกถูกทหาร “ไอ้เฮีย” และขู่ยึดกล้องให้หมด หมายถึงไอ้เหี้ยหรือเปล่าครับ? ยุคทองของเสรีภาพสื่อจริงๆนะประยุทธ #555 #ป#เสรีภาพ #สื่อ #คสช ฯ”

ประวิตรรับว่าได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง  เนื่องจากเห็นทวิตเตอร์ชื่อ “Joy_จิตนภา” ซึ่งเป็นนักข่าวของสำนักข่าววอยซ์ทีวีซึ่งเท่าที่พบไม่เคยมีประวัติที่ถูกฟ้องหรือกล่าวหาว่านำเสนอข่าวที่ไม่ตรงต่อความจริง อีกทั้งข้อความที่นักข่าวคนนี้โพสต์ยังอ้างถึง “ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” ซึ่งเป็นนักข่าวที่มีชื่อเสียงว่าอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน ทำให้ข้อมูลดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ เขาจึงแคปภาพดังกล่าวมาจากทวิตเตอร์ของ “Joy_จิตนภา” ซึ่งมีข้อความว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ทำข่าวแล้วโดนทหารด่า ไอ้เฮียหยุดถ่ายได้แล้วไม่งั้นจะยึดกล้องให้หมด ถ้าไม่มีพี่แยม ฐาปณีย์ อยู่คงทำตัวไม่ถูก” ข้อความดังกล่าวมีคำว่า “ด่า ไอ้เฮีย” ซึ่งไม่อาจจะแปลความเป็นอย่างอื่นได้

หลังบันทึกภาพหน้าจอแล้วเขานำมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมเขียนตั้งคำถามเกี่ยวกับโพสต์ของ “Joy_จิตนภา” ว่าที่ถูกทหารเรียก “ไอ้เฮีย” และขู่ยึดกล้องให้หมด ว่าหมายถึงคำว่า ไอ้เหี้ย หรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นจริงตามที่ตั้งคำถามเหตุการณ์นี้จะเป็นภาพสะท้อนเสรีภาพของสื่อในการทำงานค้นหาความจริงให้กับสังคมในสถานการณ์ปัจจุบัน และเขายืนยันได้ว่าบัญชีทวิตเตอร์ที่ชื่อ “Joy_จิตนภา” ได้โพสต์ข้อความตามที่แคปมาจริง

ข้อความที่ 3 จึงเป็นเพียงข้อความที่ตั้งคำถามไปโดยสุจริตภายใต้กรอบของกฎหมาย ล้วนแล้วแต่เป็นความจริงทั้งสิ้น ไม่มีข้อความอันเป็นเท็จตามที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดแต่อย่างใด และเป็นเพียงการกล่าวถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารคนใดคนหนึ่งเท่านั้น หามีส่วนใดจะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐไม่

ข้อความที่ 4

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2560 เวลา 20.53 น. โพสต์ว่า “น้ำท่วมหนักที่สกลนครกับสุโขทัย? รอประยุทธ์จ้อทีวีจบก่อนแล้วกัน #ป #ประยุทธิ์ ฯ”

ประวิตรรับว่าได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง  เนื่องจากทราบข่าวจากทางโทรทัศน์ และโซเชียลมีเดียว่ามีน้ำท่วมหนักที่ จ.สกลนครและ จ.สุโขทัย ซึ่งเผยแพร่อย่างกว้างขวางและแพร่หลาย  จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารประเทศเร่งลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเพราะขณะนั้นน้ำท่วมหนักมาก หากนายกรัฐมนตรีลงไปปัญหาจะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ทั้งจากหน่วยงานราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งผู้นำประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นประชาธิปไตยก็มักจะลงพื้นที่ทันทีเมื่อมีเหตุอุทกภัยหรือประสบภัยธรรมชาติ และในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ก็เดินทางไปลงพื้นที่ จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 

โพสต์ดังกล่าวไม่มีส่วนใดของข้อความที่แสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ ณ เวลานั้น เพียงแต่ประวิตรเชื่อว่าหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีควรจะเร่งลงไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังกล่าว ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตถึงวิธีการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารเพียงเท่านั้น ตามวิสัยที่ประชาชนทั่วไปพึงกระทำได้ ตามหลักการปกครองในระบอบนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ในอันที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีของตนได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเท่านั้น แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใดพรรคใดก็ย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นกัน หากไม่ได้แสดงความใส่ใจหรือแก้ไขปัญหาต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติซึ่งประชาชนได้รับความทุกข์ร้อนให้ดีอย่างเพียงพอตามที่ควรกระทำ

ข้อความที่ 5

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2560 เวลา 09.52 น. โพสต์ว่า “แหล่งข่าวที่เป็นนักข่าวในท้องถิ่นสกลนครบอกไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ เลย จริงๆ เห็นรูปรถท่วมน้ำเป็นแถวหรือโรงแรมเตียงชั้น1หนีน้ำไม่ทันก็รู้แล้ว –นี่แหละระบอบเผด็จการรวมศูนย์ ความเสียหายเหล่านี้น่าจะหลีกเลี่ยงได้หากมีการจัดการที่ดีและเรียนรู้บทเรียนจากอดีต #ป #น้ำท่วม #น้ำท่วมสกลนคร #คสช รูปรถฯ”

ประวิตรรับว่าได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง  และยืนยันว่าเป็นการใช้เสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตที่ประชาชนสามารถวิจารณ์ถึงการทำงานขององค์กรหรือหน่วยงานของรัฐได้ หากเห็นว่าไม่ได้เตรียมการณ์ป้องกันหรือแก้ไขต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ บนพื้นฐานหลักการปกครองในระบอบนิติรัฐ-ประชาธิปไตย โพสต์ดังกล่าวเขาทราบข้อมูลจากนักข่าวไทยพีบีเอสคนหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องเหตุการณ์น้ำท่วมใน จ.สกลนคร ว่าทางไทยพีบีเอสได้มีการสอบถามนักข่าวท้องถิ่นที่สกลนครว่า ได้รับการแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับอุทกภัยหรือไม่ ซึ่งนักข่าวท้องถิ่นใน จ.สกลนคร ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อว่า “Sakda Duangsupa” ก็ได้ตอบมาว่า “ประเด็นคือตลิ่งห้วยทรายถูกกัดเซาะจนขาดครับ แต่ไร้การแจ้งเตือนโดยเร็ว ทุกคนเข้าใจว่าเป็นปริมาณฝนปกติ เพียง 3 ชั่วโมงหนีไม่ทันครับ ผมเองก็เกือบไม่รอดครับ”

ประกอบกับขณะนั้นมีรายงานจากสื่อต่างๆเป็นจำนวนมาก มีรูปรถยนต์จอดแล้วน้ำท่วมสูงเกือบมิดคัน ยิ่งทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ว่าไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ เพราะหากมีการรายงานข่าวแจ้งเตือนจริง ประชาชนในพื้นที่ก็คงจะต้องนำรถยนต์ไปจอดไว้ที่สถานที่ที่น้ำไม่สามารถท่วมถึงได้ คงไม่มีประชาชนคนใดปล่อยให้น้ำท่วมรถยนต์ของตนเองเช่นนี้    

ส่วนประโยคตอนท้ายที่ว่า “-นี่แหละระบอบเผด็จการรวมศูนย์ ความเสียหายเหล่านี้น่าจะหลีกเลี่ยงได้หากมีการจัดการที่ดีและเรียนรู้บทเรียนจากอดีต” นั้น ประวิตรให้การว่า ลักษณะการปกครองในปัจจุบันมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ในมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่หัวหน้า คสช. ในการออกคำสั่งใดๆก็ได้ เมื่อออกมาแล้วก็มีผลให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยที่อำนาจรวมศูนย์ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการกระจายอำนาจใดๆเลยในด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เพียงแต่ท้ายที่สุดแล้วอำนาจในการตัดสินใจสูงสุดจะถูกกำหนดไว้ที่ตัวหัวหน้า คสช. เพียงคนเดียว ซึ่งมาตรา 44 เป็นตัวอย่างอำนาจเผด็จการรวมศูนย์อย่างชัดเจนที่สุด เพราะสามารถใช้อำนาจเหนือทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าจะส่งผลกระทบในด้านในก็ตาม ส่งผลถึงอำนาจในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ ทำให้ไม่มีความชัดเจนในดำเนินงานใดๆ เพราะอาจจะได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้เช่นกัน เห็นได้จากตัวอย่างการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ใช้อย่างแพร่หลายในหลายๆด้าน อาทิ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ถอดถอน แต่งตั้ง โยกย้าย ระงับการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นในระดับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือว่าเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ  และรวมทั้งการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในด้านอื่นๆอีกหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ผังเมือง สิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจ ฯลฯ

เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น เป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ข้อ 19 ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2539 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2540 เป็นต้นมา และถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ไว้ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

ด้วยเหตุทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น โพสต์ข้อความทั้ง 5 ข้อความ ตามที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นเพียงข้อความที่แสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตอันตั้งอยู่บนพื้นทางข้อเท็จจริงเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการใช้เสรีภาพภายในกรอบความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อความใดที่จะชักชวนให้ประชาชนก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร การกระทำของประวิตรจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2), (3), และ (5) แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวอาวุโสขอให้การเพิ่มอีกว่า ในประเทศที่ปกครองโดยระบอบเสรีประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลของตน รัฐบาลของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจึงไม่อาจลิดรอนจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกโดยอาศัยเหตุผลใดๆที่นอกเหนือจากเหตุผลอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อมิให้เป็นการทำลายพื้นที่ที่ประชาชนจะใช้เป็นเวทีสะท้อนความทุกข์ร้อนและความต้องการของตนไปยังรัฐบาลและสังคมโดยตรง ซึ่งเขามีข้อกังวลและเห็นว่า การดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อบุคคลที่ใช้เสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริจและชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก และเป็นการใช้กฎหมายมาตรา 116 มาเป็นเครื่องมือทำลายพื้นที่แห่งเสรีภาพของประชาชนที่จะสื่อสารไปยังรัฐบาลของตน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอีกด้วย ทั้งองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงบุคคลสำคัญต่างๆ ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น แสดงข้อกังวล ในหลากหลายมุมมอง รวมทั้งเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับเขาและบุคคลอื่นที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 116 จากการใช้เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากคดีนี้ ก่อนหน้านี้ประวิตร โรจนพฤกษ์ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) และข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (3) และ (5) เช่นเดียวกับคดีนี้ จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 2 ข้อความ ในช่วงเดือน ก.พ. 2559 โดยเป็นโพสต์แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้าการลงประชามติในขณะนั้น และโพสต์ตั้งคำถาม 4 คำถามถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาคดีนี้พ.ต.ท.อุทัย เหล่าสิล รอง ผกก.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. แจ้งความเอาไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2559 แต่เพิ่งมีการเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาในปี 2560

  • พยานนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชี้ การตีความว่าเป็นการปลุกระดม เป็นการเชื่อมโยงที่ใช้อคติของผู้กล่าวหา

ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ เห็นว่าโพสต์เฟซบุ๊กของประวิตร โรจนพฤกษ์ ที่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งสองคดีเป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตอย่างตรงไปตรงมา  โดยผู้กระทำมีความเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไม่ได้บิดเบือนหรือมุ่งร้ายต่อสิ่งใด จึงย่อมเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

อาจารย์รัฐศาสตร์อธิบายเพิ่มว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นสื่อมวลชน ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามต่อนโยบายของรัฐบาล การตำหนิติเตียนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของราชการ และการวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงตั้งคำถามต่อผู้นำรัฐบาล ล้วนเป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หน้าที่ของสื่อสารมวลชน และสอดคล้องกับหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลย่อมถูกติชมและตั้งคำถามได้

ผศ.ดร.นฤมล เห็นว่าข้อความตามโพสต์ที่ถูกกล่าวหาทั้งสองคดีของประวิตร ไม่เข้าข่ายยุยงปลุกปั่น ปลุกระดมทางด้านการเมือง หรือก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลเชิงลบ เพราะข้อความที่มีลักษณะ ยุยงปลุกปั่น ปลุกระดมทางการเมืองจนสามารถนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาล ต้องประกอบไปด้วยข้อความที่มีการวิพากษ์รัฐบาลที่เสียหายอย่างรุนแรง มีโวหาร (rhetoric) เพื่อจูงใจ โน้มน้าว ให้เกิดการกระทำการของผู้คนให้มีปฏิบัติการรูปธรรมทางการเมือง เช่น การเรียกร้องให้มีการชุมนุมทางการเมือง การติดตั้งเครื่องขยายเสียง การแจกใบปลิว การสร้างแนวร่วมให้มารวมตัวกันหรือนำไปสู่การชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งต้องมีถ้อยคำที่สื่อถึงความรุนแรง ความเกลียดชัง (hate speech) เพื่อโจมตีเป้าหมายบางอย่างอย่างเป็นรูปธรรม เกิดการปฏิบัติการทางการเมืองอย่างชัดเจน

แต่ข้อความที่ว่านั้นไม่เข้าองค์ประกอบใดๆตามที่กล่าวมาข้างต้นเลย การตีความว่าเป็นการปลุกระดม จึงเป็นการเชื่อมโยงที่ใช้อคติของผู้กล่าวหาเท่านั้น

ในคดีแรก การโพสต์ตั้งคำถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นทั้งหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าคณะรัฐประหารว่า เมื่อไหร่จะทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งสี่ประการ เป็นเพียงการแสดงออกถึงความไม่พอใจ และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการให้เป็นไปตามครรลองของระบอบนิติรัฐประชาธิปไตยเท่านั้น  ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาประกอบอาชีพสื่อมวลชนย่อมสามารถตั้งคำถาม ท้วงติงและวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำรัฐบาล เป็นเรื่องปกติทั่วโลกที่สื่อย่อมมีสิทธิตั้งคำถามในประเด็นที่ประชาชนสนใจ คับข้องใจและอยากทราบคำตอบได้ 

ส่วนคดีที่สอง การวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม และการตัดพ้อ ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ การปฏิบัติต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง และการกระทำการทางปกครองต่อนักการเมือง เป็นเพียงการแสดงออกถึงความไม่พอใจ และเรียกร้องให้รัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาและข้อวิตกกังวลของประชาชนให้ดีขึ้น ข้อความอื่น ๆ ก็เป็นเพียงการท้วงติง การตั้งคำถามจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ไม่ได้มีถ้อยคำหรือข้อความใดแสดงให้เห็นว่า เป็นการยั่วยุปลุกปั่นหรือเรียกร้องให้ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นก่อความไม่สงบขึ้นภายในราชอาณาจักร  หรือเรียกร้องให้ละเมิดกฎหมายอันจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 116 หรือขัดต่อความมั่นคงได้ เป็นเพียงการแสดงออกถึงความไม่พอใจ และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการให้เป็นไปตามครรลองของระบอบนิติรัฐประชาธิปไตยเท่านั้น

  • นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนยืนยัน โพสต์เฟซบุ๊กของประวิตรเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต

รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เห็นว่า การโพสต์ทั้งสองคดีของประวิตรเป็นลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์  ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์หมายความถึง “การติชม” จะมีการติบ้าง ชมบ้าง ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ นโยบาย หรือการกระทำการของบุคคลในสังคม การแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่เป็นประเด็นสาธารณะ ที่ประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือที่เกี่ยวกับบุคคลสาธารณะ เช่น ผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ หรือผู้นำรัฐบาล เป็นการแสดงความคิดเห็นอันเป็นปกติวิสัยในสังคมประชาธิปไตย ในการแสดงความคิดเห็นบนสังคมออนไลน์ของประชาชนจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีการติบ้าง หรือชมบ้างเป็นธรรมดา

ข้อความของประวิตร โรจนพฤกษ์ มีลักษณะที่วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เป็นการตั้งข้อสังเกต และมีคำถาม ข้อสงสัยโดยสุจริตใจที่ต้องการสื่อสารออกมา  ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนและเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญซึ่งคุ้มครองประชาชนชาวไทยทุกคนโดยเท่าเทียมกัน และเนื่องด้วยประวิตรประกอบอาชีพเป็นนักข่าว จึงติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะนักข่าวซึ่งเป็นงานของประวิตร ประเด็นทีหยิบมาโพสต์จึงเป็นเรื่องการเมืองในสถานการณ์ที่ทันสถานการณ์ หรือเป็นที่จับตาทางสังคม

ข้อความในโพสต์มีลักษณะตั้งคำถาม ชวนให้ผู้อ่านขบคิด มิใช่ยุยงก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องแต่อย่างใด หรือเชิญชวนให้ผู้อ่านร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่ปรากฏตามโพสต์ และมิได้เชิญชวนให้มีปฎิบัติการใดๆ ซึ่งข้อความที่จะส่งผลก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องนั้น มีลักษณะการใช้ถ้อยคำแบบปลุกเร้าให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

บางโพสต์มีลักษณะเป็นคาดการณ์ ซึ่งเป็นการมองสถานการณ์หนึ่งๆ ว่าอาจจะเกิดผลในทางดีหรือทางร้าย โดยเป็นการประเมินล่วงหน้าในขณะที่เหตุการณ์นั้นยังมิได้เกิดขึ้นจริง เช่น คดีคุณยิ่งลักษณ์ ซึ่งการโพสต์เกิดขึ้นก่อนคดีจะพิพากษา จึงเป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้าจากประสบการณ์ของผู้ทำงานข่าวมายาวนาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติวิสัยของผู้สนใจติดตามสถานการณ์บ้านเมือง

รศ.อุบลรัตน์ ให้การเพิ่มอีกว่า ในทางวิชาการ ในสังคมที่ผู้นำมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ประชาชนมักถูกห้ามมิให้วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมทั้งการตั้งคำถามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล อย่างไรก็ดี เธอเชื่อว่าขณะนี้สังคมไทยกำลังมุ่งไปสู่การสร้างสังคมประชาธิปไตย ตามที่มีการกล่าวอ้างอยู่เสมอ การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาของประวิตร โดยการเปิดเผยทัศนคติทางการเมือง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีทั้งคำถาม ข้อสงสัย และอาจะมีการติติงมากกว่าคำชม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการสื่อสารทางสังคมอย่างสุจริตใจในกรอบของรัฐธรรมนูญ

การโพสต์ข้อความของประวิตร เป็นการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองเป็นสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐาน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 และหลักสิทธิ เสรีภาพ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไทยได้ลงสัตยาบันรับรองในกฎบัตรสหประชาชาติ และ  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convenant on Civil and Political Right-ICCPR) ที่ไทยเป็นประเทศภาคีสมาชิก ข้อ 19

  • นักวิชาการด้านกฎหมายอาญาเห็นว่า โพสต์ของประวิตรไม่เข้าข่ายความผิดทั้งสองคดี

ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อการตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อการโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กของประวิตร โรจนพฤกษ์ ว่าในคดีแรก ผู้ถูกกล่าวหาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของตน และทำผู้ใช้เฟสบุ๊กคนอื่น ๆ เห็นข้อความเหล่านั้นด้วย โดยมีความว่า

“คสช.โทรมา 2 รอบ เมื่องาน บอกไม่พอใจที่ผมถ่ายรูปชูนิ้วกลางใส่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับทหาร ผมบอกผมมี 3 เวอร์ชั่นให้เลือกซึ่งรวมถึงยกนิ้วโป้งว่าดีด้วย แล้วสาธารณะคิดเองได้ว่าจะเอาอย่างไร ผมพร้อมที่จะปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองขั้นพื้นฐานและไม่หนี หรือลบภาพ ผมอดรู้สึกย้อนแย้งไม่ได้ว่าพวกที่ปกป้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหาร (ขอย้ำนะครับว่าเป็นเพียงร่างที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วม) กลับเป็นทหารที่ก่อรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ผ่านประชามติโดยมิต้องถูกลงโทษใด ๆ…”

และ

“4 คำถามถึงประยุทธ์จากผม  1) เมื่อไหร่จะเลือกตั้งแบบเสรีและยุติธรรมจริง ๆ แบบไม่เลื่อน 2) เมื่อไหร่จะเลิกทำตัวเป็นเผด็จการที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนโดยที่ประชาชนไม่ได้ให้ฉันทานุมัติ 3) เมื่อไหร่จะขอขมาประชาชนที่ไปยึดอำนาจเขามา 4) เมื่อไหร่จะเลิกหลอกตนเองและผู้อื่นว่าขอเวลาอีกไม่นาน..”

ย่อมเห็นได้ว่า แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาตรา 116 และ 14 (3)  จะเป็นการกระทำด้วย “วิธีใดๆให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไป” ทั้งยังมีลักษณะของการ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์” ด้วย เนื่องจากมีการโพสต์ข้อความลงในหน้าเพจของ Facebook ที่ประชาชนมองเห็นได้ก็ตาม

แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของ “ข้อความแรก” ที่โพสต์แล้ว วิญญูชนทั่วไปย่อมพิจารณาได้ว่า เป็นเพียงถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหา บอกเล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับตน (คสช.โทรมา….), กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่เขากระทำไปเช่นนั้น (ถ่ายรูปชูนิ้วกลาง…) ว่าต้องการ “ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก”, แสดงความสงสัยต่อ “คนที่ปกป้องร่างรัฐธรรมนูญฯ” (ซึ่งกำลังจะมีการทำประชามติ) รวมทั้งวิพากษ์การที่กลุ่มทหารที่ทำรัฐประหารไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย  เท่านั้น  ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ก็ดี การแสดงความไม่พอใจต่อการ “ทำรัฐประหาร” หรือ “การใช้อำนาจ” ของกลุ่มคนที่ทำรัฐประหารก็ดี ย่อมเป็นเรื่องปกติและเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศอารยะที่จะพึงกระทำและแสดงออกได้ตามหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ

เมื่อประชาชนคนใดไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร  ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร หรือเห็นว่าการทำรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง (ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้ว การรัฐประหารก็คือ “การยึดอำนาจ” ของประชาชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเสียเอง) เขาเหล่านั้นย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะ “แสดงออก” ถึงความไม่พอใจดังกล่าวนั้นให้คนอื่น ๆ รับรู้ได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดหรือในสื่อประเภทใด การวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความไม่พอใจเช่นนี้ หาได้แตกต่างไปจากการแสดงความไม่พึงพอใจต่อการทำงาน หรือการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่

ทำนองเดียวกัน หากพิจารณา “ข้อความที่สอง” ซึ่งใช้ถ้อยคำเชิงคำถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารว่า เมื่อไหร่จะทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งสี่ประการ ก็เป็นเพียงการแสดงออกถึงความไม่พอใจ และเรียกร้องให้กระทำการใด ๆ อันเป็นไปตามครรลองของระบอบนิติรัฐประชาธิปไตยเท่านั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้อง “ให้จัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม” หากรัฐใดรัฐหนึ่งเห็นว่า การเรียกร้องในลักษณะนี้ขัดต่อความมั่นคง รัฐนั้นย่อมไม่สามารถประกาศกับนานาประเทศได้ว่าปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจาก “การเลือกตั้ง” เป็นสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานที่ต้องมีในระบอบนิติรัฐประชาธิปไตย

ในขณะที่ข้อความอื่น ๆ ก็เป็นเพียง “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้นจริง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นการ “รับเงินเดือน” ซึ่งเป็น “ภาษีของประชาชน” โดยที่ไม่ได้ “ผ่านการรับเลือกตั้ง” เพราะทำรัฐประหารเข้ามา  การยังไม่ยอมขอโทษประชาชนเพราะเหตุแห่งการทำรัฐประหารซึ่งคือ “การบังคับยึดอำนาจ” ไปจากประชาชน  หรือกระทั่งการที่คณะรัฐประหารยังคงบอกแก่ประชาชนว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะหากนับระยะเวลาจากวันที่ทำรัฐประหารคือ ปี 2557 ถึงวันที่ผู้ถูกกล่าวหาโพสต์ข้อความนี้คือปี 2559 เท่ากับว่าคณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจมาแล้วกว่า 2 ปี แต่ก็ยังไม่มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หรือคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ซึ่งวิญญูชนทั่วไปย่อมเห็นว่าระยะเวลา 2 ปี นี้เป็นระยะเวลาที่ “นานแล้ว” และไม่ตรงกับประโยค “ขอเวลาอีกไม่นาน” ซึ่งเป็นคำที่คณะรัฐประหารกล่าวเอาไว้เอง

เมื่อสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และทั้งไม่มีถ้อยคำ หรือข้อความตรงไหนเลยของผู้ถูกกล่าวหาที่แสดงให้เห็นว่า เป็นการ “ยั่วยุปลุกปั่น” หรือเรียกร้องให้ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งลุกขึ้น “ก่อความไม่สงบ” ขึ้นภายในราชอาณาจักร  หรือเรียกร้องให้ “ละเมิดกฎหมาย” อันจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 116 หรือ “ขัดต่อความมั่นคง” คงมีก็แต่เพียงข้อวิพากษ์วิจารณ์  และคำถามที่มีไปถึงผู้ทำรัฐประหาร อันเป็นเรื่องที่ประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงสามารถกระทำได้ดังอธิบายไปแล้ว เท่านั้น ซึ่งลำพังแต่เพียงถ้อยคำเหล่านี้ของผู้ถูกกล่าวหา ก็ไม่อาจทำให้ประชาชนทั่วไปจะรู้สึกกระด้างกระเดื่องหรือฮึกเหม “ถึงขนาดที่ลุกขึ้นมาสู้รบหรือก่อความรุนแรง” ต่อคณะผู้ทำรัฐประหาร (ซึ่งมีอาวุธ และกำลังคนพร้อมกว่าประชาชนทุกด้าน) ก่อความไม่สงบ หรือกระทำการละเมิดกฎหมายตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 116 ได้ และเมื่อข้อความไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเสียแล้ว ก็ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 14 (3) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้เช่นเดียวกัน    

ข้อความของผู้ถูกกล่าวหาเช่นนี้  หากคณะผู้ทำรัฐประหาร หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าผู้ทำการรัฐประหารเห็นว่าอาจทำให้ตนได้รับความเสียหาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียงได้ ก็อาจไปว่ากล่าวกันในฐานหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นตามที่มีกฎหมายกำหนดช่องทางไว้แล้ว เมื่อคณะผู้ทำรัฐประหาร หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หาใช่ “รัฐไทย” ไม่ ประชาชนทั่วไปที่เพียงวิพากษ์วิจารณ์บุคคลดังกล่าวจึงไม่มีทางที่จะเป็นความผิดอัน “ขัดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ” ไปได้

ส่วนคดีที่สอง ผู้ถูกกล่าวหาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของตนต่างกรรมต่างวาระจำนวน 5 ข้อความ และทำผู้ใช้เฟสบุ๊กคนอื่น ๆ เห็นข้อความเหล่านั้นด้วย นักวิชาการด้านนิติศาสตร์เห็นว่า

ข้อความแรก ที่ว่า “คดียิ่งลักษณ์ถือเป็นการวัดใจทั้งฝั่งผู้ยึดอำนาจและเสื้อแดง หากติดคุกอาจเกิดปรากฏการณ์เยี่ยมคุกทุกวันโดยประชาชนจำนวนมากแบบไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ แล้วอาจนำไปสู่สิ่งที่คาดเดายากสำหรับชนชั้นนำและเผด็จการทหาร งานนี้ยิ่งกว่าเก้าเก…”

เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของข้อความนี้แล้ว  วิญญูชนทั่วไปย่อมพิจารณาได้ว่า เป็นเพียงถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหา “คาดเดา” จากบริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงนั้นว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง แล้วจึงแสดงความคิดเห็นของตนออกมา เท่านั้น ซึ่งเป็นวิสัยที่ประชาชนทั่วไปย่อมสามารถทำได้ตามหลักการปกครองแบบนิติรัฐ-ประชาธิปไตย  อีกทั้ง หากพิจารณาจากข่าวในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ที่นำเสนอภาพที่ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยเชียร์และให้กำลังอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์อยู่ ก็นับเป็นเรื่องปกติเช่นกันที่ประชาชนที่ดูและเห็นภาพข่าวจะคาดการณ์ไปในทำนองเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาว่า  หากอดีตนายกรัฐมนตรีถูกพิพากษาให้จำคุกจริง ๆ คงต้องมีประชาชนเดินทางไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจจำนวนมาก เพราะในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดของประเทศไทยที่ถูกจำคุกจริง ๆ จำนวนประชาชนที่มาเยี่ยมเยียนบุคคลที่พวกเขาเลือกเข้ามาเองจึงน่าจะมากที่สุดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้การที่ประชาชนจำนวนมากอยากมาเยี่ยมบุคคลที่ตนชื่นชอบซึ่งถูกจำคุกอยู่  ก็หาได้เป็นความผิดต่อกฎหมายฉบับใดไม่

ด้วย “ข้อความ” ของผู้ถูกกล่าวหาเพียงเท่านี้  จึงไม่มีทางที่วิญญูชนจะเห็นว่าทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง หรือลุกขึ้นมากระทำการอันละเมิดต่อกฎหมายได้  ไม่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดทั้งตามมาตรา 116 และ 14 (3)  และดังอธิบายแล้วว่า ข้อความนี้ผู้ถูกกล่าวหาใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะของการ “คาดเดา” อย่างชัดเจน จึงย่อมไม่ใช่กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาตั้งใจ “สร้างเรื่องเท็จ” และประสงค์ให้ผู้อ่านข้อความคนใด “หลงเชื่อ” ว่าสิ่งที่เขา “คาดเดา” นั้น “จะเกิดขึ้นจริง ๆ” หรือเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ผู้อ่านสามารถใช้วิจารณญาณเองได้ว่าในอนาคตจะเกิดสิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาทำนายไว้หรือไม่ กรณีเช่นนี้จึงไม่ใช่การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง “ข้อความอันเป็นเท็จ” อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) ได้ ทั้งการที่อาจมีประชาชนจำนวนมากไปเยี่ยมอดีตนายกฯ จริง ๆ ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ  ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนกกับเรื่องอะไรแบบนี้ได้ ข้อความแรกนี้ของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) เช่นกัน 

ข้อความที่สอง ที่ว่า “ยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์โดยรัฐทหารก่อนศาลตัดสิน ? นี่มันกระบวนการยุติธรรมหรือปล้นสะดม?..”

จะเห็นได้ว่าข้อความนี้เป็นการใช้ถ้อยคำเชิง “ตั้งคำถาม” ว่า หากมีการยึดทรัพย์เกิดขึ้นก่อนที่ศาลจะตัดสิน ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมจริง ๆ หรือไม่ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมในที่นี้ของผู้ถูกกล่าวหาย่อมหมายถึง “กระบวนการในศาล” อันเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่กำลังเป็น “กระแสข่าว” อยู่ในช่วงเวลานั้นว่า ในที่สุดแล้วอาจมีการยึดทรัพย์ของอดีตนายกฯ ก่อนที่จะมีคำพิพากษาของศาลว่าอดีตนายกฯ กระทำความผิดตามที่ถูกฟ้องร้องจริงหรือไม่ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามกับการทำงานขององค์กร หรือสถาบันทั้งหลายของรัฐตามหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย ข้อความนี้ไม่ได้มีลักษณะของการใช้ถ้อยคำรุนแรง ชักชวนให้ละเมิดกฎหมาย หรือกระทั่ง “ยั่วยุปลุกปั่น” ใด ๆ อันจะทำให้ประชาชนที่เห็นข้อความคิดกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ หรือละเมิดกฎหมายได้ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 และ 14 (3)  ทั้งไม่เป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) ด้วย เพราะไม่ใช่กรณีสร้างข่าวเท็จ หากแต่เป็นการ “ตั้งคำถาม” แล้วแสดงออกมาเท่านั้น      

ข้อความที่สาม  ที่ว่า “นักข่าววอยซ์ทีวีบอกถูกทหารเรียก “ไอ้เฮีย” และขู่ยึดกล้องให้หมด – หมายถึงไอ้เหี้ยหรือเปล่าครับ ? ยุคทองของเสรีภาพสื่อจริง ๆ นะประยุทธ์…”

เมื่อพิจารณาแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าข้อความนี้ของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงแห่งรัฐ” อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 116 หรือมาตรา 14(3) ได้เลย หากแต่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามถึงการกระทำของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” (ในที่นี้คือ ทหาร) คนใดคนหนึ่งเท่านั้น  ที่หากกระทำการต่าง ๆ ดังที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ข้อมูลมาจริง ๆ จาก “นักข่าววอยซ์ทีวี” ก็ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการลิดรอน หรือคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วย การที่ประชาชนได้เห็นข้อความเช่นนี้ จะทำให้พวกเขาเกิดความกระด้างกระเดื่องแล้วกระทำการใด ๆ เช่น ละเมิดกฎหมาย หรือลุกขึ้นจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับเจ้หน้าที่รัฐ หรือรัฐบาลทหารในลักษณะที่รุนแรงตามมาตรา 116 ได้อย่างไร  ดังนั้น การโพสต์ข้อความนี้ในเฟสบุ๊กจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 หรือมาตรา 14 (3) ตามที่โจทก์กล่าวหา

กรณีนี้ หากโจทก์เห็นว่า “นักข่าววอยซ์ทีวี” ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างอิงถึงไม่มีอยู่จริง หรือไม่ได้พูดแบบนั้นจริง ๆ แต่ผู้ถูกกล่าวหา “สร้างเรื่อง” ขึ้นมาเอง หรือ “เป็นความเท็จ” ตามมาตรา 14 (2) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ นั้น ก็จำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่า “ความเท็จ” ที่โจทก์เชื่อนั้น “น่าจะ” ส่งผลต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 (2) หรือไม่ด้วย  กล่าวคือ “เสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”  ซึ่งต้องอาศัยการใช้การตีความ

แต่สาวตรีเห็นว่า ข้อความที่สามของประวิตร ไม่เข้าข่ายที่จะสร้างความเสียหายต่อ “สิ่งต่าง ๆ” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 (2) ได้ เพราะเป็นการกล่าวถึง “พฤติกรรม” ของ “เจ้าหน้าที่ทหาร” คนใดคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องความปลอดภัยของประเทศ การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้กระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะ ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะใด ๆ เลย ทั้งการกล่าวแต่เพียงเท่านี้ย่อมไม่ได้ทำให้ “ประชาชน” เกิดความตื่นตระหนกได้ หากจะเกิดสถานการณ์ใดขึ้นจากข้อความนี้ของผู้ถูกกล่าวหา ก็คงเป็นแค่เพียงความรู้สึกรังเกียจ ไม่ชอบ หรือดูหมิ่นดูแคลนการกระทำของ “เจ้าหน้าที่ทหาร” คนนั้นเท่านั้น ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นใคร หรืออย่างมากที่สุดก็นึกตำหนิไปยังหัวหน้าคณะรัฐประหาร คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เขาไม่สามารถดูแลพฤติกรรมของ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” ของตนไม่ให้มาคุกคามสื่อมวลชน จนกระทบต่อการทำงานของสื่อได้ ย่อมเป็นเรื่องความรู้สึกเสียหายต่อชื่อเสียง หรือเกียรติยศของหัวหน้ารัฐบาลรัฐประหาร เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ “ความปลอดภัยสาธารณะ” ตามมาตรา 14 (2) แต่อย่างใด

ข้อความที่สี่ ที่ว่า “น้ำท่วมหนักที่สกลนครกับสุโขทัย ? รอประยุทธ์จ้อทีวีจบก่อนแล้วกัน….”

สาวตรีวิเคราะห์ข้อความที่สี่เช่นเดียวกันกับข้อความที่สาม คือเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวกับ “ความมั่นคงแห่งรัฐ” ทั้งมิได้มีลักษณะการ “ยุยงปลุกปั่น” ประชาชนที่เป็นวิญญูชนทั่วไปลุกขึ้นมากระทำผิดกฎหมาย หรือกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ อันจะเป็นความผิดร้ายแรงตามมาตรา 116 หรือ 14 (3) หากพิจารณากันอย่างจริงจัง ข้อความนี้มีนัยของการตำหนิสื่อมวลชนด้วยกันเองแฝงอยู่ด้วยซ้ำว่า  สื่อไม่ยอมทำหน้าที่ในการรายงานข่าวสถานการณ์น้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นในประเทศ หากแต่สยบยอมให้พื้นที่หน้าจอทีวีกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร การตำหนิติเตียน หรือตัดพ้อต่อว่าพฤติกรรมเช่นนี้  ซึ่งอาจหมายถึงติเตียนตัดพ้อสื่อมวลชนด้วยกันเอง หรือติเตียนตัดพ้อผู้นำรัฐบาล เมื่อยามที่ประเทศเกิดภัยพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ย่อมเป็นวิสัยที่ประชาชนทั่วไปพึงกระทำได้ ตามหลักการปกครองในระบอบนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น แม้เป็นนายกรัฐมนตรีคนอื่นเขาหรือเธอก็ต้องสามารถถูกติเตียน หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ หากแสดงความไม่ใส่ใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง หรือแม้จะยืนยันว่าใส่ใจแล้ว แต่เมื่อประชาชนบางหมู่ บางเหล่าเห็นว่าความใส่ใจนั้นยัง “ไม่เพียงพอ” ประชาชนเหล่านั้นก็ยังสามารถแสดงความคิดเห็น ความไม่พอใจ หรือติเตียนพฤติกรรมของผู้ปกครองได้อยู่ดี เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพและวิถีแห่งประชาธิปไตย  ข้อความนี้ของผู้ถูกกล่าวหาจึงย่อมไม่เข้าข่ายเป็นความผิดได้ทั้งตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) หรือ (3)

กรณีนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้สึกว่าได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือเกียรติยศก็ควรไปว่ากล่าวผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวเอาเอง ไม่ใช่การฟ้องต่อศาลโดยใช้ฐานความผิดอันเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ 

ข้อความที่ห้า  ความว่า  “แหล่งข่าวที่เป็นนักข่าวในท้องถิ่นสกลนครบอกว่าไม่มีการแจ้งเตือนใด ๆ เลย จริง ๆ เห็นรูปรถท่วมน้ำเป็นแถวหรือโรงแรมขนเตียงชั้น 1 หนีน้ำไม่ทันก็รู้แล้ว – นี่แหละระบอบเผด็จการรวมศูนย์ ความเสียหายเหล่านี้น่าจะหลีกเลี่ยงได้ หากมีการจัดการที่ดี และเรียนรู้บทเรียนจากอดีต…”

อาจารย์นิติศาสตร์วิเคราะห์ในทำนองเดียวกับข้อความที่สี่ ที่มีลักษณะของการติเตียนการทำงาน หรือการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้  ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งในข้อความเองก็ไม่ได้มีลักษณะของการ “ยั่วยุปลุกปั่น” ประชาชนให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับมีลักษณะของการ “เสนอแนะ” หรือ “แนะนำ” ด้วยว่า “หากมีการจัดการที่ดี” หรือ “มีการเรียนรู้บทเรียนจากอดีต” รัฐก็จะสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายต่าง ๆ ได้ เช่นนี้จึงไม่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 116 หรือ 14 (3) ได้เลย

สำหรับความผิดตามมาตรา 14 (2) ที่โจทก์กล่าวหาว่า  ไม่มี “แหล่งข่าวที่เป็นนักข่าวท้องถิ่นฯ” อยู่จริง ๆ ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างอิงถึง จนทำให้ข้อความนี้ของผู้ถูกกล่าวหากลายเป็น “ข้อความเท็จ” นั้น ต้องมีการ “ตีความ” ต่อไปว่า เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ “น่าจะ” สร้างความเสียหายต่อสิ่งใด ๆ ตามมาตรา 14 (2) หรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนกหรือไม่ ด้วย เนื่องจากเป็นองค์ประกอบความผิดสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของสาวตรี ยังคงเห็นว่าข้อความนี้ ต่อให้เป็น “ความเท็จ” ก็ไม่ได้ส่งผลใด ๆ ต่อความปลอดภัยสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานฯ  หรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนกได้  แตกต่างจากตัวอย่างกรณีต่าง ๆ ที่อาจเข้าข่ายมาตรา 14 (2) ตามที่ยกไปแล้ว เช่น ประกาศว่ามีคนเอาระเบิดไปวาง น้ำป่ากำลังมาอย่างรุนแรง ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง ฯลฯ  ทั้งนี้ เพราะผู้ถูกกล่าวหา กล่าวข้อความที่ห้านี้ ภายหลังจากที่เกิดภัยพิบัติขึ้นไปแล้ว และข้อความก็มีลักษณะเป็นเพียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานรัฐมากกว่า ต่อข้อความในลักษณะนี้หากเป็น “ความเท็จ” จริง ๆ  “ความเสียหาย” อาจเกิดขึ้นได้ก็แต่กับ “ชื่อเสียง เกียรติยศ” ของ “หน่วยงานที่รับผิดชอบ” ด้านการเตือนภัยประชาชนเท่านั้น เพราะอาจทำให้ประชาชนรู้สึกเกลียดชัง เสื่อมศรัทธา หรือไม่เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐ ซึ่งก็ควรไปว่ากล่าวกับผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานอื่น หาใช่ความผิดตามมาตรา 14 (2) นี้ไม่      

นอกจากนี้ การที่โจทก์อธิบายว่า ฟ้องคดีผู้ถูกกล่าวหาตามข้อความนี้เพราะประเทศไทยไมได้ปกครองในระบอบ “เผด็จการรวมศูนย์” อย่างที่ผู้ถูกกกล่าวหาเขียน จึงเป็น “ความเท็จ” นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าประเด็นนี้หากพูดกันอย่างจริงจัง ไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่อาจแตกต่างกันได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ “แล้วแต่ใครจะมอง” ซึ่งจึงแน่นอนด้วยว่า “ไม่ใช่ความเท็จ” หากแต่เป็น “ความคิดเห็นที่แตกต่าง” 

“รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร หรือคนที่ช่วยเหลือหรือรับตำแหน่งใด ๆ ในคณะรัฐประหารย่อมยืนยันว่าตนเองไม่ได้ปกครองแบบเผด็จการ  ไม่เคยคุกคามใคร ไม่เคยบีบบังคับสิ่งใดประชาชน ฯลฯ เผลอ ๆ ก็พูดไปถึงว่าตนปกครองในระบอบประชาธิปไตย” สาวตรีกล่าว

สาวตรีอธิบายเพิ่มว่า ประชาชนบางกลุ่มอาจเห็นด้วยหรือเชื่อในสิ่งที่คณะรัฐประหารพูด  แต่แน่นอนว่าต้องมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยในประเทศนี้ที่ไม่เห็นด้วย และทั้งไม่พอใจคณะรัฐประหาร เพราะเห็นว่าเขาถูกยึดอำนาจไป เขาไม่สามารถใช้สิทธิเลือกคนที่เขาต้องการอย่างแท้จริงขึ้นมาปกครองเขาได้  หลายคนรู้สึกว่าถูกคุกคาม  สื่อบางสื่อเห็นว่าไม่สามารถเสนอข่าวได้อย่างที่อยากเสนอ ฯลฯ ประชาชนเหล่านี้ย่อมเห็นว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในระบอบ “เผด็จการรวมศูนย์” หรือเป็นการ ปกครองโดยคน หรือกลุ่มเดียวได้ ซึ่งเหล่านี้เป็น “ความคิดเห็น” ไม่ใช่ “ความเท็จ” ยิ่งพิจารณาจากการใช้บทกฎหมายบางข้อบางมาตรากับทุก ๆ เรื่องตามที่คณะรัฐประหารต้องการ อย่างมาตรา 44 โดยไม่เคยถามความคิดเห็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศก่อน หรือไม่เคยเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็นเลย ตรงกันข้าม เมื่อเขาแสดงความไม่พอใจ หรือวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลก็ไล่ฟ้องคดีเขา ไล่จับเขา กรณีเช่นนี้ การที่ประวิตรจะใช้ถ้อยคำว่า “เผด็จการรวมศูนย์” จึงไม่อาจถือเป็น “ความเท็จ” ตามมาตรา 14 (2) ได้ หากแต่เป็น “ความคิดเห็น” อันเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศที่ปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตยจริงๆ” จะแสดงออกมา และไม่โดนฟ้องคดีใด ๆ เท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

X