ศาลพิพากษาปรับทนายอานนท์พันบาท คดี ‘ยืนเฉยๆ’ ร้องปล่อยวัฒนา

10 ก.พ.2560 เวลา 10.30น. ที่ศาลแขวงดุสิตมีนัดฟังคำพิพากษาคดี ‘ยืนเฉยๆ’ ที่นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้นัดทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว นายวัฒนา เมืองสุข จากการควบคุมตัวภายในค่ายทหารเมื่อ 19 เม.ย.2559 ศาลพิพากษาปรับ 1,000 บาท ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฐานความผิดจัดการชุมนุมโดยไม่มีการแจ้งจัดการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง

ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่าประเด็นที่นายอานนท์ซึ่งเป็นจำเลยได้ต่อสู้ว่าคดีนี้โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ได้นำสืบว่าตำรวจได้เชิญตัวไปที่ สน.พญาไท โดยไม่ได้จับกุมดำเนินคดีจำเลยกับพวก แต่จากบันทึกประจำวันมีการบันทึกว่าตำรวจได้เชิญตัวจำเลยกับพวกไปสน.พญาไท โดยไม่ปรากฏว่ามีการควบคุมตัวจำเลยและพวกและไม่ได้ระบุว่ามีการควบคุมตัวอย่างไร พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการแจ้งข้อหาแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยก็ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น

ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าตามหลักฐานโจทก์ว่ายังไม่มีการจับจำเลยในวันเกิดเหตุ ทั้งนี้ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาปรากฏว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจำเลยตามฟ้องเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2559 กรณีนี้จึงอยู่ในบังคับของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 7 วรรค 2-4 ซึ่งเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่มีการจับแต่มีการแจ้งข้อหาแล้วและไม่สามารถฟ้องได้ทันภายใน 48 ชั่วโมง ให้พนักงานสอบสวนหรืออัยการยื่นผัดฟ้อง ศาลให้ผัดฟ้องไปเป็นวันที่ 28พ.ค.2559 โจทก์ได้ยื่นฟ้องในวันที่ 27 พ.ค.2559 ซึ่งยังอยู่ในกรอบเวลาที่ศาลให้ผัดฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในคดีนี้

ประเด็นต่อมาจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ได้นำสืบพนักงานสอบสวนได้เบิกความว่าจำเลยได้โพสต์ข้อความชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งเป็นที่สาธารณะเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2559 เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยในการจับกุมนายวัฒนา เมืองสุข เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการประสงค์ที่จะนัดประชาชนมาชุมนุมในที่สาธารณะ จำเลยจึงมีหน้าที่แจ้งการชุมนุมต่อสน.พญาไท ภายในไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนจัดการชุมนุม ถ้าหากไม่สามารถแจ้งจัดการชุมนุมได้ทันภายในเวลาดังกล่าวจะต้องขอผ่อนผันก่อนจัดการชุมนุม

ตามข้อเท็จจริงของโจทก์เห็นได้ว่าจำเลยไม่ได้มีการแจ้งจัดการชุมนุมและไม่ขอผ่อนผัน แต่จำเลยร่วมกับบุคคลอื่นอีก 4 คนไปร่วมกันยืนชุมนุมในที่สาธารณะในที่เกิดเหตุ แม้ว่าจำเลยและพวกจะยืนในบริเวณที่เกิดเหตุโดยไม่ได้มีการกระทำอื่นๆ อีก ก็ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะเนื่องจากการกระทำของจำเลยและพวกเป็นการแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องคัดค้านโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมการชุมนุมนั้นไม่ว่าจะมีการเดินขบวนหรือไม่ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะ

ศาลพิพากษาว่านายอานนท์มีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10, มาตรา 12 และ มาตรา 28 ลงโทษปรับ 1,000 บาท

ก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาให้ปรับเงิน 1000บาท นายอานนท์ในข้อหาเดียวกันกับคดีนี้จากการจัดกิจกรรม ‘ยืนเฉยๆ’ เมื่อ 27 เม.ย.2559 เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว 8 แอดมินแฟนเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ จากการควบคุมตัวภายในค่ายทหาร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นายอานนท์ถูกจับกุมก่อนที่พนักงานสอบสวนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มจากการทำกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” เพื่อเรียกร้องให้ คสช. ปล่อยตัวนายวัฒนาตามมาเป็นอีก1คดีซึ่งเป็นคดีที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาในวันนี้ ซึ่งในคดีนี้มีการนัดสืบพยานเมื่อวันที่ 22ธ.ค.2559 แต่ไม่ได้มีการสืบพยานเนื่องจากว่าทั้งอัยการซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์และนายอานนท์ที่เป็นจำเลยรับข้อเท็จจริงในสำนวน

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษานายอานนท์แจ้งว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาทั้งสองคดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พรุ่งนี้ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีทนายอานนท์นัด “ยืนเฉยๆ”

อัยการยื่นฟ้อง “ทนายอานนท์” เหตุเพราะจัดกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” นัดสอบคำให้การ 8 ส.ค.นี้

ผู้ชุมนุม 16 ราย ถูกคุมตัวหลังชุมนุมเรียกร้องปล่อยตัวประชาชน 8 คนออกจาก มทบ.11 หลังถูกคุมตัวตั้งแต่ยังไม่รุ่งเช้า

X