กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีร้องศาลปกครอง ขอให้คุ้มครองชั่วคราวเวทีรับฟังความเห็นเหมืองแร่โปแตซ

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเข้ายื่นหนังสือต่อศาลปกครอง จ.อุดรธานี ขอให้คุ้มครองชั่วคราว ในการการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย กรณีเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ในวันที่ 23 เม.ย. ที่จะถึงนี้

20 เม.ย. 2559 เวลาประมาณ 11.30 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กว่าร้อยคน เข้ายื่นหนังสือที่ศาลปกครอง จ.อุดรธานี เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในกรณีที่จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้กำหนดจัด ณ หอประชุมโรงเรียนโนนสูงพิทยาคาร ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี วันที่ 23 เม.ย. 2559

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือแนบเพิ่มเติม เพื่อชี้แจงต่อศาลว่า ผู้มีส่วนได้เสียตามคำนิยามใน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ยังคลุมเครือ ไม่มีความชัดเจน และไม่มีการแก้ไขข้อมูลให้เป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ต่อผู้มีสิทธิในที่ดินและผู้อยู่อาศัยในขอบเขตเหมือง

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ ชี้แจงว่า ตั้งแต่ปี 2553 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ทำการปักหมุด รังวัด ขึ้นรูปแผนที่และไต่สวนพื้นที่ เพื่อแสดงขอบเขตเหมือง และได้มาซึ่งผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

ต่อมาปี 2554 ผู้มีส่วนได้เสียจึงรวบรวมรายชื่อทั้งผู้มีสิทธิในที่ดิน จำนวน ๑,๕๘๐  แปลง และผู้อาศัยในขอบเขตเหมือง จำนวน 5,765 รายชื่อ ยื่นหนังสือคัดค้าน โต้แย้ง ตาม ม.49 พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่

ในปี 2556 ประชาชนในพื้นที่เหมือง ในนาม ‘กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี’ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จ.อุดรธานี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง เพิกถอนรายงานในใบไต่สวน และเพิกถอนกระบวนการขั้นตอนที่มีการดำเนินการต่อเนื่องตามรายงานในใบไต่สวนดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล

นอกจากนี้ ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขให้ถูกต้องสมบูรณ์ ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน กระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี พบว่า มีหลายขั้นตอนที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง แต่หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้แก้ไขปัญหา ทั้งยังเปิดเวทีเพื่อรับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการฯ ในค่ายทหารพระยาสุนทรธรรมธาดา ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เป็นอุปสรรคในการเดินทาง และไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะเวทีถูกจัดในค่ายทหาร

e0b8ade0b8b8e0b894e0b8a32

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ เห็นว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ในวันที่ 23 เม.ย. นี้ หากข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวไม่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ถือว่าการดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ถูกต้องและผิดพลาดในสาระสำคัญ แม้ว่าคณะกรรมการจัดการรับฟังความคิดเห็นฯ จะได้จัดส่งเอกสารไปยังผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่ก็ไม่ได้รับอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้เสียหลายคนเสียโอกาสในครั้งนี้ตามไปด้วย

ทั้งนี้ โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เป็นโครงการเหมืองแร่ใต้ดินที่จะขุดเป็นอุโมงค์ผ่านชุมชนที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เนื้อที่รวมกว่า 26,400 ไร่ ในครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 5 ตำบล ได้แก่ ต.หนองไผ่, ต.โนนสูง, ต.หนองขอนกว้าง อ.เมือง, ต.นาม่วง, และ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม

ตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่ใต้ดิน ถือว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 เม.ย. นี้ เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่จะได้มีส่วนร่วม ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.๒๕๑๐ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ม.88/7 หลังจากนั้น ข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นของคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แร่ ก่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามในประทานบัตร

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวหลังจากยื่นหนังสือว่า มีหวังเพียงเล็กน้อยกับการยื่นหนังสือในครั้งนี้ และลึก ๆ คิดไว้ในใจว่าศาลคงไม่สั่งคุ้มครอง แต่ที่ยื่นก็เพียงเพื่อต้องการเผยให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย และเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม แม้จะเหลือเวลาเพียงแค่ 3 วัน ก่อนจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย แต่ศาลยังไม่ได้นัดไต่สวนในกรณีที่ขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีเหตุจำเป็น นอกจากนี้ระหว่างที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยื่นหนังสือต่อศาลปกครอง จ.อุดรธานี ยังมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์โดยตลอดอีกด้วย

X