ย้อน 4 ปี “แม่จ่านิว” จำเลยสังคมคดี 112 แค่ตอบ “จ้า” ในแชทส่วนตัว ก่อนฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 พฤษภาคม 2559 กว่า 4 ปีมาแล้ว คสช.กล่าวหา “พัฒน์นรี” (สงวนนามสกุล) มารดาของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน คสช. ในข้อหามาตรา 112 ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการที่พัฒน์นรีตอบแชทข้อความส่วนตัวที่คุยกับบุรินทร์ อินติน เพื่อนของลูกชาย ว่า “จ้า” 

ขณะนั้น เป็นช่วงเวลาที่สิรวิชญ์ ลูกชายของเธอ เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม ‘โพสต์-สิทธิ’ จนถึง ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ เพื่อตรวจสอบและแสดงกิจกรรมต่อต้านการบริหารประเทศของ คสช. ที่เข้ามาอย่างไม่ชอบธรรม “จ่านิว” ถูกอุ้ม ถูกแจ้งความดำเนินคดี ถูกทำร้าย ฯลฯ แต่ที่ไม่คาดคิด ก็คือ การคุกคามนั้นเลยมาถึงบ้าน ครอบครัว และแม่ผู้ซึ่งหาเช้ากินค่ำ ทำงานรับจ้างทั่วไป สนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมและไปด้วย “ความกล้าล้วนๆ” จะโดนดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรงและโทษหนักอย่างมาตรา 112

ลูกออกมาพูดบนเวที ที่บ้านถูกเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจไปแวะเวียน สื่อมวลชนตามถ่ายรูปน้องสาวและยาย เหตุคุกคามที่ทำให้พัฒน์นรีรู้ว่าหลังจากนี้ชีวิตคนธรรมดา หาเช้ากินค่ำอย่างเธอจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ก็คือ เมื่อลูกตัดสินใจทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปราชภักดิ์ และถูกจับกุมตัวไป แต่ที่คาดอย่างไรก็คาดไม่ถึง คือเธอผู้เป็นเพียงแม่ของนักกิจกรรม ผู้ยืนหยัดสนับสนุนลูก กลับถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112

“ทุกครั้งที่แม่ได้ข่าวว่ามีคนโดนคดี 112 มันไม่ใช่การดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเดียว แม่รู้สึกว่าเราจะเป็นจำเลยของสังคม เราจะเป็นคนเลวในสังคมอีกฝั่งนึงที่เขาไม่เข้าใจ หรือคนที่เขารักสถาบัน เขาไม่ฟังหรอกว่าแม่พูดคำว่า “จ้า” คำเดียว มีด่าทอ มีขู่อาฆาต ขู่ทำร้าย มันกลายเป็นว่า นอกจากเราต้องเครียดเรื่องคดี เราต้องเครียดกับสังคม จะมีคนมาทำร้ายเราไหม จะมีคนคลั่งมาต่อมาตบตีเราไหม 

“ตั้งแต่แม่โดน 112 มา งานที่เขาเคยจ้างทำความสะอาด งานที่เขาเคยนัดดูดวง หรืองานที่แม่เคยขายของได้ คนเหล่านั้นเป็นกลุ่มที่เลิกคบแม่ไป แม่งานหายไปประมาณ 50%”

.

พัฒน์นรี แม่จ่านิว

“แม่ควรถูกกันเป็นพยาน แต่กลับถูกดำเนินคดี”

พัฒน์นรีถูกดำเนินคดีในศาลทหาร หลังจากมีข่าวว่าจะมีการออกหมายจับเธอ แล้วเธอตัดสินใจไปมอบตัว แต่เธอก็ยังถูกนำตัวไปฝากขังในศาลทหาร ก่อนที่เธอจะ “โชคดี” (เธอกล่าว) ได้รับการประกันตัวให้ออกมาสู้คดีอยู่ข้างนอก ในขณะที่การต่อสู้คดี 112 ในยุคนั้น (ปี 2559) ต้องขึ้นศาลทหาร และส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกมาสู้คดี ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่จำต้องรับสารภาพ เพื่อให้ได้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง

หนึ่งในคนส่วนใหญ่คือ บุรินทร์ อินติน หนุ่มช่างเชื่อมชาวพะเยาวัย 28 ปี เพื่อนลูกชายที่ทักแชทเมสเสนเจอร์มาคุยกับ “แม่หนึ่ง” อันเป็นนามที่เพื่อนลูกชายเรียกขาน บุรินทร์ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนหน้าถูกดำเนินคดี เขาถูกนำตัวจาก สน.พญาไท ไปควบคุมตัวที่ มทบ. 11 รวม 7 วัน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และด้วยวิธีการใดเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผย แชทส่วนตัวของบุรินทร์ถูกเจ้าหน้าที่เข้าถึง ตำรวจกลายเป็นบุคคลที่ 3 ที่อ่านแชทนั้น เป็นเหตุให้อัยการศาลทหาร บรรยายฟ้องว่า “…ผู้ที่ใช้ชื่อว่า Nuengnuch Chankij ตอบกลับด้วยคำว่า “จ้า” ย่อมแสดงให้เห็นว่ายอมรับและเห็นด้วยกับการโพสต์ข้อความของนายบุรินทร์”

ภาพเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารบุกควบคุมตัวนายบุรินทร์ไปจากสน.พญาไท เมื่อวันที่ 27 เม.ย.59

บุรินทร์ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน เขาถูกฝากขังจนครบ 7 ผัด ก่อนถูกสั่งฟ้อง และตัดสินใจรับสารภาพทุกข้อหา จากคำพิพากษาลงโทษจำคุก 22 ปี 8 เดือน ศาลทหารจึงลดโทษเหลือ 10 ปี 16 เดือน โดยที่บุรินทร์ไม่ประสงค์ที่จะยื่นอุทธรณ์ และขณะนี้เขายังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

>> อ่านฐานข้อมูลคดี พฤติการณ์คดี และคำพิพากษา ของบุรินทร์ ได้ที่ https://database.tlhr2014.com/public/case/67/lawsuit/335/

คู่สนทนาในช่องแชทเมสเสนเจอร์เฟซบุ๊ก เกือบ 5 ปีผ่าน ฝ่ายที่ทักไปคุยพรั่งพรูยังคงอยู่ในเรือนจำ อีกฝ่ายตอบเพียงคำว่า “จ้า” ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล และกำลังจะเดินมาถึงวันที่ฟังคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค. 2563)

อันที่จริง คดีนี้ไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรก ทนายความไม่คิดว่ามูลเหตุแค่นี้จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ได้ ตัวพัฒน์นรีเองก็คิดว่าควรถูกกันเป็นพยาน และแม้กระทั่งตำรวจเองก็ยังเห็นว่าไม่ควรฟ้อง เห็นได้จากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้น ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา แต่อัยการศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นสั่งฟ้องในท้ายที่สุด

.

“ในเมื่อเราไม่ผิด เราก็ต้องสู้” แนวทางการสู้คดี กว่า 4 ปี จากศาลทหารสู่ศาลพลเรือน

“กว่า 4 ปีในกระบวนการยุติธรรม ตอนที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร แม่ว่ามันช้ามาก นานมาก นานเนิ่นมาก และแม่ก็มองว่า พยานคนนี้เขาเอามาเป็นใคร ไม่เห็นจะเกี่ยวกับคดีเราเลย พยานตั้ง 17 ปาก ไม่ได้ความเกี่ยวข้องในรูปคดีเท่าไร” 

การพิจารณาคดีในศาลทหารเป็นไปอย่างล่าช้า 3 ปีเศษ สืบพยานโจทก์ได้เพียง 6 ปาก จากที่อัยการศาลทหารยื่นบัญชีพยาน 17 ปาก ก่อนที่จะโอนคดีจากศาลทหารมาศาลยุติธรรม โดยศาลอาญา รัชดาฯ ทำการสืบพยานโจทก์อีก 1 ปาก และพยานจำเลย 3 ปาก ในวันที่ 3-4 พ.ย.ที่ผ่านมา และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 ธ.ค.นี้

ท่ามกลางกระบวนการยุติธรรมที่แม่หนึ่งมองว่า “เป็นกระบวนการที่เราประเมินอะไรไม่ได้เลย” 

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทนายความของแม่หนึ่ง ระบุว่าแนวทางการสู้คดีนี้ คือ สู้ว่าพฤติการณ์ที่กล่าวหาไม่เป็นไปตามมาตรา 112 เลย ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของสาวตรี สุขศรี นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

กล่าวคือ พัฒน์นรี ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ถ้อยคำที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 และข้อความดังกล่าวเป็นการพูดคุยส่วนตัว 2 คน หากมีความผิดจะผิดได้คนเดียว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ตั้งข้อหากับบุรินทร์ไปก่อนหน้าแล้ว ตำรวจจะตั้งข้อหาเดียวกันกับแม่จ่านิวอีกไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะขาดบุคคลที่สามไป

อีกทั้งในบทสนทนาดังกล่าว แม่หนึ่งไม่ได้ตอบโต้บุรินทร์ เพียงแต่พิมพ์คำว่า “จ้า” เพื่อตัดบทการสนทนา ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะถือว่าเป็นการยอมรับและเห็นด้วยกับข้อความที่คู่สนทนาส่งมาไม่ได้ เพราะมีเพียงบุรินทร์ที่พิมพ์ส่งมาเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ถือว่า “ร่วมกันกระทำความผิด”  

ดร.อิสระ ชูศรี นักภาษาศาสตร์ ได้เบิกความว่า คำว่า “จ้า” ในบริบทการแชทนี้ คือการตัดบท เพราะประโยคก่อนหน้านี้เขาใช้คำว่า “อย่าว่าผมนะที่พูดแบบนี้” แม่จ่านิวพิมพ์คำว่า “จ้า” กลับไปก็คือไม่อยากคุยแล้ว 

ในขณะที่โจทก์นำพยานเข้าสืบเน้นประเด็นว่า บุรินทร์และพัฒน์นรี (สนทนา) “ร่วมกัน” โดยพยานโจทก์ทั้งหมด 11 ปาก เบิกความไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นการร่วมกันกระทำความผิด เพราะมีการคุยโต้ตอบทั้งสองฝ่าย พยานโจทก์ที่เป็นทหารผู้กล่าวหาก็เบิกความว่าเป็นการร่วมกันคุย ร่วมกันสนทนา พิมพ์ข้อความนี้มาก็ตอบด้วยข้อความนั้น ไม่ใช่คำว่า “จ้า” อย่างเดียว เวลาฟ้องไม่ได้ฟ้องคำว่า “จ้า” อย่างเดียว 

 >> อ่านฐานข้อมูลคดี พฤติการณ์คดี ความคืบหน้าคดีในแต่ละนัดตั้งแต่ศาลทหารยังศาลยุติธรรม ของคดีพัฒน์นรี ได้ที่ https://database.tlhr2014.com/public/case/67/lawsuit/19/

.

พิจารณาคดีลับ “ทำไมเราช่างโดดเดี่ยว” 

คดีนี้ อัยการศาลทหารกรุงเทพแถลงขอให้ศาลพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยอ้างว่า “เนื่องจากเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และข้อความที่ปรากฏในคำฟ้อง รวมถึงการนำสืบพยานหลักฐานและการพิจารณาคดี เป็นข้อเท็จจริงที่หากพิจารณาโดยเปิดเผย อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกในหมู่ประชาชน”

ด้านศาลทหารกรุงเทพพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงให้พิจารณาคดีเป็นการลับตั้งแต่นัดถามคำให้การ (14 ธ.ค. 2559) จนโอนย้ายคดีมายังศาลอาญา ศาลอาญาก็ยังสั่งให้พิจารณาลับเช่นเดิม

เป็นเหตุให้คดีนี้พิจารณาลับตั้งแต่นั้น ภาวิณี ทนายความของพัฒน์นรี ระบุว่า โดยหลักการแล้วการพิจารณาคดีนั้นต้องทำโดยเปิดเผย แต่ในทางกฎหมายกลับมีช่องให้ศาลสั่งพิจารณาลับได้เพราะเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงของการสั่งพิจารณาลับก็คือตัวจำเลยเอง พัฒน์นรีเล่าว่าการที่คดีพิจารณาลับนั้น ทำให้เธอรู้สึกโดดเดี่ยวและหดหู่ใจอย่างมาก 

แม่ต้องเข้าไปในห้องคนเดียว ห้ามใครเข้าไปนั่งฟัง กลายเป็นเรารู้สึกเคว้งคว้าง แล้วก็รู้สึกกลัว จิตตกไปหมด คำว่าไปศาล มันก็ดูน่ากลัวอยู่แล้วในมโนจิตของประชาชน ยิ่งไปอยู่ในสถานะที่เป็นจำเลยศาลทหาร แล้วต้องเข้าไปนั่งอยู่คนเดียว เข้าได้เฉพาะทนายความกับนายประกัน คนอื่นห้ามเข้า แม่รู้สึกหดหู่ใจ แม่แบบ เราทำอะไรผิดขนาดนั้นเลยหรอ แม้กระทั่งคนที่จะเข้ามานั่งข้างๆ เราในบัลลังก์ศาลยังเข้าไม่ได้”

.

บุรินทร์ อินติน และทนายความ

.

จดหมายขอโทษจากเรือนจำ

ล่าสุด บุรินทร์ อินติน ส่งจดหมายมาถึงแม่หนึ่งเพื่อขอโทษ 

“บุรินทร์เขียนมาบอกว่า เขาก็บอกว่าเขาอยู่ในนั้นไม่ได้ลำบากอะไร แต่เขาอึดอัดมาก เขาคิดถึงเพื่อนๆ คิดถึงทุกคนที่เคยทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วเขาก็ขอโทษ เขาก็บอกว่าเขาขอโทษ ที่ทำให้แม่ต้องเดือดร้อน เขาบอกว่า ถ้าอยากจะให้เบิกตัวให้เขาเป็นพยาน เขาพร้อม เขาพร้อมที่จะเป็นพยานให้ เขาก็ถามว่าคดีของแม่ไปถึงไหนแล้ว แล้วก็ขอโทษ เขียนมาว่า ขอโทษๆๆๆ ซ้ำๆ เพราะว่าเขาก็รู้ว่า แม่ก็ไม่ได้ตอบโต้หรือมีถ้อยคำอะไรที่จะทำให้โดนคดี 112 ได้”

แม่จ่านิวบอกว่า ตนไม่ได้โกรธเคืองแม้แต่น้อย แต่กลับรู้สึกสงสารบุรินทร์ “แม่ไม่ได้มีอารมณ์โกรธอะไรเขาเลย ตั้งแต่วันแรกที่เขาโดนจับเราก็เป็นห่วงเขา ในฐานะที่เราเห็นเขาเหมือนลูกเหมือนหลาน พอรู้ผลคำพิพากษาเราก็ยิ่งสงสารเขาหนัก” 

และเธอเขียนจดหมายตอบเขาไปว่า ก็ขอให้เขาอดทน เวลามันผ่านไปเร็ว เดี๋ยวเขาก็จะได้ออกมาแล้วไม่ต้องห่วงว่าแม่จะโกรธเขา เพราะแม่ไม่โกรธ มันเป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะเป็นเรื่องอยู่แล้ว 

ก่อนจะย้ำอีกครั้งว่า “แม่ไม่โกรธบุรินทร์เลยสักนิดนึง เพราะว่าเรามีสิทธิที่จะพูด และอีกอย่างมันอยู่ในอินบ็อก ก็คือเรื่องของคนสองคนที่คุยกัน ถ้าทหารมันไม่ไปแฮคข้อมูล ไม่ไปบังคับเอาอีเมลของบุรินทร์มาอ่านอินบ็อก ก็ไม่มีใครรู้ โลกก็จะไม่รู้ด้วย เพราะมันอยู่ในแชท” 

พรุ่งนี้จะเป็นวันที่ศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษา กว่า 4 ปีอันยาวนาน จากการตกเป็นจำเลยในข้อหามาตรา 112 ผ่านการนอนคุกมา 2 คืน ในข้อหาที่พัฒน์นรียืนยันว่า ตนไม่ผิด

“ชีวิตของแม่มันเลยคำว่า ‘กลัว’ ไปแล้ว มันกลัวไม่ได้แล้ว ทุกคนก็รู้ว่าแม่เจออะไรมาเยอะ ลูกแม่นอนอยู่ ICU นอนให้อ็อกซิเจน แม่เองก็เห็นมาแล้ว นอนคุกก็นอนมาแล้ว พวกปล้นฆ่าค้ายาเสพติดมันยังไม่ได้นอนคุกเหมือนแม่เลย แต่แม่แค่พิมพ์คำว่า ‘จ้า’ คำเดียว แม่ต้องไปนอนคุกสองคืน แม่ว่าแม่ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว”

ทว่าเธอก็ยังคงมีความหวังกับกระบวนการยุติธรรมอยู่ 70% เพราะ “เราไม่ผิด” และมีคำพูดของทนายความเป็นกำลังใจว่าถ้าตัดสิน ก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์ได้ มันยังไม่ได้สิ้นสุด สู้กันต่อได้ 

ส่วนถ้าคำพิพากษาจะเป็นไปตาม 30% ที่เธอไม่อยากคาดคิด แม่หนึ่งก็ยังไม่วายติดตลก (ขื่น)

“ถ้าเป็น 30% ที่เหลือความโชคร้ายของแม่ก็ยังไม่หมดไป ถ้าภาษาดวงเขาว่ายังไม่หมดความซวย”

.

X