1 เดือนหลัง 14 ตุลา: คดีชุมนุมเพิ่ม 3 เท่า ผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 175 คน ข้อหา ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พุ่ง

ตั้งแต่วันที่ 13-14 ต.ค. 63 สถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องของประชาชนในนาม “คณะราษฎร 2563” เป็นไปอย่างเข้มข้นมากขึ้น พร้อมกับการยกระดับการ “ปราบปราม” ของเจ้าหน้าที่รัฐไปพร้อมกัน ทั้งการจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมากตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง การคุมขังแกนนำหลายคนไว้กว่าสองสัปดาห์ รวมทั้งการออกหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีจากการชุมนุมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยรายงานสถิติคดีตั้งแต่หลังเริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอก 18 ก.ค.  จนถึงวันที่ 10 ต.ค. 63 ว่ามีการกล่าวหาดำเนินคดีต่อประชาชนจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 65 คน ใน 23 คดี

แต่ตัวเลขดังกล่าวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเดือนตุลาคมจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยพบว่าเมื่อเก็บข้อมูลจากวันที่ 18 ก.ค. จนถึง 13 พ.ย. 63 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองเพิ่มขึ้นรวมเป็นอย่างน้อย 175 คน ในจำนวน 75 คดี (นับผู้ถูกดำเนินคดีที่ได้รับหมายเรียกแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา)

เท่ากับในช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน มีรายงานการดำเนินคดีเพิ่มขึ้นถึง 52 คดี หรือเพิ่มกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับสถิติช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ขณะที่จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีก็เพิ่มขึ้นกว่า 2.7 เท่า ยังไม่นับว่าแกนนำและผู้ชุมนุมหลายรายถูกกล่าวหาในหลายคดีจากหลายกิจกรรมในช่วงเดือนที่ผ่านมาด้วย

แม้จะมีสถิติการดำเนินคดีที่เพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม แต่สถานการณ์การจับกุมและออกหมายเรียกในหลายคดีก็พบว่าเป็นกรณีการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นย้อนหลังไป โดยพบว่ามีอย่างน้อย 19 คดี ที่เป็นกรณีการชุมนุมตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงกันยายน และเพิ่งถูกจับกุมตามหมายจับที่ออกมาก่อนหน้า หรือเพิ่งถูกออกหมายเรียกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ขณะที่การชุมนุมตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 63 เป็นต้นมา ก็พบว่าเจ้าหน้าที่มีการดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 33 คดี โดยการชุมนุมทั้งเล็กและใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มจะถูกกล่าวหาดำเนินคดีมากกว่า ขณะที่ในต่างจังหวัดยังมีรายงานการดำเนินคดีจำนวนหนึ่ง

ในจำนวนคดีทางการเมืองเหล่านี้ ยังพิจารณาในประเด็นต่างๆ ได้เบื้องต้น ดังต่อไปนี้

 

 

1. ศาลในพื้นที่ต่างๆ มีการออกหมายจับในคดีเกี่ยวกับการชุมนุมไปแล้ว อย่างน้อย 81 หมายจับ โดยแบ่งเป็นหมายจับที่ออกในคดีที่มีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จำนวน 54 หมายจับ, หมายจับในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 จำนวน 3 หมายจับ และหมายจับในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจำนวน 17 หมายจับ ส่วนที่เหลือเป็นหมายจับในข้อหาอื่นๆ หรือในคดีที่นักกิจกรรมอารยะขัดขืนไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกที่ตำรวจออก เจ้าหน้าที่ก็มีการไปขอศาลออกหมายจับในภายหลัง

 

 

2. ช่วงเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยังมีการจับกุมในสถานที่ชุมนุม โดยไม่ได้มีหมายจับ จำนวนอย่างน้อย 56 ราย โดยเป็นกรณีการจับกุมในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยช่วงวันที่ 13 ต.ค. และการชุมนุมในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ระหว่างวันที่ 15-16 ต.ค.

ขณะเดียวกัน ยังมีการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายจับ และไม่ใช่สถานที่เกิดเหตุจำนวนอย่างน้อย 4 ราย ซึ่งนับว่าเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ได้แก่ กรณีจับกุมผู้ถูกกล่าวหาว่าพ่นสี “สามนิ้ว” หน้าสภ.เมืองเชียงใหม่ และกรณีการจับกุมผู้ถูกกล่าวหาว่าพ่นสีใต้ฐานป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่เมืองพัทยา โดยกรณีหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวไปขอฝากขัง ศาลได้ยกคำร้องเนื่องจากเห็นเจ้าพนักงานเข้าจับกุมโดยไม่มีหมายจับด้วย

 

 

3. ในจำนวนคดีจากการชุมนุมทั้งหมด มีผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จำนวนอย่างน้อย 46 คน ใน 14 คดี หลายคดีเป็นกรณีการนำคำปราศรัยของแกนนำโดยเฉพาะในประเด็นข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมาใช้กล่าวหา

ขณะที่บางการชุมนุม ก็มีกล่าวหาผู้ปราศรัยในข้อหานี้ไปด้วย แม้ไม่ได้อภิปรายในประเด็นดังกล่าวโดยตรงก็ตาม เช่น การชุมนุมที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 63 ที่มีการกล่าวหานักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 9 คน โดยกล่าวหาว่าคนอื่นๆ ร่วมกับอานนท์ นำภา ในการกระทำความผิดตามข้อหานี้ด้วย แม้จะไม่ได้ปราศรัยในประเด็นสถาบันกษัตริย์ก็ตาม หรือย้อนกลับไปยังการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 ก็มีการกล่าวหาผู้ปราศรัย 15 ราย ด้วยข้อหานี้ แม้จะยังไม่ได้เริ่มอภิปรายข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ตาม

 

 

4. ในจำนวนคดีจากการชุมนุมทั้งหมด มีผู้ถูกกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 134 คน ใน 35 คดี โดยแยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างน้อย 13 คดี (วันที่ 15 ต.ค. เวลา 4.00 น. ถึงวันที่ 22 ต.ค. เวลา 12.00 น.)

ส่วนคดีอื่นๆ เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งยังไม่ได้ถูกยกเลิกไป และยังมีการนำมาใช้กล่าวหากับการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง (หากนับย้อนกลับไปถึงคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการกล่าวหาต่อกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่เดือนพ.ค. 63 จำนวนคดีจะอยู่ที่อย่างน้อย 43 คดี) แม้ทั้งทางรัฐบาลและ ศบค. จะอ้างในการต่ออายุการบังคับใช้กฎหมายตลอดมากว่า 8 เดือน ว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองและการชุมนุมก็ตาม

 

 

5. นอกจากนั้น ยังพบว่ามีคดีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเฉพาะตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จำนวน 10 คดี และมีคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปพร้อมกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 8 คดี

แม้ตั้งแต่ในเดือนสิงหาคม นายกรัฐมนตรีจะมีการออกข้อกำหนดให้การชุมนุมใดๆ กระทำได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ แต่ในการบังคับใช้กฎหมายต่อการชุมนุม พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการกล่าวอ้างและกล่าวหาประชาชนทั้งในข้อหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไปพร้อมกัน ส่งผลให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมมีข้อจำกัดที่มากยิ่งขึ้นไปอีกกว่าช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งไม่ได้มีการบังคับใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะไปพร้อมกัน

 

 

6. จากคดีการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด 75 คดี พบว่าเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างน้อย 18 จังหวัด โดยเป็นคดีในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกันอย่างน้อย 46 คดี ส่วนพื้นที่ที่มีการดำเนินคดีลำดับรองลงมาได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ จำนวนอย่างน้อย 14 คดี ตามมาด้วยพื้นที่ภาคอีสานอย่างน้อย 10 คดี

 

 

7. แกนนำนักศึกษาและนักกิจกรรมมีแนวโน้มที่จะถูกกล่าวหาในคดีจำนวนมาก และยังถูกจับกุมคุมขังเป็นระยะ ทำให้แต่ละคนมีภาระต้องต่อสู้คดี และต้องรายงานตัวตามกระบวนการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น หากนับตั้งแต่เริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา

    • พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกกล่าวหาไปแล้ว 14 คดี
    • ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกกล่าวหาไปแล้ว 12 คดี
    • อานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาไปแล้ว 11 คดี
    • ชลธิชา แจ้งเร็ว ถูกกล่าวหาไปแล้ว 9 คดี
    • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถูกกล่าวหาไปแล้ว 6 คดี
    • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ถูกกล่าวหาไปแล้ว 5 คดี

ตัวเลขดังกล่าว นับเฉพาะหลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา หากนับย้อนไปถึงยุค คสช. แกนนำสำคัญอย่างพริษฐ์จะถูกกล่าวหาในคดีการเมืองไปแล้วถึง 26 คดี และอานนท์ถูกกล่าวหาไปแล้ว 23 คดี เป็นต้น

 

 

8. ลักษณะการดำเนินคดี นอกจากการมุ่งดำเนินคดีกับแกนนำหลักอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีลักษณะการเลือก “บุคคลที่เป็นเป้าหมาย” ซึ่งอยู่ในข้อมูลการจับตาของเจ้าหน้าที่รัฐ มากล่าวหาดำเนินคดี อาทิเช่น กรณีการออกหมายเรียกและแจ้งข้อกล่าวหาอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน 2 ราย จากการชุมนุม 19-20 ก.ย. ทั้งที่ทั้งสองคนไม่ได้ไปร่วมชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่กลับนำภาพถ่ายในที่ชุมนุมซึ่งไม่ชัดเจน มาระบุว่าเป็นทั้งสองคน

หรือกรณี “แหวน” ณัฐธิดา มีวังปลา ซึ่งเดินทางไปในที่ชุมนุมในฐานะพยาบาลอาสา ก็กลับถูกออกหมายเรียกไปด้วย ก่อนเจ้าหน้าที่จะไม่แจ้งข้อกล่าวหาหลังเธอเขาให้ปากคำ รวมทั้งกรณีของธนวัฒน์ วงค์ไชย นักกิจกรรมที่ไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยและไม่มีบทบาทเป็นผู้จัดกิจกรรมแต่อย่างใด แต่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว 3 คดี จากการเดินทางไปร่วมการชุมนุมเฉยๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นต้น

 

หากพิจารณารายงานข่าวที่ระบุว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ประเมินการเคลื่อนไหวชุมนุมเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ว่าสถานการณ์การชุมนุมอ่อนแรงลงไป พร้อมกับมีการเสนอรัฐบาลให้ปล่อยให้มีการชุมนุม “แล้วใช้กฎหมายดำเนินการในภายหลัง ซึ่งการใช้วิธีนี้เชื่อว่าผู้ชุมนุมจะอ่อนแรงลงไปเอง”

กล่าวได้ว่าภายใต้กรอบคิดเช่นนี้เอง ที่ทำให้การดำเนินคดีจากการชุมนุมดังกล่าวข้างต้น มีลักษณะเป็นการใช้ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการตอบสนองต่อเป้าหมายทางการเมือง เพื่อปราบปรามและหยุดยั้งการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง สร้างภาระทางคดีให้ผู้เคลื่อนไหวคัดค้าน ดังที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มิใช่ “การรักษากฎหมาย” ในระบบนิติรัฐ และการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อสร้าง “ความยุติธรรม” ขึ้นในสังคมแต่อย่างใด

 

อ่านเพิ่มเติม

ก่อนจะถึง 14 ตุลา: ภาพรวม “การคุกคามประชาชน” หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก

 

X