เสียงของ “เยล” นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการ เมื่อต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดี ม.116

1

“ถ้าไม่ติดครอบครัวที่บ้านเชียงราย ผมไม่ประกันตัวนะ (หัวเราะ)” เยลกล่าวติดตลก พร้อมกับบอกเหตุผลว่าถ้าต้องเข้าไปอยู่ในคุกจริงๆ เขาอยากไปศึกษาว่ามี facility (สิ่งอำนวยความสะดวก) สำหรับคนพิการที่ต้องโทษ เพียงพอหรือไม่ อย่างไร พร้อมกับน่าจะทำงานศึกษาจัดทำออกเป็นรูปเล่มได้

สุริยา แสงแก้วฝั้น หรือ “เยล” หนุ่มวัย 32 ปี เกิดในครอบครัวเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย เขาป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อเกร็งมาตั้งแต่เด็ก แต่ฝึกฝนจนสามารถเดินได้ด้วยตนเอง โดยต้องใช้วอล์กเกอร์ในการพยุงตัว สถานะที่เลือกไม่ได้ของชีวิตดังกล่าว กลับทำให้เมื่อเติบใหญ่ขึ้น เขากลายมาเป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิของคนพิการ

26 ตุลาคม ที่ผ่านมา เขาเพิ่งทราบว่าตนเองเป็นหนึ่งในผู้ถูกออกหมายจับและดำเนินคดี จากการเข้าร่วมปราศรัยในการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ข่วงประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 63  เยลกับนักศึกษา/นักกิจกรรมคนอื่นๆ รวม 9 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ถึง 5 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามมาตรา 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต  และนี่กลายเป็นคดีทางการเมืองคดีแรกในชีวิตของเยล

เยลสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนศึกษาต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน โดยทำหัวข้อค้นคว้าอิสระเพื่อจบการศึกษาเรื่องโอกาสการจ้างงานคนพิการในองค์กรภาครัฐ นอกจากงานเรื่องสิทธิของคนพิการ เขายังสนใจในปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรและกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ

เยลยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคสามัญชน เพราะเห็นว่ามีอุดมการณ์ตรงกัน จนกระทั่งเขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 3 ของพรรค ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่ยังไม่สามารถฝ่าฟันเข้าสู่สภาได้

ปัจจุบัน เขาทำงานประจำในองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศองค์กรหนึ่ง และยังหุ้นกันกับเพื่อน ทำธุรกิจขายข้าวไก่ทอดซอสเกาหลีทางสื่อสังคมออนไลน์ด้วย

วันที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา เยลเลยได้นำไก่ทอดไปให้เพื่อนๆ ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่สภ.เมืองเชียงใหม่ด้วย แต่เขาไม่รู้ว่าตำรวจได้กินไก่หรือไม่

“พอโดนคดี ผมก็เลยได้โปรโมตไก่ (หัวเราะ)”

.

ภาพผู้ต้องหาคดีเชียงใหม่จะไม่ทน หลังเข้าแสดงตัวที่สภ.เมืองเชียงใหม่ ก่อนถูกแจ้ง 5 ข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 63

.

2

“ผมเคยได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นระดับชาติน่ะ ในสมัยยุคที่ไม่ได้เป็นเผด็จการ ยังเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่วันดีคืนดี ผมกลายเป็นผู้ต้องหาในคดี ถึงแม้ว่าจะเป็นคดีทางการเมืองก็ตาม”

เยลทบทวนให้ฟังว่าการร่วมปราศรัยในการชุมนุมที่ประตูท่าแพนั้น ไม่ใช่การขึ้นปราศรัยทางการเมืองครั้งแรก แต่เขาเคยขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงในนามตัวแทนของพรรคสามัญชนในช่วงสมัครรับเลือกตั้งต้นปี 2562 มาแล้ว

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นในสมัยยังเป็นนักศึกษา ช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 เยลเคยร่วมเวทีภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อคัดค้านการใช้ความรุนแรงในช่วงการชุมนุมของ กปปส. ซึ่งมีเหตุปะทะกันหลายครั้งในช่วงดังกล่าว รวมทั้งยังไปร่วมคัดค้านการรัฐประหาร 2557 ด้วย

สำหรับเวทีเมื่อวันที่ 9 ส.ค. นั้น เขาไม่ได้เป็นผู้จัดเวทีแต่อย่างใด แต่ได้รับการชักชวนจากเพื่อนๆ ในเครือข่าย ให้ไปร่วมขึ้นเวที เยลเล่าว่าผู้จัดอยากให้กิจกรรมมีความหลากหลาย มีผู้ปราศรัยทั้งกลุ่มนักศึกษา นักเรียนมัธยม กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) และอยากให้มีตัวแทนของคนพิการด้วย  ในฐานะที่เขาเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิของคนพิการและสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว จึงตัดสินใจไปร่วมเวที

เยลย้อนทบทวนประเด็นที่เขาได้ขึ้นปราศรัยว่า “วันนั้นได้พูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรงไปตรงมา ว่าการทำงานที่ผ่านมามันล้มเหลวยังไงบ้าง มันสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติยังไง แล้วก็พูดถึงต้นตอของปัญหาการเมืองทั้งหมดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ 2475 จนมาถึงปัจจุบัน ว่าต้นตอหลัก เราก็รู้อยู่คืออะไร แต่เราไม่สามารถที่จะพูดได้เต็มปาก และพูดถึงว่าเราคือประชาชน เราไม่ใช่ฟ้า เราแค่ประชาชนเล็กๆ ที่สามารถตะโกนโห่ร้องให้กึกก้อง เผื่อฟ้าจะได้ยิน มีความเมตตาปรานี และแซวเล่นๆ ว่าฟ้าแกล้งไม่รู้ว่าเราตะโกนโห่ร้องอยู่”

เยลยังจบการปราศรัยวันนั้นด้วยการท่องบทกวีของวิสา คัญทัพ จากยุค 14 ตุลา ที่มีวรรคทองคือ ‘เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’

แน่ล่ะ, เพียงแค่การขึ้นพูดเนื้อหาถ้อยความดังกล่าว เพียง 10 กว่านาที ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดีในข้อหาหนักหน่วง

“ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองจะถูกดำเนินคดี เพราะผมคิดว่า เอาตรงๆ นะ ตำรวจน่าจะฟังผมไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) แล้วก็ผมพูดแซวคุณตำรวจว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ส่วนผมเป็นราษฎร ก็ขอว่าอย่าทำอะไรเยาวชน เพราะเขามาเรียกร้องตามสิทธิ ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ

“วันที่รับทราบข้อกล่าวหา ก็มีคนถามตำรวจ ใครไม่รู้ถามนะครับ ว่าทำไมต้องดำเนินคดีผม ตำรวจว่าเขาทำตามคำสั่ง และที่จริงพนักงานสอบสวนก็ไม่อยากดำเนินคดีสักเท่าไร”

.

3

“ฝันว่าได้รับเกียรติสูงสุด คือผู้ต้องหาคดีการเมือง

ในยุคเผด็จการ นี่แหละคือความใฝ่ฝันและฝันใฝ่”

เยล โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563

ก่อนหน้าจะรู้ว่าตนถูกออกหมายจับ เยลพอทราบเค้าลางว่าเขาอาจเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีด้วย เมื่อได้มีการจับกุมทนายอานนท์ นำภา และแกนนำนักศึกษาอย่างประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ มาคุมขังที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับมีรายงานปรากฏตามสื่อมวลชนว่ามีการออกหมายจับนักศึกษาและผู้ร่วมเวทีคนอื่นๆ ในกรณีเดียวกันนี้อีก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อ แม้จะมีกลุ่มคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปทวงถามถึงสถานีตำรวจ 2 ครั้ง

จนกระทั่งในครั้งที่ 3 ที่คณาจารย์และนักศึกษาผู้คาดว่าตนเองน่าจะถูกดำเนินคดีด้วย ได้เดินทางไปยังสภ.เมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ตำรวจจึงยินยอมแจ้งรายชื่อและแสดงหมายจับนักศึกษาประชาชนอีก 7 คน หมายจับซึ่งออกโดยศาลจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 แต่ไม่เคยมีแสดงหมายหรือจับกุมเกิดขึ้นตลอดเกือบสองเดือนก่อนหน้านี้

“โดยหลักการแล้ว ใช้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ต้องนับว่าผมเป็นคนพิการ ตัดตรงนั้นไปได้ ถ้าตามหลักทั่วไป เขาต้องออกหมายเรียกผมก่อน ออกสองครั้ง สามครั้ง ก็ว่าไป เพื่อจะให้เราเตรียมตัวไป แต่ทีนี้ มันไม่มีวี่แววที่จะออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเลย

“แล้ววันนั้นที่เราไป ก็ลังเลใจในสถานะที่เราไป ว่าเราไปในสถานะอะไร ระหว่างคนไปให้กำลังใจเพื่อนนักศึกษา หรือไปในสถานะผู้ที่อาจจะตกเป็นผู้ต้องหา เพราะว่าคนอื่นที่พูดปราศรัยในวันเดียวกัน ก็โดนไปแล้ว ทั้งทนายอานนท์ และน้องเจมส์ ประสิทธิ์

“พอรู้ว่าเรามีชื่อโดนดำเนินคดีด้วย ถูกออกหมายจับ ก็รู้สึกขำ ไม่นึกว่าจะโดนจริงๆ ไม่นึกว่าจะมีชื่อเราในหมายจับนั้นด้วย แต่ถามว่าเศร้าไหม ก็ไม่เศร้านะ เพราะในโต๊ะการสอบสวน โต๊ะผมฮาที่สุด (หัวเราะ)”

เมื่อถามถึงความเห็นต่อสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายที่เห็นที่เป็นอยู่เช่นนี้ เยลบอกว่าเขาเห็นว่ามันมีปัญหามากๆ และมีความไม่เป็นธรรมที่สืบต่อเนื่องมายาวนาน ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น

“คือเจ้าพนักงานสอบสวน ในสำนวนคดี ก็ต้องกลั่นกรองบ้างนะ และควรมี common sense มีสามัญสำนึกบ้าง ว่าจะดำเนินคดีกับใครยังไง และไม่ควรจะดำเนินคดีเพราะอะไร

“ผมคิดว่าตอนนี้เราอยู่ในวัฒนธรรมทางกฎหมายที่ฝังรากลึก คนซึ่งมีอำนาจมักอยู่เหนือกฎหมาย แล้วทำอะไรก็ไม่ผิด แต่คนตัวเล็กตัวน้อย ชาวบ้านตาดำๆ มักจะเป็นเหยื่อของการบังคับใช้กฎหมายอยู่ร่ำไป”

.

.

4

วันนั้น…หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหา เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นตำรวจ โดยมีอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นนายประกันให้ แต่นั้นดูเหมือนจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เยลต้องต่อสู้คดีที่อาจยืดเยื้อยาวนานต่อไปเป็นปีๆ

“ถามว่ากังวลไหม ส่วนตัวผมไม่ค่อยกังวลที่ต้องสู้คดี เป็นไงเป็นกัน แต่กังวลเรื่องมีพันธะผูกพัน พะวงว่าทางบ้านพ่อแม่จะโอเคไหมกับสถานะแบบนี้ จะคิดแบบไหนยังไง ตอนนี้ผมก็ยังไม่ได้บอกพ่อกับแม่ แต่เขาน่าจะเห็นข่าวและพอทราบคร่าวๆ คือสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะชาวบ้านตามชนบท การถูกออกหมายจับนี่รุนแรงนะ

“ลึกๆ ใจผม ถ้าไม่ผูกพันกับพันธะอะไร ผมโอเคนะ คือเคลื่อนไหวมาเกือบสิบๆ ปี ถ้าไม่มีข้อกล่าวหา ถ้าไม่มีการถูกจับกุมดำเนินคดี มันคือเคลื่อนไหวแบบไหนว่ะ (หัวเราะ) ยิ่งเราเป็นลูกชาวบ้านหลานชาวนา พ่อไม่มีเส้นสายอะไร มันก็เลยเป็นเกียรติยศหนึ่ง ทำยังไงได้ มันเป็นแบบนี้แล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อสู้คดีต่อไป”

เมื่อถามว่ามีคนชวนไปขึ้นเวทีปราศรัยอีกจะไปไหม เยลบอกว่ายังต้องดูเป็นงานๆ ไป แต่ก็คิดว่าไปได้ ไหนๆ โดนคดีมา 5 ข้อกล่าวหาแล้ว เอาเพิ่มเป็น 6 7 8 ข้อหา จะเป็นไรไป เยลบอกว่าการออกไปปรากฏตัวในพื้นที่ทางการเมืองเช่นนี้ เป็นอีกวิธีการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคมในแบบของเขาด้วย

“คอนเซปที่ผมทำงาน เขาบอกว่าเอาตัวเองไปปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะให้มากที่สุด เพี่อที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมอะไรบางอย่างที่ครอบงำสังคมไทย ว่าคนพิการคือกลุ่มคนที่ยังไงก็ได้กับสังคม และรอรับอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ใช่ อย่างเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยก็เหมือนกัน คนพิการก็มีส่วนร่วมได้ เราสร้างพื้นที่ให้กับตัวเอง ในฐานะที่เรามี identity แบบนี้ มีอัตลักษณ์แบบนี้

“ผมก็เคยพูดหลายครั้ง หลังขึ้นเวทีวันที่ 9 ส.ค. ว่าผมไม่ได้มาพูดในนามของผู้พิการ ผมไม่ได้มาพูดในนามขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ผมมาพูดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่คิดว่าตัวเองมีสิทธิ มีเสียงเท่ากัน เหมือนคุณ เหมือนท่านทั้งหลาย ที่ออกมาพูด มาแสดงพลัง

“ผมอยากเห็นสังคมดี สังคมเป็นประชาธิปไตย สังคมที่มีความเป็นธรรม ไม่ว่าจะในทางกฎหมาย ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทุกวันนี้สังคมไทยยังห่างไกลมากจากความยุติธรรม ถ้าสังคมเป็นธรรม ประชาชนก็สามารถมีสิทธิมีเสียงในการยอมรับกัน มีความเสมอภาค เพราะทุกคนสามารถกำหนดชีวิตของตนเองได้มากขึ้น”

.

อ่านรายงานข่าวการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

7 นศ.-ปชช.เข้าแสดงตัว ตร.แสดงหมายจับ 5 ข้อกล่าวหา คดีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน

X