จำคุก 6 เดือน คดีโพสต์รองผบ.ตร.เอี่ยวทำร้ายนักกิจกรรม ศาลชี้ข้อความทำให้ปชช.ไม่เชื่อมั่น ตร.

15 ต.ค. 63 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ สุชานันท์ (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความว่า รอง ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ อยู่เบื้องหลังการทำร้ายนักกิจกรรม จ่านิว ฟอร์ด และเอกชัย เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2562

คดีนี้ นางสาวธีรารัตน​์ บุตรโพธิ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสุชานันท์ ในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) คดีมีการสืบพยานไประหว่างวันที่ 8-10 ก.ย. 63

 

พิพากษาจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา  ศาลเห็นว่าข้อความทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยประชาชน

เวลา 9.00 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี ห้อง 911 ในวันนี้มี สุชานันท์ (จำเลย) และทนายจำเลย 1 คน ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีก 2 คน เข้าร่วมฟังคำพิพากษา

เนื้อหาคำพิพากษาโดยสรุปดังนี้ 

พยานหลักฐานได้ระบุว่า ในวันเวลาดังกล่าวมีผู้นำเข้าข้อมูลเท็จบนเฟซบุ๊กของสุชานันท์ (สงวนนามสกุล) โดยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ตามเอกสารหมาย จ.1 ว่า

“รองช้าง หรือ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย หัวหน้าแก็งค์สีกากี ตามกระทืบนักกิจกรรม เอกชัย, ฟอร์ด,จ่านิว” 

“เรื่องใหญ่ที่ท่านผู้การกองปราบ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ต้องแก้ปัญหา.. ที่มีตำรวจชั้นประทวนในสังกัด “กองปฏิบัติการพิเศษกองปราบ 4 คน ไปช่วยพล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร.เคยคุมกองปราบมาก่อน เลี้ยงตำรวจโจรในกองปราบไว้ใช้ ได้ก่อเหตุไปดักตีหัว “จ่านิว” และ “ฟอร์ด” กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์เป็นลูกน้องแขนซ้ายของ พล.ต.อ.ประวิตร นั่นเอง”

ถือว่ามีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) 

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 62 พนักงานสอบสวนได้เข้าจับกุมจำเลยตามหมายจับของศาล โดยพนักงานสอบสวนได้นำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว จำเลยได้ให้การปฏิเสธ

โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และอีก 13 บุคคลที่ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวบนหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง ผู้ต้องหาทั้งหมดรับสารภาพ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความผิด หมายเลขคดีแดง 28/2562 ส่วนจำเลย (สุชานันท์) นั้นแยกฟ้องมาอีกคดีหนึ่ง 

ในการสืบพยาน พยานโจทก์ปากที่ 1 พล.ต.ต.สุรินทร์ ทับพันบุปผา เบิกความว่าพยานพบเห็นชื่อบัญชีเฟซบุ๊ก “เจ๊แน๊ต สุชานันท์” โพสต์ข้อความอ้างอิงถึง พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ซึ่งเป็นรองผบ.ตร.ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 62 โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ มีเนื้อความว่าพล.ต.อ.ชัยวัฒน์ และ  พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้กำกับการกองปราบปราม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายนักกิจกรรม (นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ทำร้ายนักกิจกรรม แต่มีหน้าที่สืบเสาะหาผู้กระทำผิดในการทำร้ายนักกิจกรรม และเนื่องจากขณะนั้นสังคมยังมีความวุ่นวายอยู่ โพสต์ของสุชานันท์จึงทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นและแชร์โพสต์ดังกล่าวจำนวนมาก อาจทำให้ประชาชนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นคล้ายโจรจริง ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงดำเนินคดีกับจำเลย

พยานโจทก์ปากที่ 2 พ.ต.ต.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล สว.กก.3 บก.ปอท. ผู้สืบสวนคดี เบิกความว่ามีหน้าที่สืบหาผู้ใช้เฟซบุ๊ก “เจ๊แน๊ต สุชานันท์” โดยพยานโจทก์ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าวแล้วพบว่ารูปโปรไฟล์ตรงกับข้อมูลของกรมการปกครองของจำเลย ทั้งอัลบั้มรูปในเฟซบุ๊กมีภาพถ่ายของจำเลยเป็นจำนวนมาก จึงสรุปได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้จริงและได้โพสต์พาดพิงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นอกจากนี้ เชื่อได้ว่าพนักงานสอบสวนผู้เป็นพยานโจทก์ที่ 2 ทำตามหน้าที่ ในการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าบัญชีดังกล่าวเป็นใครมาโดยตลอด ไม่มีความโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้กลั่นแกล้ง จึงมีน้ำหนักให้เชื่อถือ

ตามที่พนักงานสอบสวนได้ติดตามข้อมูลนั้น รูปอัลบั้มในเฟซบุ๊กและภาพถ่ายในชีวิตประจำวัน กับข้อมูลตามกรมการปกครอง แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กนี้เป็นคนเดียวกัน แม้มีรูปภาพอื่นๆ ได้แก่ รูปภาพของนักการเมืองและรูปภาพสัตว์ต่างๆ แต่รูปภาพของจำเลยนั้นมีมากกว่า 

นอกจากนี้ชื่อเฟซบุ๊กนั้นตรงกับชื่อของจำเลยคือสุชานันท์ เนื่องจากจำเลยไม่ใช่ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง คงไม่มีผู้แอบแฝงหรือแอบอ้างชื่อของจำเลยเพื่อโพสต์ข้อความได้ และการเข้าใช้เฟซบุ๊กนั้นต้องใช้ชื่อและรหัสลับในการใช้งาน ถ้าไม่ใช่เจ้าของบัญชี ผู้อื่นย่อมไม่อาจนำบัญชีเฟซบุ๊กของสุชานันท์ไปโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กได้ และไม่ได้เชื่อว่ามีผู้อื่นเปิดเฟซบุ๊กเพื่อแอบอ้าง หรือไม่ได้นำชื่อเฟซบุ๊กพร้อมรหัสผ่านไปให้ผู้อื่นใช้งาน

จากคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ 2 แจ้งว่าต้องเข้าถึงโทรศัพท์ของเจ้าของบัญชี เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยโพสต์รูปดังกล้าวจริง แต่เมื่อตรวจสอบและเข้าถึงเฟซบุ๊กดังกล่าวอีกครั้ง พบว่ามีการปิดการใช้งาน ซึ่งการปิดบัญชีเฟซบุ๊กนั้นต้องเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดำเนินการเท่านั้น เฟซบุ๊กไม่สามารถดำเนินการปิดบัญชีดังกล่าวได้ 

ดังนั้นจึงเห็นว่าจำเลยมีการปิดบังข้อมูลในเฟซบุ๊ก ทั้งยังปฏิเสธและไม่ให้การกับพนักงานสอบสวน มีเพียงพยานโจทก์ขึ้นเบิกความ แต่จำเลยกลับไม่ขึ้นสืบพยาน และไม่มีการแก้ต่างให้เป็นอย่างอื่น

เมื่อพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าพล.ตร.อ.ชัยวัฒน์เป็นพนักงานสอบสวนและผู้บังคับบัญชาการชั้นสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้กฎหมายดูแลความสงบ เพื่อสอบสวนข้อมูลของผู้กระทำผิดในขณะนั้น (กรณีการทำร้ายจ่านิว) และพยานโจทก์ปากที่ 1 บอกว่าตนเป็นผู้สืบเสาะข้อมูลระหว่างโพสต์รูปภาพอื่น ขณะนั้นยังหาผู้กระทำความผิดกรณีนี้ไม่ได้ 

หลังจากโพสต์ของจำเลยได้ถูกเผยแพร่ออกไป รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงว่า การเผยแพร่ข้อมูลว่า พล.อ.ชัยวัฒน์ อยู่เบื้องหลังการทำร้ายนักกิจกรรม เป็นการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำให้เชื่อว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ทำร้ายร่างกาย 

การโพสต์ข้อความว่า พล.ตร.อ.ชัยวัฒน์เป็นแขนซ้ายของพล.อ.ประวิตร จนเป็นการเชื่อมโยงกับรัฐบาล ทำให้เกิดการต่อต้านตำรวจซึ่งยังมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย และยังต้องดูแลประชาชน ถ้าประชาชนเห็นว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการระดับสูงซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีส่วนในการทำร้ายผู้เห็นต่าง ย่อมทำให้ผู้คนนั้นกระด่างกระเดื่อง เกิดความสั่นคลอนในบ้านเมือง 

โพสต์ข้อความยังมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นและแชร์โพสต์ของจำเลยเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีผู้นำโพสต์ดังกล่าวออกไปโพสต์บนเฟซบุ๊กของตนเอง ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่ 

จึงเป็นความผิดฐานการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2) แต่ที่โจทก์กล่าวหาว่าเป็น 2 กรรมนั้น จากการโพสต์ 2 โพสต์ เห็นว่าตามภาพ โพสต์ในเวลา 21.31 น. ซึ่งเป็นเวลาเดียวกัน จึงเป็นการโพสต์ต่อเนื่อง นับเป็น 1 กรรม

ศาลลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา หากเห็นแย้ง ให้ยื่นอุทธรณ์ และให้ยื่นประกันตัวได้ตามกฎหมาย

 

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาจบ สุชานันท์ตกใจอย่างมากเพราะไม่คาดคิดว่าศาลจะลงโทษจำคุกตน ไม่ได้เตรียมญาติมาเพื่อทำเรื่องประกันตัว จึงรีบติดต่อญาติให้มาทำเรื่องประกัน

จากนั้นเมื่อจำเลยและผู้เกี่ยวข้องลงชื่อในเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงพาตัวสุชานันท์ลงไปในห้องขังใต้ถุนศาลทันที 

ในขณะที่ทนายจำเลยและญาติของสุชานันท์ เร่งดำเนินเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว และในเวลา 16.46 น. ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ ด้วยวงเงินประกันหนึ่งแสนบาท ผ่านการเช่าหลักทรัพย์ และจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์คดีต่อไป

สุชานันท์และทนายความ

 

คำเบิกความโจทก์

หากย้อนทบทวนการต่อสู้คดีนี้ในชั้นศาล ฝ่ายโจทก์นำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 6 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, ผู้สืบสวนยืนยันตัวตน, พนักงานสอบสวน และพยานความเห็นอีก 3 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลย ไม่ได้นำพยานเข้าสืบ แต่อาศัยซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ และต่อสู้ว่าสุชานันนท์ไม่ได้เป็นผู้โพสต์และข้อความที่ปรากฏตามฟ้องไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งพฤติการณ์ไม่ได้เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามฟ้อง

พยานโจทก์ปากที่ 1: พล.ต.ต.สุรินทร์ ทับพันบุปผา ผู้กล่าวหา

ขณะเกิดเหตุคดีนี้ พยานปากนี้เป็นผู้บังคับการกองตรวจราชการไทย สำนักงานจเรตำรวจ เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อ 5 กรกฎาคม 2562 เวลา 10:00 น. พล.ต.ต.สุรินทร์กำลังปฏิบัติราชการที่สำนักงานของพล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการเปิดเฟซบุ๊กบัญชีของราชการ ชื่อเฟซบุ๊กอะไรพยานจำไม่ได้ ขณะตรวจสอบ ได้พบข้อความในเฟซบุ๊กชื่อ “เจ๊แน็ต สุชานันท์” 

พยานเบิกความว่าข้อความตามฟ้องนี้เป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงแล้วพล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เป็นข้าราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ในการบังคับ รักษา ดูแลความสงบเรียบร้อยสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะเกิดเหตุยังไม่ทราบผู้กระทำผิด 

พล.ต.ต.สุรินทร์เห็นว่าหากประชาชนทั่วไปได้เห็นข้อความนี้ ความคิดเห็นของสาธารณะส่วนหนึ่งต่อ รองผบ.ตร. ก็อาจเชื่อว่าเป็นไปตามความจริง มีผลต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ และเกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน

พยานเห็นว่าพล.ต.อ.ชัยวัฒน์ รองผบ.ตร. มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย บังคับใช้กฎหมาย ถ้ามีพฤติการณ์อย่างที่โพสต์จะทำให้บทบาทเสียหาย กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัย แทนที่จะรักษากฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย กลับทำความผิดเสียเอง ทำร้ายร่างกายผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีภารกิจหลักคือรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความมั่นคงของประเทศ แต่กลับเป็นฝ่ายที่คุกคามประชาชนเสียเอง

พยานกล่าวว่า หลังจากพบเห็นข้อความ 2 ข้อความ ก็มีการแจ้งกับทีมงานของพล.ต.อ.ชัยวัฒน์ ทั้งยังเบิกความด้วยว่า 

“จริงๆ ข้อความนี้ นอกจากผิด พ.ร.บ.คอมฯ แล้ว ยังมีความผิดปมหมิ่นประมาท แต่พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ ไม่ดำเนินคดีผิดต่อส่วนตัว ให้อภัยได้ ท่านเมตตา แต่ความผิดพ.ร.บ.คอมฯ เป็นความผิดต่อแผ่นดิน กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ จึงแจ้งให้ผมไปกล่าวโทษที่ ปอท.”

เมื่อทนายความถามค้านว่า การตรวจสอบของพยานว่าผู้บังคับบัญชาไม่มีความผิด ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี เป็นการตรวจสอบคนเดียว อีกทั้งภายหลังการโพสต์ พยานก็เบิกความว่า การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังทำงานได้ตามปกติ ไม่มีเหตุขัดข้อง  ทั้งตัวพยานเองก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ 

พยานปากที่ 2  พ.ต.ต.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล สว.กก.3 บก.ปอท. ผู้สืบสวน

พ.ต.ต.อิสรพงศ์เกี่ยวข้องเป็นผู้สืบสวนเพื่อยืนยันว่าบัญชีดังกล่าวคือใคร และคนแชร์เป็นใคร พยานเบิกความว่าประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 ผู้บังคับบัญชาให้สืบหาคนที่ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “เจ๊แน๊ต สุชานันท์” เนื่องจากมีการโพสต์ข้อความสื่อถึง พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ และ พ.ต.ต.จิรภพ โดยสรุปใจความว่า 2 คนตั้งกองกำลังส่วนตัวไปทำร้ายจ่านิว

สำหรับเฟซบุ๊ก “เจ๊แน็ต สุชานันท์” ข้างชื่อบัญชีปรากฏรูปโปรไฟล์เป็นบุคคล ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วเป็นบุคคลที่มีรูปพรรณตรงกับสุชานันท์ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ อีกทั้งพอเปิดเข้าไป มีรูปถ่ายกิจวัตรประจำวัน ซึ่งตรงกับรูปพรรณสุชานันท์จำนวนหลายภาพ 

พยานนำภาพมาจากเฟซบุ๊กของเขามาเทียบกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และตรวจสอบประวัติส่วนตัวของจำเลย โดยเป็นการตรวจสอบข้อมูลจากระบบข้อมูลของกรมการปกครอง

สาเหตุที่เชื่อว่าสุชานันท์กับเจ้าของบัญชีเป็นคนเดียวกันเพราะชื่อไปตรงกับทะเบียนราษฎร์ และตำหนิรูปพรรณตรงกับภาพของกรมการปกครอง

นอกจากตรวจสอบสุชานันท์ก็ตรวจสอบคนอื่นด้วย โดยมีบุคคลอีก 13 คนที่แชร์โพสต์ เหตุที่คนทั่วไปแชร์โพสต์ของ “เจ๊แน็ต” ได้ เนื่องจากตั้งค่าสาธารณะ ตรงการกดแชร์จะขึ้นชื่อบัญชี จึงทราบว่าบุคคลใด พยานจึงเอาภาพโปรไฟล์มาเทียบกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์

อย่างไรก็ดี ในช่วงทนายความถามค้าน พ.ต.ต.อิสรพงษ์ รับว่าในคดีนี้ไม่ได้มีการสอบถามไปทางเฟซบุ๊กว่าเจ้าของเฟซบุ๊ก “เจ๊แน็ต สุชานันท์” คือใคร ใช้เบอร์โทรศัพท์ใด IP Address ใด ใช้อีเมล์ใด  

จากที่พยานทำคดีมา เฟซบุ๊กจะไม่ตอบหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 112 หรือประเด็นการเมือง เป็นตำรวจสืบหาเอง ดังนั้นในทางสืบสวน ไม่ทราบว่า “เจ๊แน็ต” ใช้มือถือ และ IP Address อะไรในการเปิดบัญชีอะไร

พยานได้ไปตรวจสอบประวัติครอบครัวของนายสุชานันท์ แต่ไม่ได้สอบถามบุคคลในครอบครัวว่านายสุชานันท์เป็นผู้ใช้บัญชี “เจ๊แน็ต สุชานันท์” หรือไม่

เหตุที่ทราบว่าเจ้าของบัญชีคือจำเลยในคดีนี้ พยานตรวจแค่นำภาพในบัญชีเฟซบุ๊กมาเทียบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้ ไม่มีหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ 

เมื่ออัยการถามติงในประเด็นที่ว่า เหตุใดจึงเชื่อว่า เปรียบเทียบภาพแล้ว ทราบว่าเป็นจำเลยนั้น เนื่องจาก 

  1. ภาพถ่ายเป็นกิจวัตรประจำวัน โดยลงตามวันที่และเวลาต่างกัน แต่ก็ลงในเวลาใกล้เคียงกัน ถ้าปลอม รูปสองรูปก็พอแล้ว
  2. สะกดชื่อ-นามสกุลตรง และใช้คำนำหน้าว่า “เจ๊” ซึ่งตรงกับเพศสภาพจำเลย
  3. สุชานันท์ไม่ใช่คนมีชื่อเสียงขนาดจะมีคนมาปลอม จึงไม่น่าจะมีผู้ใดมาปลอมชื่อบัญชีของจำเลย

สำหรับข้อความที่ปรากฎโพสต์ข้อความทั้ง 2 ข้อความในคดี นี้เป็นการแชร์ข้อความพร้อมภาพถ่าย เท่ากับเป็นการนำเข้าข้อความพร้อมภาพถ่ายประกอบกันจำนวน 2 ภาพ ซึ่งผู้โพสต์คือเจ้าของบัญชี ไม่ได้เป็นผู้บรรยายข้อความเอง 

ส่วนใครจะเป็นต้นเรื่องในการพิมพ์ข้อความประกอบภาพดังกล่าว พยานไม่ทราบ ทราบเพียงว่าเจ้าของบัญชีเป็นจำเลย

พยานประชาชน 2 ปาก: อ่านข้อความแล้วไม่น่าเชื่อ ไม่น่าเป็นไปได้

พยานฝ่ายโจทก์ในกลุ่มประชาชนทั่วไปอีก 2 ปาก ได้แก่ นายสรวิศ แก้วอ่วม อาชีพขับมอเตอร์ไซต์รับจ้างบริเวณเขตหลักสี่ และนายกิตติพงศ์ ช่วยบุญชู อาชีพทนาย ในช่วงวันที่ 4 และ 5 ก.ค. 2562 ทั้งสองได้ไปที่อาคาร B ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เข้ามาให้ดูภาพและข้อความ และสอบถามว่าเห็นภาพและข้อความดังกล่าวแล้วรู้สึกอย่างไร 

พยานทั้งสองให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเห็นโพสต์แล้วไม่เชื่อและคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้  นายสรวิศเบิกความว่าเห็นแล้วรู้สึกไม่ดี เนื่องจากผู้รักษากฎหมายมารังแกประชาชน แต่ก็ไม่ได้เชื่อ เนื่องจากพล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เป็นข้าราชการชั้นสูง จึงไม่น่าทำเรื่องดังกล่าวได้เช่นเดียวกับ

นายกิตติพงศ์ อาชีพทนายความ เบิกความว่าตอนเห็นข้อความแบบนี้ พยานรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่เชื่อว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริง เนื่องจากในขณะนั้นศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าพล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด 

แต่ในการลงข้อความดังกล่าว นายกิตติพงศ์เห็นว่าผู้เผยแพร่น่าจะมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนทั่วไปเกลียดสำนักงานตำรวจแห่งชาติและฝ่ายรัฐบาล ถ้าประชาชนส่วนมากเชื่อ ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่รักษากฎหมาย แต่กลับกระทำความผิดเสียเอง มีความมุ่งหมายให้คนเข้าใจว่าพล.ต.อ.ชัยวัฒน์ จะทำร้ายผู้ที่มีความเห็นต่อต้านรัฐบาล อีกทั้งพยานมองว่าช่วงที่มีการโพสต์นั้นเป็นช่วงที่สังคมกำลังวุ่นวาย เนื่องจากความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน ดังนั้นการโพสต์ทำให้บุคคลที่ไม่รู้ความจริงยิ่งเชื่อ ทำให้ต่อต้านรัฐบาลมากกว่าเดิม ส่งผลให้เกิดความชุมนุมวุ่นวายขึ้นในประเทศ

แต่เมื่อทนายถามค้านว่า ตอนที่ตำรวจให้ดูข้อความ พอดูแล้วก็รู้สึกกลัวหรือระแวงตำรวจหรือไม่ ทั้งสองตอบในลักษณะเดียวกันว่าไม่ได้รู้สึกกลัวตำรวจ ยังคงไปให้การกับตำรวจต่อ พอให้การเสร็จก็กลับบ้าน ใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งการใช้ชีวิตตามปกติเท่ากับยังคงเชื่อถือในการทำงานของตำรวจ หากมีเหตุด่วนเหตุร้ายเกิดขึ้นก็ยังคงไปแจ้งความกับตำรวจ 

 

อจ.นิติศาสตร์ ราชภัฏจันทรเกษม อ้างชื่อเสียงของข้าราชการชั้นสูงเท่ากับความมั่นคงของประเทศ

พยานนักวิชาการ 1 ปาก คือ ผศ.ดร.เจนพล ทองดี อายุ 45 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ตั้งแต่ปี 2547 จนปัจจุบัน สอนวิชากฎหมายอาญา, รัฐธรรมนูญ, ทางทรัพย์, ปกครอง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมฯ

ช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2562 ตำรวจปอท.ขอความร่วมมือมาทางมหาวิทยาลัย ให้มีนักวิชาการให้ความเห็นทางกฎหมาย โดยมีหนังสือมาขอความเห็น

ผศ.ดร.เจนพล เบิกความว่าตนเห็นโพสต์ดังกล่าวแล้วเข้าใจว่าตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมาย ใช้กำลังประทุษร้ายกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้าน คสช.

ตามปกติเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมายและป้องกันการกระทำผิด การโพสต์ข้อความดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ตื่นตระหนก และอาจนำไปสู่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นเนื่องจากไม่ไว้ใจตำรวจ ในขณะที่มีการโพสต์ บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่บุคคลมีความเห็นต่างทางการเมืองและเกิดความวุ่นวาย เมื่อได้พบเห็นข้อความ ยิ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนกและไม่ไว้ใจผู้รักษากฎหมาย

ในการตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ที่พยานอ้างว่าข้อความดังกล่าวพาดพิงตำรวจที่เป็นข้าราชการชั้นสูง หมายความว่าชื่อเสียงของข้าราชการชั้นสูงเท่ากับความมั่นคงของประเทศ พยานรับอย่างหนักแน่นว่า “ชื่อเสียงของข้าราชการชั้นสูงเท่ากับความมั่นคงของประเทศ เพราะเมื่อมีหน้าที่รักษาความมั่นคง ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคง” แต่ถ้าไม่ใช่บุคคลสาธารณะก็ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ

ทนายความจึงถามค้านต่อว่า เคยมีกรณีคำพิพากษาคดีรินดาโพสต์ข่าวลือว่าประยุทธ์โอนเงินหมื่นล้าน ศาลพิพากษาว่ากรณีนี้พาดพิงส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ผศ.ดร.เจนพล ตอบว่าไม่เคยเห็นคำพิพากษานี้มาก่อน

อย่างไรก็ดี พยานรับว่าเมื่อได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้วก็ไม่ได้รู้สึกแย่กับตำรวจ ยังคงเชื่อมั่นต่อตำรวจ

 

พยานปากสุดท้าย พนักงานสอบสวน 

ร.ต.อ.ปิยะวัฒน์ ปรัญญา เกี่ยวข้องเป็นพนักงานสอบสวนในคดี เบิกความว่าเมื่อ 5 กรกฎาคม 2562 เวลา 11.00 น. ได้มีพล.ต.ต.สุรินทร์ฯ มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “เจ๊แน็ต สุชานันท์” ที่มีการโพสต์ข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จฯ เมื่อได้เอกสารเห็นว่าเป็นคดีที่เข้าข่ายความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงทำบันทึกข้อความแจ้งไปยังฝ่ายสืบสวนเพื่อให้สืบสวนหาและระบุตัวตนผู้โพสต์และผู้แชร์ข้อความดังกล่าว

ต่อมาได้รับแจ้งจากพ.ต.ต.อิสรพงศ์ว่า ได้ทำการสืบสวนบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “เจ๊แน็ต” ซึ่งพบว่าในส่วน 1. ภาพโปรไฟล์ 2. ชื่อโปรไฟล์ 3. กิจกรรมที่เขาโพสต์ในบัญชีดังกล่าว จนทราบว่าเป็นผู้ต้องหาชื่อสุชานันท์ 

ต่อมาได้ดำเนินการ โดยกลุ่มผู้แชร์ได้ออกหมายเรียกไปและติดต่อได้ เขาก็เข้ามาพบ แจ้งข้อเท็จจริงว่าได้แชร์โพสต์จากบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว แจ้งข้อหาและสอบปากคำให้การบุคคลดังกล่าว โดยพยานไม่ได้เป็นคนขอหมายและไม่ได้เป็นคนค้น

การตอบทนายถามค้าน ในประเด็นเรื่องการสืบหาคนโพสต์ มี 2 แนวทาง 1. หาจากรูปโปรไฟล์ 2. ยึดมือถือ ทั้งสองแนวทางนี้ พยานรับว่าในการยึดมือถือตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งการตรวจสอบจากโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากหากได้โทรศัพท์มาแล้ว สามารถค้นข้อมูลในโทรศัพท์ได้

นอกจากนี้ ตามโพสต์เฟซบุ๊กที่เป็นความผิดในคดีนี้ บุคคลหรือข้าราชการตำรวจที่ถูกกล่าวหาให้เสียหายมี 3 คน คือ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์, พ.ต.ต.จิรภพ และ พล.อ.ประวิตร ตัวพยานในฐานะพนักงานสอบสวน ไม่เคยออกหมายเรียกบุคคลเหล่านี้มายืนยันข้อความว่าจะเป็นจริงเท็จอย่างไร

อีกทั้ง พยานไม่ได้เรียกพนักงานสอบสวนหรือขอสำนวนจากสน.มีนบุรี ที่รับผิดชอบคดีจ่านิวถูกทำร้าย เพื่อมายืนยันโพสต์นี้ว่าจริงหรือไม่ ตลอดจนไม่ได้เรียกหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริง ว่ามีเหตุการณ์ที่ประชาชนก่อเหตุความมั่นคงจากการอ่านโพสต์นี้หรือไม่

 

 

 

 

X