ผู้ใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธา…” ถูกเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายไปพบ ขอให้เลิกใส่

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2563 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Tiwagorn Withitonโพสต์ภาพตนเองใส่เสื้อสกรีนคำว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” พร้อมทั้งอธิบายความหมายและเหตุผล โดยระบุว่า “‘หมดศรัทธา’ ไม่ได้แปลว่า ‘ล้มเจ้า’” และใช้ภาพดังกล่าวเป็นภาพโปรไฟล์ โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นอย่างหลากหลายกว่า 4,000 ความเห็น มีทั้งที่ด่าทอ ไล่ให้ออกนอกประเทศ มีทั้งที่เข้าใจในเหตุผล แลกเปลี่ยนความเห็น ให้กำลังใจ หรือแสดงความเป็นห่วงว่าจะถูกดำเนินคดี-อุ้มหาย และมีทั้งผู้ที่เข้าไปข่มขู่คุกคามเจ้าของโพสต์หรือผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็นคนอื่นๆ ฯลฯ 

ต่อมาวันที่ 19 มิ.ย. 2563 เฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ว่า มีคนจากหมู่บ้านข้างเคียงมาถามข้อมูลของเขาจากแม่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้ติดต่อสอบถามไปยังนายทิวากร วิถีตน ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Tiwagorn Withiton”  ได้รับทราบข้อมูลว่า คนจากหมู่บ้านข้างเคียงที่เขากล่าวถึงก็คือ เจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. 2 นาย ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านใกล้เคียงจริงๆ โดยทั้งสองไม่แต่งเครื่องแบบ เข้าไปถามหาเขาที่บ้านก่อนหน้าที่เขาจะโพสต์เล่าเหตุการณ์ แต่พบเพียงแม่ของเขา เจ้าหน้าที่จึงสอบถามแม่ว่า ใครทำเสื้อตัวนี้ให้เขา และเขาทำร่วมกับคนอื่นอีกหรือเปล่า ซึ่งแม่ของเขาไม่รู้เรื่อง เจ้าหน้าที่จึงกลับไป โดยทิวากรคาดว่าการมาของ กอ.รมน. ในครั้งนั้นก็คงแค่มาสอบถามกับญาติก่อน 

ทิวากรยังเล่าว่า สายวันต่อมา เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาหาเขาอีกครั้ง ครั้งนี้มีจำนวนเกือบ 10 นาย โดยได้พบกับเขาและได้นั่งพูดคุยเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง จากการพูดคุยเขาทราบว่า เจ้าหน้าที่ที่มามีทั้งตำรวจจาก สภ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น, กอ.รมน. คนเดิมที่มาเมื่อวาน และเขาคิดว่ามีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางด้วย เนื่องจากมีบางคนไม่ได้พูดภาษาอีสาน เจ้าหน้าที่ยังระบุด้วยว่า ที่มาหาเขาเพราะมีคำสั่งมาจากส่วนกลาง ขณะพูดคุยเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ตั้งกล้องบันทึกวีดิโอด้วย

ทิวากรเล่าต่อว่า เจ้าหน้าที่พูดคุยและซักเขาหลายอย่าง โดยที่เขาเองก็จำไม่ได้ทั้งหมด แต่เป็นไปในทำนองสอบถามความคิดของเขาและโน้มน้าวให้เขาไม่ใส่เสื้อตัวนี้ ระบุว่าถ้าใส่เสื้อตัวนี้แล้วทำให้คนในประเทศเกิดการกระทบกระทั่งกัน แล้วเกิดความวุ่นวาย ก็ไม่ใส่ได้ไหม โดยเจ้าหน้าที่พูดย้ำอยู่ 4-5 รอบ 

“ผมตอบเขาไปว่า มันไม่มีทางเป็นอย่างนั้นแน่นอน แค่เราใส่เสื้อ อาจมีคนไม่ชอบบ้าง แต่คงไม่ถึงกับลงไม้ลงมือกันแล้วเกิดความวุ่นวาย เขาบอกว่า ถ้าเกิดมีคนมาทำร้ายแล้วอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ใส่ร้ายรัฐบาลล่ะ ผมก็ว่า เจ้าหน้าที่ก็คงต้องสืบสวนว่าจริงๆ แล้วใครทำ” 

ทิวากรยังตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีท่าทีข่มขู่ “เขาน่าจะรู้ว่าใช้ไม้แข็งไม่ได้ เพราะผมก้าวข้ามความกลัวไปแล้ว เขาก็ใช้ไม้อ่อน สุดท้ายเขาก็ว่า ความคิดของผมก็มีเหตุผล” 

ทิวากรให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองว่า เขาเริ่มสนใจติดตามการเมืองในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 48 แต่ก็เป็นแค่การติดตาม และพูดคุยแลกเปลี่ยนตามเว็บบอร์ด ไปร่วมกิจกรรมรณรงค์ของฝ่ายประชาธิปไตยบ้าง  หลังรัฐประหารปี 57 เขารู้สึกสิ้นหวังเนื่องจากคนที่เขาพูดคุยด้วยล้วนแต่สนับสนุนทหาร ประกอบกับธุรกิจที่เขาทำมีปัญหา เขาจึงกลับมาบ้านที่ขอนแก่น ทำงานเกษตร และเริ่มแยกตัวจากสังคม เขากลัวว่าการพูดคุยกับคนอื่นจะทำให้เขาถูกทหารจับกุม 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาออกมาใส่เสื้อดังกล่าวมาจากเหตุการณ์อุ้ม “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้เขาคิดว่า เหตุการณ์แบบนั้นอาจจะเกิดขึ้นกับเขาซักวัน แม้เขาจะไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร 

ทิวากรบอกเล่าความคิดของเขาผ่านโพสต์ในเฟซบุ๊กหลายสเตตัส อาทิ

“ถ้าผมกลัว ก็เท่ากับผมดูถูกจิตวิญญาณและการเสียสละของนักสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เจ็บ ตาย ติดคุก ลี้ภัย จากอดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน” 

“เป้าหมายสูงสุดของการต่อสู้เพื่อ ปชต. ก็คือ ‘เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยในอุดมคติ ที่ทุกๆคนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยแต่ละคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง และ มีจิตสำนึกของ “ความเท่าเทียม” โดยไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพและตัวตนที่แท้จริงของบุคคลอื่น’”

 

คำอธิบายต่อคำว่า “หมดศรัทธา” และการแสดงออกครั้งนี้ที่ทิวากรโพสต์ไว้

“หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า”

“หมดศรัทธา” มันคือความรู้สึกที่อยู่ในใจ ที่มีต่ออะไรสักอย่าง ในทำนองเดียวกับ “หมดรัก”, “หมดเยื่อใย”, “หมดใจ”, “หมดความไว้ใจ” มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคน สามารถพูดและแสดงออกมาได้ ตราบใดที่คนที่พูดและแสดงออกไม่ได้ไปทำความเสียหายให้กับทรัพย์สิน ไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายคนที่ยังศรัทธา และไม่ได้ทำผิดกฏหมายอย่างอื่น

ในกรณีที่ ถ้าหากว่าสิ่งนั้น/คนนั้น(ที่ถูกศรัทธา) และคนที่ยังศรัทธา เกิดความขุ่นเคือง จนถึงขั้นไปทำร้ายคนที่พูดและแสดงออก ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะนอกจากมันจะไม่ช่วยทำอะไรให้ดีขึ้นแล้ว มันยังไม่ได้ช่วยทำให้คนหันกลับมาศรัทธาดังเดิมได้ และมันจะยิ่งทำให้สิ่งนั้น/คนนั้น เสียหายมากขึ้นไปอีก

ถ้าอยากให้คนกลับมาศรัทธาดังเดิม มันมีทางเดียวเท่านั้น คือ

สิ่งนั้น/คนนั้น(ที่ถูกศรัทธา) ต้องปรับปรุงตัวเอง อาจจะถามคนที่ “หมดศรัทธา” ตรงๆ เลยก็ได้ว่า ทำไมถึง “หมดศรัทธา” ต้องให้ปรับปรุงตรงไหนบ้าง ให้บอกมา ถ้าได้รู้แล้วว่าต้องปรับปรุงตัวเองตรงจุดไหนบ้าง ก็ถามตัวเองว่า จะแก้ไข หรือไม่แก้ไขแล้วปล่อยให้คน “หมดศรัทธา” ต่อไป

และสิ่งนั้น/คนนั้น(ที่ถูกศรัทธา) ต้องจำไว้ในใจให้จงหนักว่า เมื่อเขา “หมดศรัทธา” แล้ว ไม่มีทางที่จะทำให้เขากลับมาศรัทธา ด้วยวิธีการบังคับโดยใช้กำลังและความรุนแรง ได้โดยเด็ดขาด

ในส่วนของผู้ที่ยังศรัทธา หากอยากช่วยให้คนกลับมาศรัทธาดังเดิม มีวิธีที่สามารถทำได้ ดังนี้
1. สำรวจ ตรวจสอบ หาข้อมูลความจริงให้ถ่องแท้ ว่า ทำไมคนถึง “หมดศรัทธา” ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี
1.1 สำรวจตรวจตราด้วยตัวเอง โดยค้นคว้าหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต
1.2 เข้าไปถามคนที่ “หมดศรัทธา” ตรงๆ ว่าทำไมถึง “หมดศรัทธา”
2. เมื่อได้สาเหตุของการ “หมดศรัทธา” แล้ว ก็ไปช่วยปรับปรุง สิ่งนั้น/คนนั้น (ที่ถูกศรัทธา) ให้ดีขึ้น จนทำให้ผู้ที่ “หมดศรัทธา” หันกลับมาศรัทธาใหม่อีกครั้ง

แล้วก็ให้เน้นย้ำกับตัวเองอยู่ตลอดว่า คุณไม่มีทางที่จะทำให้คนที่ “หมดศรัทธา” กลับมาศรัทธา ด้วยวิธีการบังคับโดยใช้กำลังและความรุนแรงได้ ถ้าหากคุณไปทำร้าย ข่มขู่คนที่ “หมดศรัทธา” มันจะยิ่งเป็นผลเสียหายต่อ สิ่งนั้น/คนนั้น ที่คุณศรัทธาอยู่

ป.ล.
1. เสื้อตัวนี้ ผมสั่งทำพิเศษนะครับ ตั้งใจซื้อมาใส่เอง เป็นการเฉพาะ เพื่อแสดงออกเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะกระจาย หรือทำขาย แต่อย่างใดครับ
2. ถ้าหากสหายท่านใดอยากได้เสื้อที่มีข้อความนี้ ท่านต้องทำใส่เองนะครับ

 

X