ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น: “ตุลาการไทยภายใต้สภาวะลอยนวลพ้นผิด”

 

บทความนี้เป็นการถอดบทเรียนจากงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2563 จัดโดยทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” คือหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวและเอกสารสำคัญในคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและติดตามความเคลื่อนไหวของคดี ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยได้คัดสรรคดีความจำนวน 9 คดี ที่สะท้อนความพยายามของนักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนในการต่อสู้ทัดทานการรัฐประหาร และการโต้กลับของพวกเขาเหล่านั้นผู้ไม่สยบยอมผ่านการต่อสู้ใน “กระบวนการทางกฎหมาย” ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างถึงที่สุด

ในหนังสือบันทึก 9 คดีสำคัญภายใต้ยุคสมัยของ คสช. นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของราษฎรผู้กล้าที่จะกำแหงและยืนหยัดคัดค้านอำนาจอันไม่ชอบธรรม แม้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามนานาชนิด ขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ยังส่องสะท้อนให้เห็นถึงทั้งการใช้อำนาจของกองทัพ และบทบาทการรับรองอำนาจเหล่านั้นโดยสถาบันตุลาการ อันร่วมกันทำให้สังคมไทยติดหล่มอยู่ในระบอบแห่งการรัฐประหารเนิ่นนานยาวนับ 5 ปี

ผู้ร่วมเสวนา

นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ”ราษฎรกำแหง”

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น University of Wisconsin-Madison

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชาลินี สนพลาย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ

นพพล อาชามาส: “บันทึกประวัติศาสตร์ 9 คดีของผู้ไม่สยบยอม”

ประจักษ์ ก้องกีรติ: “บทบาทของตุลาการไทยในการรับรองการรัฐประหาร ในวันที่รัฐมองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู”

***สามารถสั่งซื้อหนังสือ ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” ได้ผ่านทางเพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

 

สำหรับวิทยากรท่านที่สาม อาจารย์ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ได้สะท้อนความรู้สึกของตัวเองออกมาหลังจากที่ได้อ่านหนังสือราษฎรกำแหงฯ พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่ประชาชนเริ่มกล้าที่จะใช้กฎหมายเพื่อพยายามสร้างให้เกิดความเป็นธรรม ความพยายามที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อจัดการกับรัฐที่เป็นเผด็จการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน

“สิ่งที่เราได้เห็นในหนังสือเล่มนี้คือ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กฎหมายเริ่มกลายมาเป็นของประชาชนชัดเจนขึ้นด้วยการต่อสู้ของศูนย์ทนายฯ เองและประชาชนบางส่วน แม้ว่าจะเคยมีคำกล่าวไว้ว่า ‘กฎหมายของชนชั้นใดเป็นคนเขียน กฎหมายก็รับใช้คนในชนชั้นนั้น’ แต่คิดว่า 9 คดีในหนังสือได้สะท้อนให้เห็นว่ามันเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้ชนะ แต่กฎหมายถูกนำมาใช้โดยประชาชนมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ และก็ทำให้ทหารกลัวด้วย เพราะก่อนหน้านี้กฎหมายมันเป็นของเขา”

“หนังสือเล่มนี้ในฐานะที่เป็นเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มันได้บันทึกถึงการกระทำที่เลวร้ายของรัฐ และความกล้าหาญของประชาชน แม้ว่าในตอนนี้รัฐบาลจะบอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย แต่จริง ๆ แล้วก็ยังทำตัวเหมือนรัฐเผด็จการอยู่เหมือนเดิม”

หลังจากการเกริ่นนำและแสดงความคิดเห็น อาจารย์ไทเรลได้แบ่งประเด็นที่ตัวเองต้องการจะพูดเกี่ยวกับหนังสือราษฎรกำแหงฯ ออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่

  1. ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ในฐานะที่ช่วยบันทึกและวิเคราะห์การปรากฎตัวของสิ่งที่เรียกว่าการตัดสินอรรถคดีโดยการลอยนวลพ้นผิด (Jurisprudence of Impunity)
  2. หนังสือเล่มนี้ช่วยสะท้อนถึงความหมายและความจำเป็น ของสิ่งที่เรียกว่าการตัดสินอรรถคดีของศาลภายใต้ภาวะรับผิดชอบ (Jurisprudence of Accountability)
  3. คำถามทิ้งท้ายเกี่ยวกับความจำเป็นที่ว่า หลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว หนังสือควรจะต้องช่วยในการผลักให้เราคิดว่าตอนนี้เราควรจะต้องทำอะไรต่อเพื่อทำให้การต่อสู้ของประชาชนเป็นพื้นฐานในการสู้ต่อ ๆ ไป

“สำหรับในข้อแรก หลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้ การตัดสินคดีและกระบวนการยุติธรรม หรืออาจจะเรียกว่าเป็นกระบวนการอยุติธรรมเสียมากกว่า น่าจะเป็นคำที่ควรจะใช้ อาจมองว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ดูเหมือนจะถูกต้อง ถ้ากฎหมายเป็นเพียงแค่สิ่งที่เขียนอยู่บนกระดาษ แต่ทว่ามันมีลักษณะที่เอียงข้างไปทางทหารที่ไม่ยอมรับว่าประชาชนมีส่วนร่วม หรือควรมีส่วนร่วมเท่าเทียมกันในสังคมเท่าทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ ที่รับใช้คณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจในตอนนั้น ถ้าได้ดูช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นตัวอย่างของคำตัดสินในลักษณะนี้มากกว่าสองกรณี แต่จะขอพูดถึงแค่สองกรณี อันแรก ในคำตัดสินศาลฎีกาคดีกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ฟ้อง คสช. ซึ่งศาลได้ยกคำฟ้อง ตัดสินว่าคณะทหารไม่ได้ก่อกบฏอย่างที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้อง วิธีที่เขาสนับสนุนการตัดสินแบบนี้ก็คือ การอ้างมาตรการนิรโทษกรรมที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งก็สะท้อนว่าคนเขียนก็เก่งมาก ๆ เพราะมันครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง”

“ที่จริงแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ ประวัติศาสตร์การตัดสินของศาลฎีกาตามที่มีการฟ้องคณะทหาร ก็สนับสนุนคณะทหารตลอด ไม่ค่อยยอมรับว่าการก่อรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่แค่ในเมืองไทยที่เดียวที่ศาลก็เอียงขวา ก็เลยมักจะตัดสินว่า ถ้ารัฐทหารได้ครองอำนาจ รัฐทหารก็ย่อมมีความชอบธรรม ไม่ว่าจะได้ขึ้นมาปกครองด้วยวิธีใด”

“น่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่า ในวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ การที่ศาลเขียนเกี่ยวกับเรื่องการทำรัฐประหารว่า ‘จะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวกันในด้านอื่น’ แต่ก็ไม่บอกว่าด้านอื่นคืออะไรหรือที่ไหน ก็น่าสนใจตรงนี้เพราะเป็นอีกกรณีหนึ่งในคำพิพากษาที่ตัดสินคดีแบบลอยนวลพ้นผิดอย่างที่เคยมีในประวัติศาสตร์”

“คดีที่สองที่อยากจะพูดถึงคือคดีแรกหลังจากที่เกิดการรัฐประหารของ อภิชาต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตั้งคำถามถึงที่มาของรัฐที่มาจากการรัฐประหารซึ่งเข้ามาทำงานด้านการปฏิรูปกฎหมายในขณะนั้น รายละเอียดแบบนี้ก็สำคัญ เพื่อให้คนที่อ่านได้เข้าใจว่า มีอะไรบ้างที่ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาสู้ แม้ว่าการต่อสู้จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวและเสี่ยง สิ่งที่น่าสนใจ อภิชาตเลือกที่จะต่อสู้คดีจนถึงที่สุดในศาลฎีกา แม้ว่าถ้าจะหยุดตั้งแต่ศาลชั้นต้นก็ย่อมทำได้ แต่ทั้งอภิชาตและทนายก็เห็นว่า การตีความของศาลเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและความยุติธรรม ก็เลยต้องสู้ต่อ”

ในข้อสอง อาจารย์ไทเรลได้ชี้ว่า รูปแบบคำตัดสินของศาลที่อยู่ภายใต้ภาวะรับผิดชอบควรจะอยู่ในด้านตรงข้ามกับภาวะการลอยนวลพ้นผิด เป็นการตัดสินคดีและกระบวนการยุติธรรมที่เอียงข้างประชาชน ไม่ใช่ข้างของทหารและรัฐ  ยอมรับว่าประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนร่วมเท่าเทียมกันในสังคมและการเมือง และมีส่วนช่วยทำให้โครงสร้างระบอบประชาธิปไตยแข็งแรงและยั่งยืน โดยที่ศาลไม่สามารถอ้างถึงระบอบแห่งการรัฐประหารได้ อาจารย์ไทเรลได้ยกตัวอย่างสองคดีที่สะท้อนถึงจินตนาการในวันที่กระบวนการยุติธรรมเลือกที่จะยืนเคียงข้างฝั่งของประชาชน

“คดีแรกก็จะเป็นกรณีของ ไผ่ ดาวดิน ซึ่งไม่ใช่แค่สิ่งที่ไผ่ทำอย่างเดียว แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวรอบ ๆ เขาที่น่าสนใจเหมือนกัน ใน 5 – 6 คดีที่เขาต้องต่อสู้ล้วนเป็นคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งในหนังสือได้มีการบันทึกคำเบิกความของไผ่และ อาจารย์นิธิ และพยานจำเลยอีกหลายๆ คน ทุกครั้งที่ไผ่ต้องไปศาลทหารที่ขอนแก่น จะต้องมีคนราว 40 – 50 ตามไปด้วย ในแง่นี้ การสังเกตการณ์คดีก็สำคัญเหมือนกัน เพราะมันสะท้อนถึงพลังของประชาชน”

“สิ่งที่น่าสนใจคือ ระหว่างที่มีการเบิกความ ทหารก็ยอมรับฟังคำเบิกความที่วิจารณ์การรัฐประหารโดยที่ไม่ได้ให้หยุดพูด รู้สึกดีใจที่ทหารได้บันทึกไว้ เพราะอย่างน้อยมันก็จะอยู่ในเอกสารของรัฐ สิ่งที่ไผ่พูดก็น่าจะสะท้อนจินตนาการของการตัดสินคดีภายใต้ภาวะรับผิดชอบได้ดี”

“สิ่งที่อยากพูดสุดท้าย อยากจะลองชี้ให้ดูว่า ถ้าศาลจะเขียนคำพิพากษาที่โน้มเอียงมาทางประชาชนควรจะเป็นอย่างไร ยกเอากรณีของพลเมืองโต้กลับ ต้องบอกก่อนว่า อาจจะไม่ได้จบกฎหมาย ไม่แน่ใจใช้ภาษาถูกหรือเปล่า จะมีอยู่ท่อนหนึ่งในคำพิพากษาของศาลฎีกา อธิบายว่าเขาจะตีความอย่างไร ตามเดิมเขียนว่า ‘ต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์แห่งความดำรงอยู่ของความเป็นรัฐหรือชาติบ้านเมือง’ ถ้าเราเปลี่ยนนิดๆ ว่า ‘และต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์และศักดิ์ศรีของความเป็นประชาชน และความดำรงอยู่ของชีวิตประชาชน’ เล็กนิดเดียว แต่ความหมายเปลี่ยนเยอะมาก อันที่สอง อันนี้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการเขียนไม่ชัด ก็คือ แทนที่ศาลจะเขียนให้ชัดเจนว่า การกระทำของคณะรัฐประหารเป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่นั้น เขาก็เขียนว่า ‘ก็ต้องกล่าวกันในด้านอื่น’ ซึ่งไม่ควรจะเขียนประโยคแบบที่ไม่มีความชัดเจน”

X