นักวิชาการ ม.มาลายา ยังถูกกักตัวที่ ตม. ซ้ำอีก จากกรณีลงชื่อแถลงการณ์งานไทยศึกษา

จากกรณีปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่ากลุ่มนักวิชาการต่างประเทศหลายคน เผชิญกับปัญหาการถูกกักตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทย โดยนักวิชาการทั้งหมดเป็นผู้เคยร่วมลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านการดำเนินคดีกับนักวิชาการและนักกิจกรรมกรณีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 60 แม้คดีนี้ ศาลแขวงเชียงใหม่จะยกฟ้องไปเมื่อเดือนธันวาคม 2561 แล้วก็ตาม

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 โดยเกิดกับนักวิชาการระดับนานาชาติหลายสิบราย จากหลากสาขาที่เดินทางเข้าออกประเทศไทย และต้องถูกกักตัวไว้ช่วงเวลาหนึ่งที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบถามและตรวจเช็คข้อมูล โดยหลายคนได้รับการระบุว่าเป็นเรื่องที่ถูกสั่งการมาจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล หลายคนเผชิญกับปัญหานี้หลายครั้งตามจำนวนครั้งที่เข้าออกประเทศ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะเคยสอบถามและตรวจเช็คในครั้งแรกไปแล้วก็ตาม

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 62 ทางสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ยังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติปฏิบัติการกักตัว และการ “สอบถาม” นักวิชาการต่างชาติในลักษณะดังกล่าว เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยเจ้าหน้าที่ ตม. ระบุกับทาง สสส. ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นคำสั่งจากฝ่ายความมั่นคงของไทย ให้จับตานักวิชาการและนักกิจกรรมที่อยู่ใน “บัญชีจับตามอง” หรือ “Watch List”

ดูรายงานใน เปิดเรื่องราว 4 นักวิชาการนานาชาติถูกกักตัวสอบที่ตม.ไทย หลังร่วมลงชื่อแถลงงานไทยศึกษา

(ภาพจากเว็บไซต์ Gplace)

ล่าสุดวันที่ 15 ส.ค. 62 รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ นักวิชาการสัญชาติไทย ซึ่งทำงานสอนด้านภาษาศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย และได้เคยร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการในงานประชุมนานาชาติไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ได้เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกครั้งว่า หลังจากเธอเดินทางกลับเข้าออกประเทศไทยเมื่อช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงถูกกักตัวไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเช่นเดิม แม้จะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม

ก่อนหน้านี้ รุสนันท์เริ่มมีปัญหาที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 โดยเธอถูกกักตัวเพื่อสอบถามที่ด่าน รวม 12 ครั้งแล้วจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่สนามบินและด่านตรวจต่างๆ ทางภาคใต้ ทั้งในขาเข้าและขาออกจากประเทศ

สองครั้งล่าสุด คือครั้งที่ 11 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา รุสนันท์ได้เดินทางกลับเข้าประเทศไทย ทางด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยเมื่อไปถึงด่าน เธอได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าเธอเคยมีปัญหาชื่อติดในลิสต์ ไม่ทราบว่าถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่ได้เดินทางเข้าออกหลายเดือน เจ้าหน้าที่ได้พยายามสอบถามว่าเป็นแบล็คลิสต์อะไร แต่เธอปฏิเสธว่าไม่ใช่แบล็คลิสต์ แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นลิสต์อะไร และเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจเช็ค ก็พบว่าชื่อรุสนันท์ยังติดอยู่เช่นเดิม และทำให้หน้าจอคอมพิวเตอร์ของด่านตรวจคนเข้าเมืองล็อก ไม่ให้สามารถเข้าออกได้

จากนั้น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้พยายามติดต่อไปยัง พ.ต.อ.สมเกียรติ แก้ววิเศษ ซึ่งเป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 และมีชื่อขึ้นระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเรื่องนี้ แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ เจ้าหน้าที่ ตม. จึงติดต่อไปยังสำนักงานของตำรวจสันติบาล แต่เธอไม่ทราบว่าคุยกับใคร โดยแจ้งว่ามีบุคคลชื่อนี้กำลังเดินทางเข้าประเทศ จะอนุญาตหรือไม่ ก่อนทางสันติบาลและ ตม. จะอนุญาต ทำให้รุสนันท์สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ แต่ก็ต้องใช้เวลารอคอยการประสานงานของเจ้าหน้าที่กว่าครึ่งชั่วโมง

เช่นเดียวกับการเดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ซึ่งรุสนันท์เดินทางออกทางด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตงเช่นกัน และเจ้าหน้าที่ก็พบว่าชื่อของเธอยังติดล็อกอยู่เช่นเดิม ทั้งยังไม่สามารถติดต่อกับพ.ต.อ.สมเกียรติ ได้ และต้องใช้เวลารอคอยการประสานงานของเจ้าหน้าที่อยู่เช่นเดิมกว่าจะสามารถเดินทางต่อไปได้

เจ้าหน้าที่ยังมีการอ้างว่าทาง ตม. จะไม่ให้เข้าออกประเทศก็ได้ ถ้าชื่อยังคาอยู่เช่นนี้ ทั้งระบุว่าเธอยังเป็นมุสลิมและคนสามจังหวัดภาคใต้ อาจโดนเพ็งเล็งกว่าคนอื่นๆ โดยมีการแนะนำให้ร้องเรียนไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้วยเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ภาพการอ่านแถลงการณ์เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการ ในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560

รุสนันท์ระบุว่า ปัญหานี้สร้างความรู้สึกไม่สบายใจจากการถูกจับตามอง และสร้างความยากลำบากในการเดินทางเข้าออกประเทศมาก เจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจก็มองเธอเหมือนกับไปกระทำความผิดมา หรือมองว่าเป็นคนร้าย การเข้าออกบางครั้ง เจ้าหน้าที่ ตม. มีการพยายามซักถามว่าให้เธอบอกมาตรงๆ ว่าไปทำอะไรมาหรือไม่ หรือไปก่อคดีอะไรมา ทำให้เธอก็ต้องพยายามอธิบายทุกๆ ครั้ง ทั้งที่คดีไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้สิ้นสุดไปแล้ว เหตุใดกลุ่มนักวิชาการนานาชาติยังมีปัญหานี้อยู่ โดยทราบว่ามีนักวิชาการต่างประเทศอีก 3-4 ราย มีปัญหานี้เช่นกันในช่วงที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางเข้าออกประเทศไทยบ่อยนัก

รุสนันท์ระบุว่า จากนี้กำลังพิจารณาจะทำเรื่องร้องเรียนกับกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการตรวจสอบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ด้วย เนื่องจากการเข้าออกประเทศไทยในครั้งต่อๆ ไป ก็อาจจะเกิดปัญหาเช่นนี้อยู่ต่อไปไม่สิ้นสุด

 

X