‘ลานยิ้ม’ กับละครว่าด้วยอภินิหารทางกฎหมาย: เมื่อการสร้าง ‘ความรู้สึก’ เป็นหน้าที่คนทำละคร

นับตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. ไปจนถึงวันที่ 16 ส.ค. 62  ที่ชั้น 2 หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สามัญชน, ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ และกลุ่มช่างภาพ Realframe ได้จัดนิทรรศการ “NEVER AGAIN หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” จัดแสดง “พยานหลักฐาน” ของการควบคุม คุกคาม ปราบปรามด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นมากว่า 5 ปี ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ภายในงานยังมีองค์ประกอบทางศิลปะที่ทำการแสดงอยู่ในทุกๆ วัน คือการแสดงละครที่ไม่มี “เวที” ชื่อ “POISER” ของกลุ่มลานยิ้มการละคร (Lanyim Theatre) กลุ่มละครอิสระที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความสนใจสื่อสารประเด็นทางสังคมผ่านรูปแบบการละคร

นลธวัช มะชัย หรือ “กอล์ฟ” ผู้กำกับการแสดงชุดนี้ เล่าว่าที่มาที่ไปของละครที่นำมาแสดงภายในงานนี้ ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากประสบการณ์ของตนเองที่เคยถูกดำเนินคดีจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตั้งแต่เมื่อปี 2560 ร่วมกับนักวิชาการและรุ่นพี่อีก 4 คน (อ่านเรื่องราวของกอล์ฟในคดี “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร”) ทำให้นลธวัชได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นครั้งแรก จนเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบการแสดงชุดนี้ จากเดิมที่สนใจประเด็นทางการเมืองมาบ้าง แต่ไม่เคยสนใจเรื่องกระบวนการยุติธรรม เพราะดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวและไม่ได้มีความรู้สึกร่วม จนกระทั่งถึงวันที่ตนเองได้เข้าไปสัมผัสกับมันโดยตรง ในฐานะ “จำเลย”

การแสดงชุดนี้ใช้เวลาในการทดลอง ฝึกซ้อม และทบทวน มากว่า 4 เดือน ก่อนที่จะนำมาแสดงในนิทรรศการนี้ โดยเคยไปทดลองแสดงก่อนหน้านี้ ทั้งในงานสัปดาห์หนังสือเชียงใหม่บุ๊กแฟร์, การแสดงประกอบการเรียกร้องพื้นที่สาธารณะของกลุ่มเยาวชนบริเวณสี่แยกรินคำ จังหวัดเชียงใหม่ และแสดงที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพมหานคร โดยจะมีการพัฒนาการแสดงชุดนี้ไปเล่นยังสถานที่อื่นๆ ต่อไปอีกด้วย

.

แนวคิดของการแสดง คือกระบวนการสร้างเทวดาและอภินิหารทางกฎหมาย

นลธวัชเล่าว่า กรอบความคิด (Concept) สำหรับงานแสดงชุดนี้ คือการสื่อสารในเรื่องเทวดาและอภินิหารทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นการจำลองกระบวนการสร้างเทวดาบนพื้นที่ๆ หนึ่ง ซึ่งเขาค้นพบระหว่างการพัฒนางานแสดงชิ้นนี้ ว่ากระบวนการสร้างเทวดานั้น มีองค์ประกอบหลายส่วนที่จะทำให้เกิดเทวดาขึ้นมาได้ ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้จะถูกนำมาใช้และนำเสนอในการแสดง

สำหรับผู้กำกับละครชุดนี้ ความหมายของเทวดาคือบุคคลที่อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง และองค์ประกอบที่จะทำให้เกิดเทวดาได้นั้น ต้องมีพื้นที่ๆ หนึ่งรองรับ และพื้นที่นี้ต้องเป็นพื้นที่สนธยา ดินแดนสนธยาเป็นดินแดนที่ลึกลับ ดินแดนที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบ และเขาพบว่าองค์กรทางตุลาการในประเทศเช่นนี้ ก็คือหนึ่งในพื้นที่สนธยานั้น นลธวัชจึงค่อยๆ พัฒนางานแสดงจากรูปแบบทางสัญลักษณ์คือ “คนกับตราชั่ง” ขึ้นมา จนกลายเป็นชุดการแสดงในปัจจุบัน

.

กะเทาะเปลือกการแสดง POISER

          ความยุติธรรมและอภินิหาร

หากให้อธิบายลงลึกไปอีกเกี่ยวกับมุมมองเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่ถูกนำมาใช้พัฒนาการแสดง นลธวัชเห็นว่าระบบศาลต่างๆ นั้น เกิดขึ้นมาโดยรับอิทธิพลจากวิธีคิดของตะวันตก เป็นเรื่องของความสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับความรู้ใหม่ เดิมนั้นเมื่อคิดถึงศาลยุติธรรม เขาระบุว่าตนจะคิดถึงตรรกะ ความเป็นเหตุเป็นผล บรรทัดฐาน และความเที่ยงธรรมบางอย่าง ซึ่งเทียบเคียงได้กับการคำนวณ ความเป็นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่เมื่อต้องเดินทางมาพบกับศาลยุติธรรมของไทยในความเป็นจริงแล้ว กลับพบว่าหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

แม้ว่าประเด็นหลักที่นลธวัชอยากจะสื่อสารจริงๆ คือความเป็นอภินิหารทางกฎหมายก็ตาม แต่เขาก็คาดเดาว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่ผู้ชมจะตีความการแสดงอภินิหารทางกฎหมายควบคู่ไปกับเรื่องศาล เขาเห็นว่าไม่ใช่เพียงแค่ศาลยุติธรรมอย่างเดียว นักกฎหมายบางคนก็เป็นผู้สร้างอภินิหารทางกฎหมายด้วย ความหมายมันจึงไม่ใช่อาคารหรือองค์กรใดอย่างเดียวที่ประกอบสร้างสิ่งเหล่านี้

“พูดมาทั้งหมด เรากำลังจะสื่อสารเรื่องการสร้างอภินิหารทางกฎหมาย ทีนี้พอมาทำละครจริงๆ มันไม่ได้เอาประเด็นขึ้นมาตั้งอะไรแบบนี้เลย เวลาเราค้นหา ในฐานะฟังก์ชั่นของนักการละคร เราก็ค้นหาความเป็นไปได้จากการเคลื่อนที่ จากองค์ประกอบทางศิลปะ เราค้นพบว่าอภินิหารทางกฎหมาย ก็คือว่ามันพยายามทำให้เหมือนว่าปกติ มันพยายามทำให้เหมือนถูกต้อง เช่น การทำซ้ำ การทำให้เคยชิน คุ้นชิน การทำให้รู้สึกว่ามันเป็นปกติ คือองค์ประกอบสำคัญของการแสดงอภินิหารทางกฎหมาย หรือการแสดงอภินิหารทางพื้นที่ๆ นี้”

นลธวัชยกตัวอย่างสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาในช่วง คสช. ที่มีการใช้กฎอัยการศึกหลายเดือนจนกลายเป็นปกติ การใช้อำนาจมาตรา 44 จนกลายเป็นเรื่องปกติ การมีรัฐธรรมนูญแปลกๆ และการอุ้มพลเมืองเข้าค่ายทหาร จนกลายเป็นเรื่องปกติ เป็นต้น การทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นสิ่งปกติ สำหรับนลธวัชเป็นพื้นฐานที่ทำให้การสร้างอภินิหารถูกรองรับความชอบธรรมขึ้น

นลธวัชเล่าว่าในการแสดง POISER จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่ง คือการจัดวางสิ่งของในพื้นที่ ส่วนที่สอง คือวิดีโอที่ถูกถ่ายทำมาแล้ว และส่วนที่สาม คือตัวนักแสดงที่อยู่บนเวที นอกจากนั้นสิ่งเหล่านี้ยังนำมาประกอบกับส่วนที่สี่ คือคนดู หรือผู้ชมซึ่งเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของการแสดง

“พอเราเอามาถ่ายทอด เราคลี่ให้ทุกคนเห็นหมดเลย เห็นกระบวนการทุกอย่างภายในพื้นที่ที่ดูเสมือนว่าปิดลับ ก็คือด้านหลัง (ของจุดแสดง) แต่คนเห็นหมดว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่คนดูทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าเราวางเงื่อนไขของตัวแสดง ตัวละคร หรือเรื่องเราเนี่ย เอาไว้ให้มันทำซ้ำไปเรื่อยๆ ซ้ำไปเรื่อยๆ และคนก็จะคาดเดาว่า อ๋อ เดี๋ยวมันก็จะทำแบบนี้ แล้วเราก็ใช้วิธีการทำเป็นอีกแบบหนึ่ง เราเน้นกับการให้คนดูเดาว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบนเวที เดาว่า เฮ้ย เดี๋ยวมันต้องเป็นแบบนี้แน่เลย มันต้องเป็นแบบนี้ แล้วเราก็ทำซ้ำ จนคนดูรู้สึกว่าเดี๋ยวมันจะเป็นแบบนั้น แล้วเราก็ทำเป็นแบบอื่น” นลธวัชเล่าถึงกระบวนการในละคร

การปั้น “คน” กับห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์

อีกประเด็นหนึ่งในเรื่องอภินิหารทางกฎหมาย นลธวัชเล่าว่าเขายังสนใจกระบวนการที่อำนาจพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะ “สร้างคน” ขึ้นมา โดยเป็น “คน” ในแบบที่พวกเขาต้องการ รูปร่างหน้าตาแบบนั้น ความคิดความเชื่อแบบนั้น เราจะเห็นได้จากกระบวนการ “ปรับทัศนคติ” คล้ายกับพวกเขาคิดว่า “คน” ปั้นได้เหมือนดินน้ำมัน คือกระบวนการปั้นรูปปั้นร่างของสิ่งที่เราเรียกว่า “ประชาชน” หรือคนในแบบที่พวกเขาต้องการ

แต่การปั้นหรือสร้าง “คน” ในยุคสมัยใหม่เช่นนี้ ก็พบกับความอิหลักอิเหลื่อ เพราะอำนาจไม่สามารถปิดปากได้หมด หลายสิ่งที่เป็นดินแดนสนธยา ก็เริ่มถูกเปิดเผยและเปิดโปงมากขึ้น หรือด้านหนึ่งผู้มีอำนาจก็ต้องพยายามให้มีพื้นที่ประชาธิปไตยหรืออ้างตรรกะเหตุผลบางอย่างอยู่ แม้ข้างในจะไม่ใช่ก็ตาม

“มันมีความสองแง่สองง่ามบางอย่าง รู้สึกว่ามันจับสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ และทางหนึ่งมันก็จับสิ่งที่เป็นไสยศาสตร์ แล้วเราพูดในทางละคร ก็คือมันจับหลักการและเหตุผลบางอย่างเอาไว้ และมันก็หยิบความไม่เป็นหลักการและเหตุผลเอาไว้ด้วยน่ะ ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อที่จะรองรับความชอบธรรมของตัวเองเท่านั้นเอง” นลธวัชอธิบาย

เทียนและสูตรคำนวณ

องค์ประกอบในงานแสดงชุดนี้ อีกอย่างหนึ่งคือเทียนไข ที่ถูกจุดให้แสงวับแวมท่ามกลางความมืดและข้าวของในพื้นที่ของงาน

นลธวัชเล่าว่าเทียนเป็นตัวแทนความขลังบางอย่าง เมื่อพูดถึงเทียนมันอาจหมายถึงแสงสว่างนำทาง แต่ในขณะเดียวกันมันคือองค์ประกอบของไสยศาสตร์ เป็นแสงสว่างที่ถูกนำมาใช้ในทางไสยศาสตร์ ไม่ใช่การ enlightenment การแสดงชุดนี้จึงนำเทียนมาใช้ แต่จะไม่มีสัญลักษณ์อื่นที่เป็นพิธีกรรม เพราะไม่ได้ทำพิธีกรรม แต่มันคือห้องทดลอง อีกซีกหนึ่งของพื้นที่แสดง ได้ถูกเขียนขีดสูตรการคำนวณต่างๆ เอาไว้บนฝาผนัง ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า ตรงกันข้ามกับสิ่งของต่างๆ ในการประกอบมนุษย์ขึ้นมา ซึ่งกลับเป็นไสยศาสตร์มากๆ

นลธวัชยังระบุว่างานแสดงชุดนี้เดิมอยากแสดงโดยการเปลือยกาย เพราะประเด็นหนึ่งที่อยากย้ำเตือนคือ “เทวดา” ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งนี่แหละ ที่ถูกสร้างและสถาปนาขึ้นมาให้มีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง แม้ผู้ชมอาจจะไม่เห็นว่ามันศักดิ์สิทธิ์อีกแล้ว แต่ก็ยังต้องพยายามสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของตัวเองขึ้นมาต่อไป

.

ละครกับการสื่อสาร ละครกับสังคม

ในภาพกว้างออกไป นอกจากละคร POISER แล้ว เหตุใดกลุ่มคนรุ่นใหม่ยังสนใจที่จะทำละคร ละครจะช่วยสื่อสาร-สะท้อนประเด็นทางสังคมการเมืองต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง

ประภัสสร คอนเมือง สมาชิกกลุ่มลานยิ้มและนักแสดง เล่าว่าละครสามารถสื่อสารในเรื่องใดก็ได้ จะเลือกให้ประเด็นที่ต้องการสื่อสารให้ชัดเจนหรือคลุมเคลือก็ได้ มีการถอยเข้าถอยออกในระยะของความชัดเจนอยู่ตลอดเวลา บางอย่างก็จะไม่บอกกันโต้งๆ เพราะมันไม่ได้เกิดการตระหนัก หรือไม่ได้เกิดการสะกิดให้คนดูนำไปคิดต่อ

“ละครจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนดูเห็น คิดต่อ แล้วถึงจะเกิดกระบวนการวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ไม่ใช่การมานั่งบอกว่าสิ่งนี้คืออะไร อันนี้คือวิทยาศาสตร์ อันนี้คือเทียน อันนี้มันคุยกันได้ในแง่ของการทำงานและการพูดคุยหลังการแสดง แต่ว่าพอถึงเวลาที่แสดงจริงๆ เราไม่ได้มานั่งบอกว่าเทียนคืออะไร หุ่นคืออะไร ทำไมต้องวาดภาพแบบนั้น”

ประภัสสรเล่าอีกว่าการทำโชว์ หรือการทำ performance (การแสดง) แบบนี้ มันไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกอย่างว่าทั้งหมดนี้คืออะไร แต่เราใช้ความรู้สึกนำ ในการเห็นแล้ว มันเกิดคำถามว่ามันคืออะไรว่ะ หรือเรารู้สึกอะไร ทั้งในประเทศเราที่การเมืองมันไม่สามารถพูดกันแบบโต้งๆ แล้วตรงประเด็น ตรงไปตรงมาได้ เชื่อว่าการใช้ความรู้สึกร่วมกันบางอย่างแบบนี้ ทำให้คนดูเห็นความร่วมกันบางอย่าง อาจจะจุดใดจุดหนึ่ง อาจจะบางการเคลื่อนไหวหนึ่ง บางคนอาจจะมีอารมณ์ร่วมมากกับการเห็นเทียนแบบนี้ ตั้งเทียนแบบนี้ อะไรแบบนี้ แล้วเราคิดว่ามันมีความรู้สึกบางอย่างที่มันกระจายๆ แล้วพอคนดูนำมันมารวมกัน เกิดการวิเคราะห์ โดยใช้ความรู้สึกร่วมกันเข้ามาก่อนอันดับแรก

ลักษณารีณ์ ดวงตาดำ สมาชิกกลุ่มลานยิ้มและนักแสดงอีกคนหนึ่ง เล่าว่าละครเป็นภาพที่ปะติดปะต่อกันได้ แล้วมันก็มีความสัมพันธ์ของแต่ละองค์ประกอบของสิ่งที่เราเห็น ซึ่งสามารถที่จะเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์เชิงการเมืองของแต่ละอย่างรอบๆ ตัว ต่อให้คนที่มาเห็นไม่ได้คิดถึงการเมืองที่เป็นการบริหารจัดการประเทศ แต่ว่าเขาอาจจะมองเห็นความสัมพันธ์เชิงการเมืองในด้านการศึกษา ความรัก ครอบครัว เด็กเยาวชน และอื่นๆ จากการเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ของละคร

“บางคนอาจจะไม่เข้าใจเลย แต่เห็นแล้วรู้สึกหัวร้อน รู้สึกหงุดหงิด รู้สึกรำคาญ รู้สึกอะไรของมึงวะ ซึ่งความรู้สึกพวกนั้น ก็เป็นสิ่งที่เกิดจากสารที่เราประกอบมันขึ้นมาให้เขาเห็น สภาวะพวกนี้มันอยู่ในสังคมของเราอยู่แล้ว เต็มไปหมด เพียงแต่เขาอาจจะไม่ได้สังเกตเห็นมันอย่างชัดเจน เท่ากับตอนที่ตั้งใจดูการแสดง” สมาชิกกลุ่มลานยิ้มกล่าว

ด้านนลธวัช ให้ความเห็นว่าละครไม่ใช่การตอบคำถาม แต่ฟังก์ชั่นของละครมันคือการตั้งคำถาม การตอบคำถามเป็นหน้าที่ทางวิชาการ เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน  performance art ที่กลุ่มลานยิ้มกำลังทำ โฟกัสไปที่ความรู้สึก ตราบใดก็ตามที่ในพื้นที่ไม่ได้มีความรู้สึกแบบนี้ ละครเรื่องนั้นมันก็จะตกไป เขายกตัวอย่างถึงการที่คนดูในประเทศไทยจำนวนมากอินกับภาพยนตร์เรื่อง Parasite (ชนชั้นปรสิต) ทั้งๆ ที่เขาพูดถึงสังคมเกาหลี ก็เพราะว่าลึกๆ แล้ว เรามีความรู้สึกนั้นร่วมด้วย

นลธวัชยังเห็นว่าการรีวิว การพูดต่อ หรือการคิดต่อ จากหนังหรือการแสดงต่างๆ ทั้งของนักรีวิวหรือผู้ชม เป็นที่สุดของการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าความหมายไม่ได้อยู่ที่ผู้แสดงอีกต่อไปแล้ว ความหมายมันอยู่ที่คนดู และตีความ ซึ่งเป็นอิสรภาพแบบหนึ่ง

“อิสรภาพตรงนี้ ผมคิดว่าเป็นอิสรภาพเล็กๆ ที่ประเทศควรมี และมันเกิดขึ้นในพื้นที่จำลองของละคร ทีนี้ พอเราไม่ได้ตอบคำถาม มันเกิดช่องว่างในจินตนาการ ให้คนเนี่ย มีจินตนาการและคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ มันเคลื่อนสังคม เพราะฉะนั้นเวลาเราทำละคร เรารู้สึกว่าเราได้สร้างช่องว่างบางอย่างในจินตนาการ แล้วก็ร่วมกันคิดกันต่อ

“คนดูอาจจะดูแล้วรู้สึกแบบ โอ้โห้ แต่ไม่รู้จะอธิบายยังไง เพราะเวลามีคนมาถามว่า performance มันมีความหมายว่าอย่างไร ผมก็ไม่สามารถตอบได้เหมือนกัน แต่ถ้าถามคนดูว่า หมายความว่าอย่างไร ถามหลายๆ คนว่าตีความว่าอย่างไร รู้สึกอย่างไร คิดเห็นอย่างไร ความคิดเห็นหลังจากนั้นต่างหากมันถึงจะไปต่อ เพราะฉะนั้นเวลาผมทำละคร ผมจะไม่ได้โฟกัสไปที่ประเด็น ประเด็นมีอยู่ในทุกๆ คน ความคิดมีอยู่ในทุกๆ คน แต่ความรู้สึกเป็นหน้าที่ของคนทำงานละคร” ผู้กำกับและนักแสดงกลุ่มลานยิ้มทิ้งท้าย

 

***ละคร POISER : Performance โดยกลุ่มละครลานยิ้ม ยังมีแสดงอยู่ทุกวัน ภายในงานนิทรรศการ NEVER AGAIN | หยุด | ย่ำ | ซ้ำ | เดิน |   ตั้งแต่วันที่ 13-16 ส.ค. นี้ เวลา 13.00-16.00 น. ณ ชั้น 2 หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่***

***ดูรายละเอียดงาน Never Again หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน และติดตามกลุ่มละครลานยิ้มได้ที่เพจเฟซบุ๊ก***

 

X