ศาลยกเลิกอ่านคำพิพากษา ‘RDN50’ ด้านจำเลยและทนายความต่างลุกขึ้นแถลงค้าน

ที่ศาลแขวงดุสิต มีความคืบหน้าการพิจารณาคดีคนอยากเลือกตั้ง 2 คดี คือ RDN50 และ Army57 ในส่วนของผู้ชุมนุม โดยคดี RDN50 มีการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางหลังจากผู้พิพากษาแถลงยกเลิกการอ่านคำพิพากษาตามนัดหมาย ด้านทนายความจำเลย และจำเลยหลายรายลุกขึ้นแถลงคัดค้าน ก่อนจะใช้เวลาหารือกันเกือบ 1 ชั่วโมงจึงได้ข้อยุติ ขณะที่คดี Army57 วันนี้นัดสืบพยาน 3 ปาก แต่พยานไม่เดินทางมาศาลอ้างติดภารกิจเร่งด่วน


เวลา 9.00 น. จำเลยคดี RDN50 บางส่วนเดินคล้องแขนเข้าประตูศาลแขวงดุสิต เพื่อฟังคำพิพากษา

3 พ.ค. 62 เวลา 9.30 น. ที่ศาลแขวงดุสิต เป็นนัดฟังคำพิพากษา คดีที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยคนอยากเลือกตั้งในส่วนของผู้ชุมนุมจำนวน 41 คน ข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบที่ 3/2558 ข้อ 12 จากกรณีชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 (RDN50)

นัดฟังคำพิพากษานี้ สืบเนื่องจากทนายความจำเลยได้ยื่นให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายยกเลิกการดำเนินคดี เพราะขณะนี้มีคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ว่าด้วยการชุมนุมทางการเมืองแล้ว ซึ่งอัยการฝ่ายโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย และนัดให้จำเลยทั้ง 41 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตนเองในวันนี้

ศาลยกเลิกอ่านคำพิพากษา เพราะอธิบดีฯ เห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ

10.30 น. ท่ามกลางคู่ความและผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีกว่า 80 คน เก้าอี้ที่นั่งในห้องพิจารณาคดีไม่เพียงพอ จนคนล้นออกมานอกห้อง ผู้พิพากษาศาลแขวงขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี ก่อนจะแถลงให้คู่ความทราบว่า วันนี้ยังไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ เนื่องจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ส่งสำนวนคืนมา และแจ้งผ่านทางผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิตว่า คดีนี้จำเลยทั้ง 41 คน ให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ยุติ ถ้าหากศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาไปแล้ว เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลสูงแล้ว อาจถูกย้อนสำนวนมาสืบพยานเพื่อพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งอาจจะทำให้คดีล่าช้า อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ศาลจึงเห็นว่ากรณีมีเหตุจำเป็น เพื่อฟังข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความเสียก่อนแล้วจึงจะมีคำพิพากษา

“เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญจึงต้องสำนวนให้ที่ประชุมอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 วินิจฉัย ซึ่งได้รับคำตอบกลับมาว่า เนื่องจากเกรงว่าการอ่านคำพิพากษา โดยที่ยังไม่มีการเริ่มกระบวนการสืบพยานอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้ย้อนสำนวนคดีมาสืบพยานกันใหม่” ผู้พิพากษาแถลง

ทนายความค้านขอให้ผู้พิพากษายึดหลักกฎหมาย ด้านอัยการขอสืบ 1 ปากเท่านั้น

ด้านทนายความจำเลยหลายคนได้ลุกขึ้นแถลงคัดค้านและขอหารือ โดยบางคนเสนอให้ใช้สิทธิตุลาการผู้พิจารณาคดีใช้ความกล้าหาญดำเนินการอ่านคำพิพากษาตามนัด

“กราบเรียนศาลแบบนี้ว่า เนื่องจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ได้มีการทักท้วง ผมยังเห็นต่างว่าอำนาจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี เป็นของตุลาการที่นั่งพิจารณาคดี ไม่ใช่อำนาจของอธิบดีฯ ภาค 1 ที่จะมาก้าวก่าย ผมเห็นอย่างนั้น ฉะนั้นในรายงานกระบวนพิจารณาคดี ถ้าไม่มีการตัดสินคดี ก็ขอให้มีการบันทึกคำแถลงของทนายความในกรณีนี้ไปด้วย จะได้เป็นประวัติศาสตร์ในสำนวนคดีของประชาชน”

ด้านอัยการฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีได้หารือว่า “เป็นความจริงที่ว่าอัยการไม่ได้คัดค้าน ในด้านอัยการเห็นว่าถ้าสืบพยานไปเลยก็จะเสร็จเร็ว ผมขอสืบพยานอีกอย่าง 1 ปาก เพราะอย่างแรกสิ่งที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 สั่งมา ก็จะไม่เป็นการขัดคำสั่ง ประการต่อมาคือคดีนี้ก็ไม่มีอะไรแล้ว เพราะมีการสืบพยานโจทก์ไปแค่เพียง 1 ปาก โจทก์สมัครใจสืบแค่นี้ ขอให้ข้อเท็จจริงได้ขึ้นสู่ศาลแค่นั้น”

ทนายความอีกคนแถลงว่า “เข้าใจว่าเมื่อสืบพยานต่อไปอีก 1 ปาก ก็ต้องสืบพยานรวมทั้งหมดหรือไม่คะ เพราะเมื่อเข้าถึงข้อเท็จจริงก็จะมีการโต้แย้งกันอีกได้ อยากให้ศาลเดินไปตามคำวินิจฉัยที่ศาลอื่นได้มีข้อวินิจฉัยไว้ก่อนแล้ว ซึ่งศาลสามารถมีคำพิพากษาได้เลย”

ทนายความจำเลยอีกคนร่วมหารือว่า “ที่นั่งคุยกันอยู่นี้ ยกเว้นแต่ฝ่ายจำเลยและทนายจำเลยที่สามารถตัดสินใจเองได้ เข้าใจว่าศาลเองก็อยู่ภายใต้กรอบที่มีระเบียบปฏิบัติอยู่ ผมเรียนแบบนี้ว่าคำพิพากษาเขียนเสร็จแล้ว แล้วส่งไปที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 แล้วก็ไม่ได้ติดใจเรื่องคำพิพากษา แต่กระบวนการพิจารณายังผิด เมื่อกระบวนการพิจารณาผิด จึงต้องย้อนกลับมาที่ศาลชั้นต้นใหม่ จึงต้องหาทางออกร่วมกัน ง่ายที่สุดคือฝ่ายโจทก์แถลงงดสืบพยาน สมมุติว่าผมให้จำเลยรับสารภาพ มันก็ไม่ได้อีก เพราะกฎหมายยกเลิกไปแล้ว”

จำเลยทยอยลุกขึ้นค้าน ขอให้ศาลกล้าหาญ ไม่โยนคดีกันไปมา  

ขณะที่จำเลยหลายรายซึ่งไม่เห็นด้วย ต่างลุกขึ้นคัดค้านในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะความคับข้องใจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยกเลิกการอ่านคำพิพากษา

อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ยืนขึ้นขอแถลงต่อศาล โดยผายมือไปยังจำเลยอีกคนซึ่งอยู่ในสภาพป่วยหนัก ต้องนั่งรถเข็นมาขึ้นศาล เขากล่าวว่า “เพื่อนของผมที่เป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย ต้องถูกดำเนินจากการไปนั่งทานแมคโดนัลด์ในวันชุมนุม แต่กลับถูกฟ้องให้เป็นหนึ่งในจำเลย แต่เขาก็ยังเดินทางมาศาลทุกครั้ง และวันนี้เมื่อทราบว่าต้องเดินทางมาศาล เขาถูกเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงไปพบที่บ้าน มาถามเขาว่าจะไปแสดงกิจกรรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอะไรที่ไหน วันนี้เขาเดินทางมาศาลตามปกติ สมมุติหากศาลไม่ใช้ความกล้าหาญ โยนกันไปกันมา ผมไม่ทราบว่าเที่ยวหน้าเขาจะมาศาลอีกได้ไหม”

วิบูลย์ บุญภัทรรักษา แถลงถามผู้พิพากษาว่า “เมื่อศาลอื่น ๆ มีแนวคำพิพากษายกฟ้องแล้ว ในกรณีเดียวกัน กรณีนี้ไม่สามารถใช้เป็นหลักในการพิพากษาได้เลยหรือ”

ขณะที่ ณัฏฐา มหัทธนา ซึ่งถูกดำเนินคดี RDN50 ในส่วนที่ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา116 ซึ่งเข้าฟังรับกระบวนการพิจารณาคดีนี้ด้วยแถลงว่า

“เมื่อออกจากห้องพิจารณาคดีนี้ไป เราจะออกไปตอบกับสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับคดีนี้ ศาลไม่ได้ดำเนินการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ทุกคนทราบอยู่แล้วว่ากระบวนการตั้งต้นของคดีนี้เป็นมายังไง คำสั่งที่ 3/58 มีที่มายังไง วันนี้เมื่อคำสั่งนั้นยกเลิกไปแล้ว ถ้ายังต้องมาถกเถียงกันในข้อเทคนิคทางกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่แก่นของหลักนิติธรรม อีกทั้งคดีนี้ยังเกี่ยวพันกับคดีคนอยากเลือกตั้งอื่น ๆ อีกหลายคดี ประชาชนที่ต้องมานั่งอยู่ในห้องนี้ก็ถือว่าไม่ได้รับความยุติธรรมแล้ว ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม”

ด้านรัตนา ผุยพรหม อีกหนึ่งจำเลยซึ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัดกล่าวว่า “ในฐานะชาวบ้านธรรมดา มีอาชีพทำนา ที่มาเป็นจำเลยในคดี จากคนที่ไม่รู้กฎหมายเลย จากที่นั่งฟังมา ก็คิดว่าถ้าหากโจทก์ไม่เอาเรื่องอะไรแล้วก็ควรจะจบได้แล้ว ความในใจประชาชนที่ไม่คิดว่าทำผิดอะไร และไม่ได้เป็นภัยกับความมั่นคงอะไร เราเดินทางมาตามนัดทุกครั้ง แต่การมาทุกครั้ง ยังมีคนที่บ้าน สามี ลูกรอคอยให้กลับบ้าน ทุกคนก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมคดียังไม่จบ ทำไมกฎหมายจึงโยนกันไปกันมาได้”

ผู้พิพากษายืนยัน หากไม่ทำจะเท่ากับขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา

ผู้พิพากษายังคงยืนยันในประเด็นการยกเลิกอ่านคำพิพากษา โดยเห็นว่าหากเลือกที่จะอ่านคำพิพากษาต่อไป อาจทำให้จำเลยล่าช้าเสียเวลามาศาลอีก ในกรณีที่มีการฟ้องใหม่ ผู้พิพากษาอธิบายว่า “ศาลอนุญาตให้พิจารณาลับหลังได้อยู่แล้ว อันนี้ก็เห็นว่าศาลไม่ได้เลื่อน แต่เป็นคู่ความเองที่เลื่อนมาก่อน ถ้ามีการสืบพยานไปก่อนหน้านี้ ศาลอาจจะตัดสินไปแล้ว”

ส่วนกรณีที่ว่าศาลแต่ละศาลมีคำวินิจฉัยเป็นฐานอยู่แล้วนั้น ศาลไม่ถือว่าเป็นแนวการวินิจฉัยหลักตามข้อกฎหมาย ผู้พิพากษากล่าวว่า “ศาลคนละศาล ศาลชั้นต้นมีแนวทางการพิพากษาคนละแบบ ต้องรอให้มีคำพิพากษาศาลฎีกาเท่านั้น จึงจะใช้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยเหมือนกันหมดได้ ถ้าศาลอ่านคำพิพากษาไปเลยก็จะเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ซึ่งในระเบียบเขียนไว้แบบนั้นอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าศาลไม่ดำเนินกระบวนการสืบพยานก็จะเท่ากับศาลขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา กรณีนี้เข้าหลักเกณฑ์ว่าศาลสูงเห็นว่า ต้องฟังข้อเท็จจริงให้ยุติก่อน ศาลสูงเห็นว่ามีโอกาสสิทธิที่จะย้อนสำนวนกลับมาได้”

ในตอนท้าย ทนายความจำเลย ได้แถลงร่วมกันว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเดิมมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลย และนัดฟังคำพิพากษาวันนี้ และอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ไม่อาจก้าวล่วงอำนาจอิสระในการพิจารณาของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจึงขอคัดค้านกระบวนการพิจารณาในวันนี้

ก่อนที่โจทก์และทนายความจำเลยทั้ง 41 คน แถลงขอนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยรวมกัน 1 นัด ศาลให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 30 พ.ค. 62 เวลา 9.00 น.

สืบพยานคดี Army57 พยานติดภารกิจ ด้านทนายความแถลงว่าการมาศาลถือเป็นหน้าที่ของพยาน

อีกหนึ่งคดีในชุดคดีคนอยากเลือกตั้ง ที่ศาลแขวงดุสิตวันนี้ เป็นนัดสืบพยานนัดแรกของชุดคดีคนอยากเลือกตั้ง (ในส่วนผู้ชุมนุม) เป็นเหตุมาจากการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61 (Army57) โดยวันนี้เป็นการพิจารณาลับหลัง จำเลยกว่า 47 คน ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาศาลเพื่อฟังกระบวนพิจารณาคดีได้

10.00 น. ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์เริ่มกระบวนพิจารณาคดี โดยอัยการฝ่ายโจทก์แถลงว่าพยานทุกปากในวันนี้ ติดราชการปฏิบัติหน้าที่ในงานพระราชพิธีราชาภิเษก (ส่วนใหญ่เป็นพนักงานสอบสวนที่ทำหน้าที่สอบปากคำจำเลย) จึงขออนุญาตเลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 30 พ.ค. นี้แทน

ทนายความขอให้โจทก์เรียกพยานมาศาล ตามนัดที่ฟ้องคดีไว้

ขณะที่ทนายความจำเลยแถลงว่า วันนี้ได้พบเห็นพันเอกบุรินทร์ ทองประไพ ผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายของคสช. ซึ่งเป็นผู้เข้าแจ้งความเอาผิดจำเลยคดีนี้ อยู่นอกห้องพิจารณา จึงขอให้โจทก์นำพยานปากนี้เข้าสืบ เนื่องจากเป็นพยานลำดับที่ 1 ของบัญชีพยานฝ่ายโจทก์

ส่วนกรณีการเลื่อนขึ้นเบิกความของพยาน ทนายความจำเลยได้แถลงคัดค้านการขอเลื่อนคดีของโจทก์อ้างว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเริ่มในวันที่ 4-6 พ.ค. 62 ในวันนี้พยานจึงมีหน้าที่ต้องมาศาล การอ้างเหตุของพยานไม่ถูกต้อง ทำให้ฝ่ายจำเลยเสียเวลา โดยทนายความจำเลยยกกรณีจำเลยที่ 33 ซึ่งมีสภาพขาหักต้องเดินทางด้วยรถเข็นด้วยความยากลำบาก ก็ยังเดินทางมาศาลเพื่อมาฟังคำตัดสิน และพันเอกบุรินทร์ ทองประไพ เมื่อฟ้องคดีแล้ว ก็ควรต้องมาศาลตามกำหนดนัด

เนื่องจากคดีนี้จำเป็นต้องสืบพยานหลายปาก และเพื่อไม่ให้กระบวนพิจารณาคดีล่าช้า ขอให้โจทก์ออกหมายเรียกพยานมาให้เป็นจำนวนที่มากพอในแต่ละนัด อีกทั้งเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีการเมืองและมีจำเลย มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก การนัดหมายจึงทำได้โดยยาก

โจทก์ระบุอ้างพันเอกบุรินทร์ไว้เป็นพยาน แต่ยังไม่ได้นำสืบ

โจทก์แถลงว่า ได้ระบุพันเอกบุรินทร์ ทองประไพ ไว้ในบัญชีพยาน แต่อาจจะไม่ได้นำมาสืบ เนื่องจากเป็นพยานที่เกี่ยวข้องกับข้อหาความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/58 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และเหตุที่ขอเลื่อนการสืบพยาน 3 ปากในวันนี้ ก็เนื่องจากไม่แน่ใจว่าฝ่ายจำเลยจะมีคำถามค้านมากหรือไม่ หากได้สืบพยานนัดแรกไปแล้วเห็นว่าคดีไม่ล่าช้า ก็จะขอแถลงให้ศาลออกหมายเรียกพยานมาเพิ่มมากขึ้นในนัดต่อไป ประกอบกับในหนังสือขอเลื่อนของพยานเห็นว่า พยานเหล่านั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับงานพระราชพิธีตั้งแต่วันนี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ศาลได้แจ้งให้จำเลยที่เดินทางมาศาลว่า จำเลยทุกคนในคดีนี้ได้รับอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลัง ประกอบกับศาลจะสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยจนเสร็จแล้วจึงมีคำพิพากษา คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน แม้ในวันนี้โจทก์มาศาล ศาลก็ไม่ได้ตัดสินคดีในวันนี้ได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนนัดสืบพยานไปเป็นวันที่ 30 พ.ค. 62 เวลา 9.30-16.30 น. (อ่านความเป็นมาคดีนี้ที่: จับตา 3 พ.ค. นี้: เริ่มสืบพยาน ‘พันเอกบุรินทร์’ ปากแรกในชุดคดีคนอยากเลือกตั้ง)

——————————————————————————————————

หมายเหตุ

  1. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยมีความเห็นว่า ศาลจะต้องยึดหลักการตามมาตรา 2 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งรับรองหลักไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย (Nullum Crimen Nulla Poena Sene Lege) อันเป็นหัวใจของกฎหมายอาญาว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” นอกจากนี้ ในวรรค 2 ของมาตราเดียวกันยังกำหนดอีกว่า ถ้าหากมีกฎหมายบัญญัติขึ้นในภายหลังให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ก็ให้ผู้กระทำความผิดนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด หรือหากถ้าขณะนั้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษเเล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด หรือหากได้รับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง (อ่านเพิ่มเติมที่: ข้อสังเกตทางกฎหมายต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง)
  2. มีหลายคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย ในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ลงวันที่ 11 ธ.ค. 61 เป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติให้การกระทำไม่เป็นความผิดอีกต่อไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการดำเนินการหรือการปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนหน้านั้น เช่น คดีชุมนุม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 14 ก.พ.61 ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06), คดีของรังสิมันต์ โรม จากการชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 เพื่อรำลึกครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารของ คสช., คดีเลือกตั้งที่ลัก​ (รัก)​ ที่กลุ่มพลเมือง​โต้กลับ​ 4 คนถูกฟ้องฐานชุมนุมทางการเมือง​ตั้งแต่​ 5 ขึ้นไป​ เป็นต้น
  3. มีผู้ถูกกล่าวหาในบางกรณียินยอมเข้ารับการอบรมตามเงื่อนไขในวรรคสอง ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 ตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวน ทำให้หลังจากการอบรมกระบวนการดำเนินคดีเหล่านั้นได้สิ้นสุดลง เช่น กรณี 19 เสื้อแดงอุดรฯ เปิดศูนย์ปราบโกง, 12 ชาวบ้านหนองบัวลำภู เข้าอบรมหลังถ่ายรูปกับป้ายปราบโกง และ 23 ชาวบ้านเด่นชัย จ.แพร่ ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกง เป็นต้น แต่ความเป็นจริงคดีก็ยังไม่ได้รับการยุติ เมื่อภายหลังจากยินยอมเข้ารับ “การอบรม” จากเจ้าหน้าที่ทหารภายในค่ายทหารจนแล้วเสร็จ กลับพบว่าภาระทางคดียังไม่ได้จบลงแต่อย่างใด (อ่านกรณีนี้ใน: การฟ้องคดี CMU06: คำสั่งตามอำเภอใจของหัวหน้าคสช. ถึงความบิดเบี้ยวในกระบวนการยุติธรรม)
X