เสรี-เป็นธรรมที่คาดหวัง?: จับตาการคุกคามนักการเมืองหลังปลดล็อกเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

แม้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ปลดล็อกให้นักการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมือง และประกาศ พรฎ.เลือกตั้ง แต่นักการเมืองฝั่งที่ไม่หนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.ยังถูกคุกคามและปิดกั้นในลักษณะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญการใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือคุกคาม ทำให้การเลือกตั้ง 62 ยังต้องถูกตั้งคำถามถึงความเสรีและเป็นธรรมที่ประชาชนคาดหวัง

ท่าทีการให้สัมภาษณ์นักข่าวของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก กรณีที่มีพรรคการเมืองเสนอนโยบายปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมและยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยแนะนำให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” นั้น เป็นท่าทีที่แสดงถึงการข่มขู่คุกคามต่อนักการเมือง เพราะในอดีตเพลงนี้ใช้เปิดผ่านวิทยุของกองทัพ และหน่วยงานความมั่นคงเพื่อปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังนักศึกษาจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมการสังหารหมู่นักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค. 19

การข่มขู่คุกคามของทหารที่มีต่อนักการเมืองเป็นปรากฏการณ์ที่มีให้เห็นตลอดมา โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารในปี 2557 โดยทันทีที่เข้ายึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. 57 คสช.ก็ทยอยออกคำสั่งให้บุคคลมารายงานตัว รวมทั้งสิ้น 37 ฉบับ เรียกบุคคลมารายงานตัวอย่างน้อย 472 คน ในจำนวนนี้เป็นนักการเมืองอย่างน้อย 172 คน นอกจากนี้ ยังมีการเรียกหรือควบคุมตัวบุคคลที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหว ซึ่งรวมถึง อดีต ส.ส. และนักการเมืองท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดไปรายงานตัวในค่ายทหารตามต่างจังหวัด โดยไม่ออกคำสั่งอย่างเป็นทางการ หลายคนถูกควบคุมตัวในค่ายเป็นเวลา 7 วัน และในการปล่อยตัว บุคคลเหล่านี้ต้องเซ็นเงื่อนไขว่าจะไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร, ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งไม่สนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง

นักการเมืองเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.เมื่อ 24 พ.ค. 57

ทั้งนี้ การฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่เข้ารายงานตัว และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัว ถือเป็นความผิดตามประกาศ คสช. ต้องขึ้นศาลทหาร และมีโทษถึงจำคุก ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของนักการเมืองที่ถูกเรียกเข้ารายงานตัวเหล่านี้ โดยเฉพาะในฟากพรรคเพื่อไทยที่ถูกยึดอำนาจ  ที่ผ่านมามีนักการเมืองบางคนถูกดำเนินคดีและระงับธุรกรรมการเงินจากเหตุไม่เข้ารายงานตัว ขณะที่บางคนเลือกที่จะเดินทางออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัย

ส่วนนักการเมืองบางคนที่ไม่ยอมถูกจำกัดเสรีภาพ ยังคงวิพากษ์วิจารณ์ คสช. หรือแสดงออกทางการเมือง นอกจากจะถูกเรียกไปรายงานตัวเพื่อ “ปรับทัศนคติ” หรือควบคุมตัวในค่ายทหารซ้ำ เช่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ (8 ครั้ง), นายวัฒนา เมืองสุข (6 ครั้ง), นายจตุพร พรหมพันธุ์ (6 ครั้ง), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (5 ครั้ง) เป็นต้น บางรายยังถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัว และในอีกหลายฐานความผิดเพื่อหวังควบคุมการแสดงออกที่ต่อต้าน คสช.ของนักการเมืองเหล่านั้น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น), พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 (ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป) ไปจนถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (เป็นอั้งยี่), มาตรา 210 (เป็นซ่องโจร) และ พ.ร.บ.ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559

พิชัย นริพทะพันธุ์ ถูกเรียกรายงานตัวซ้ำเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 58 (ภาพโดย VoiceTV)

นอกจากนี้ ทหารยังปฏิบัติการคุกคามด้วยการติดตามความเคลื่อนไหว หรือไปพบเหล่านักการเมืองฝั่งตรงข้าม คสช.เป็นประจำ แม้แต่คนที่ไม่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ หลังถูกเรียกรายงานตัวในครั้งแรก

ในช่วง คสช.ประกาศนโยบายปราบผู้มีอิทธิพล กลุ่มนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายในการเข้าตรวจค้นบ้านพัก โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559

ที่สำคัญ นอกจากประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามบุคคลใด ๆ ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวมีโทษจำคุก ซึ่งต่อมาถูกแทนที่ด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามการชุมนุมในลักษณะเดียวกัน พรรคการเมืองต่าง ๆ ยังถูกห้ามทำกิจกรรมด้วยประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ทั้งห้ามประชุม หรือดําเนินกิจการใด ๆ ทางการเมือง หรือจัดตั้งพรรคใหม่ รวมถึงระงับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 57 และแม้เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 60 พรรคการเมืองก็ยังดำเนินกิจกรรมไม่ได้ เนื่องด้วยประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งสองฉบับยังบังคับใช้อยู่ มิหนำซ้ำ คสช.ยังออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 มาแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ และห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมไว้เช่นเดิม

แม้แต่การจัดกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ถูกห้าม โดยการตีความโยงเข้าเรื่องการเมือง เช่น งานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา” เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 60 ถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้ยกเลิกโดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

การคุกคามจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการรวมกลุ่มของนักการเมืองและพรรคการเมืองในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมาภายใต้ คสช. นอกจากเพื่อผลในการควบคุมฝ่ายต่อต้าน คสช.แล้ว ยังมีผลในการลดความชอบธรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองซึ่งเป็นองค์กรพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยลง เปิดทาง คสช.และอำนาจนอกระบบที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยมากขึ้น โดยที่สร้างคำอธิบายว่าฟากฝั่งตนไม่ใช่ “นักการเมือง” ทั้งนี้ การจำกัดเสรีภาพของพรรคการเมืองในอีกทางหนึ่งก็เป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในทางการเมืองด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี  เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 61 วันเดียวกับที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ คสช.ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 อันมีผลเป็นการยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช. รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. รวม 9 ฉบับ ที่ห้ามการทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชนทั่วไปชุมนุมทางการเมืองได้แล้ว ยังปลดล็อกให้นักการเมืองและพรรคการเมืองสามารถประชุมหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้โดยไม่ถือเป็นความผิดอีกต่อไป เพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

แต่กระนั้นการคาดหวังว่า ประชาชนจะสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมได้ตามปกติเช่นในสังคมประชาธิปไตยทั่วไปก็ยังเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความเป็นจริง ในทางปฏิบัติแล้ว คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐ ยังดำเนินการหลายประการที่ส่งผลเป็นการจำกัดการใช้เสรีภาพของประชาชน (ดูรายงาน การปิดกั้น-คุกคามยังคงอยู่: ส่องปรากฏการณ์ชุมนุมรอบเดือน ม.ค. ก่อนเส้นทางสู่วันเลือกตั้ง) เช่นเดียวกับที่ยังคงติดตามคุกคาม รวมถึงปิดกั้นการดำเนินกิจกรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม คสช. ดังปรากฏการณ์ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมจากการติดตามสถานการณ์และรายงานข่าวของสื่อมวลชน ดังนี้

 

สถานการณ์หลังปลดล็อกพรรคการเมือง แต่ยังไม่ประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง

ในการลงพื้นที่พบปะประชาชนของพรรคเพื่อไทยที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 61 หลังปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การลงพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก มีทหาร ตำรวจติดตามอยู่ รวมทั้งมีการพยายามขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านมาพบปะพูดคุยกับพรรค โดยมีการข่มขู่จากข้าราชการว่าจะตัดงบประมาณในส่วนต่าง ๆ เช่นเดียวกับการลงพื้นที่ปราศรัยที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62 พบว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอ้างตนว่าเป็นตำรวจ 2 นาย คอยติดตามสังเกตการณ์และถ่ายภาพตั้งแต่จุดแรก จนกระทั่งจุดสุดท้ายที่คณะไปทานอาหาร สุดารัตน์ เปิดเผยอีกว่า ทุกครั้งที่ไปพบประชาชนก็จะมีตำรวจมาคอยติดตามสังเกตการณ์ รวมทั้งที่สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 62 ด้วย

เจ้าหน้าที่ติดตามถ่ายภาพแกนนำพรรคเพื่อไทยขณะลงพื้นที่ จ.เชียงราย (ภาพโดยข่าวสด)

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กล่าวเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 62 ว่า ในการลงพื้นที่หาเสียงหลายครั้งสังเกตว่ามีการส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลสังเกตการณ์ นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ไม่มีข้อห้ามทางกฎหมายแล้ว ต้องไม่ทำให้หวาดกลัวหรือหวาดระแวง

นอกจากการติดตามขณะลงพื้นที่แล้ว ก็ยังมีการติดตามไปพบถึงที่พัก โดยเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 62 นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า มีทหารในชุดพราง 4 นาย ไปพบนายธวัชชัย สุทธิบงกช รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่บ้านพักในเขตบางนา แม้โฆษก คสช.จะออกมาชี้แจงกรณีนี้ว่า เป็นการไปพบปะประชาชนในชุมชนต่างๆ เพื่อรับทราบปัญหาของประชาชนตามวงรอบปกติ และเมื่อผ่านบ้านของนายธวัชชัย ก็มีการทักทายและพูดคุยกัน แต่การที่นายธวัชชัยระบุว่า ทหารมักจะมาหาที่บ้านเดือนละ 1-2 ครั้ง เป็นประจำอยู่แล้ว ก็แสดงถึงการติดตามของทหารที่มีเป็นอยู่ตลอดมา และยังไม่ยกเลิกไป

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. จ.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ นางจุมพิตา จันทรขจร ก็ออกมาเปิดเผยเช่นกันว่า  หลังจากเปิดตัวต่อสาธารณะในเดือนพฤศจิกายน 2560 ปรากฏมีตำรวจในพื้นที่ไปพบที่บ้าน แจ้งว่าได้รับคำสั่งให้มาดูแลเรื่องความปลอดภัย โดยมีการสอบถามประวัติของตนเองและคนในครอบครัว ล่าสุด ต้นเดือนมกราคม 2562 ก็มีตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐมมาพบอีก นอกจากสอบถามประวัติแล้ว ยังมีแบบฟอร์มมาสัมภาษณ์เกี่ยวกับบุคคลที่ให้การสนับสนุนและชื่อนามสกุลของหัวคะแนนด้วย โดยอ้างเรื่องการมาดูแลรักษาความปลอดภัยเช่นเดิม  แต่นางจุมพิตาตั้งข้อสังเกตว่า หากเจ้าหน้าที่มาเก็บข้อมูลในลักษณะดังกล่าวเฉพาะกับพรรคอนาคตใหม่ ก็มองได้ว่าเป็นการคุกคาม ทำให้เกิดความหวาดกลัว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับรายงานด้วยว่า สำนักงานของพรรคอนาคตใหม่ในบางจังหวัดมีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจสลับกันเข้าไปอย่างต่อเนื่องเพื่อสอบถามข้อมูลต่าง ๆ อาทิข้อมูลเรื่องการทำกิจกรรม การออกหาเสียง การรับสมัครสมาชิก หรือจำนวนสมาชิกในจังหวัด รวมถึงติดตามจับตาการลงพื้นที่รับสมัครสมาชิกของทีมงานพรรค

ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน ก็โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ถูกตำรวจ 2 นาย นั่งเฝ้าหน้าห้องในขณะได้รับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 62

ปรากฏการณ์เหล่านี้  พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อธิบายในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 62 ว่า ทหารติดตามความเคลื่อนไหว หรือไปดูการหาเสียงของทุกพรรค เพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัย หากแต่ในที่ประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก พล.อ.อภิรัชต์ ได้เน้นย้ำภารกิจ “ดูแลความสงบเรียบร้อยรองรับการเลือกตั้ง” โดยมองว่า การปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมือง ยังมีการโจมตีตอบโต้กันไปมา จึงให้ทหารลงไปติดตามการเคลื่อนไหวกลุ่มการเมืองที่มีแนวโน้มจะทำให้เกิด “ความไม่เรียบร้อย”

การคุกคามนักการเมืองรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องยังมาในรูปแบบของการเข้าตรวจค้นที่พัก กรณีนี้มีข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์ของนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ซึ่งระบุว่า ได้รับแจ้งจากผู้สมัครของพรรคในหลายพื้นที่ว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจค้นบ้านพักของทีมงาน

อีกทั้งมีการใช้กระบวนการทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือคุกคาม รวมไปถึงอาจมีผลเป็นการดิสเครดิตนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้นๆ เช่น กรณีนายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดบุรีรัมย์ ของพรรคเพื่อไทย ถูกตำรวจนำหมายศาลเข้าจับกุมตัวในคดีเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ ขณะนายพรชัยกำลังจะลงพื้นที่พร้อมแกนนำพรรคไปพบปะประชาชน และเปิดเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 7 ม.ค.62, กรณี กกต. เรียกแกนนำพรรคไทยรักษาชาติไปให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 62 เกี่ยวกับการบินไปพบอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ประเทศอังกฤษในช่วงวันเกิดทักษิณเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2561 และในวาระอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบว่าเข้าข่ายเป็นการครอบงำพรรคการเมืองโดยบุคคลภายนอกหรือไม่

รวมทั้งกรณีที่มีรายงานข่าวเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 62 ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมหยิบคดีที่เกี่ยวข้องกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แก่ กรณีอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 และโครงการการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ขึ้นมาดำเนินการอีกครั้ง ในช่วงที่มีกระแสข่าวการเสนอชื่อนายชัชชาติเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว โดยยืนยันว่าไม่มีการเร่งคดีในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

และแม้ว่าพรรคการเมืองจะกลับมาเปิดเวทีปราศรัยได้ แต่การปิดกั้นก็ยังมีอยู่ในรูปแบบของการไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ของหน่วยงานราชการ กรณีที่ปรากฏเป็นข่าว ก็คือการยกเลิกให้พรรคเพื่อไทยใช้สนามกีฬาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา (อบจ.พะเยา) ในวันที่ 10 ม.ค. 62 อย่างกะทันหัน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นได้มีการอนุญาตแล้ว โดย อบจ.พะเยาให้เหตุผลว่า เป็นการไม่เหมาะสมที่จะใช้สถานที่ราชการเพื่อจัดกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากอาจจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างพรรคการเมือง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ในรอบ 1 เดือน ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง ขณะที่ในวันเดียวกันพรรคพลังประชารัฐ สามารถจัดเวทีปราศรัยที่วิทยาลัยเทคโนโลยีวงศ์กาญจนา อ.ดอกคำใต้ ได้

เวทีปราศรัยพรรคเพื่อไทยที่ถูก อบจ.พะเยา ยกเลิกให้ใช้กะทันหัน (ภาพโดยข่าวสด)

จากกรณีดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ห้ามใช้สถานที่ราชการหาเสียง โดยทุกพรรคต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการมอบนโยบายให้หน่วยงานราชการ ทั้งที่ในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ การใช้สนามกีฬาประจำจังหวัดหรือสนามกีฬาในสถานศึกษาเปิดเวทีปราศรัยของพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ทำได้โดยทั่วไป เพราะถือเป็นสถานที่ที่สามารถประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

ไม่เพียงสถานที่ราชการที่พรรคการเมืองจะไม่สามารถใช้เป็นพื้นที่ปราศรัยได้ การใช้พื้นที่วัดก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน  เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 61 มหาเถรสมาคมได้ออกประกาศห้ามใช้วัดเป็นสถานที่ชุมนุม หรือสัมมนา หรือจัดกิจกรรมที่มีลักษณะละเมิดต่อกฎหมาย รวมถึงกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยระบุว่าเป็นการใช้สถานที่วัดที่ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุให้วัดแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองขอนแก่นไม่อนุญาตให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ใช้สถานที่บริเวณวัดเปิดเวทีปราศรัยในวันที่ 29 ธ.ค. 61 และต้องย้ายเวทีปราศรัยออกจากบริเวณวัดดังกล่าว

การปิดกั้นยังลงไปถึงการติดตั้งป้ายหาเสียงของพรรคการเมือง โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 62 นายสุวรรณ ทองกรอย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาชาติ ออกมาเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงขอให้ปลดป้ายหาเสียงขนาดเล็กของพรรค ซึ่งมีข้อความว่า “ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุนการปฏิวัติ ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายก” เนื่องจากมีข้อความที่ไม่เหมาะสมและมีนายทหารระดับสูงในพื้นที่บางรายไม่สบายใจ แต่นายสุวรรณยืนยันว่าจะไม่ปลดป้ายดังกล่าวเพราะไม่ได้ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จ.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ต้องปลดป้ายหาเสียงขนาดใหญ่ของพรรคที่บริเวณทางแยกตลาดอันเป็นเขตชุมชนลง โดยนายโกศล ปัทมะ เปิดเผยว่า ทางพรรคได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่แล้ว แต่มีกลุ่มผู้มีอำนาจมาสั่งการไม่ให้เจ้าของที่ร่วมมือกับทางพรรคเพื่อไทย และให้ปลดป้ายลง

ป้ายหาเสียงของพรรคประชาชาติที่เจ้าหน้าที่ขอให้ปลด (ภาพโดยมติชน)

นอกจากการคุกคาม ปิดกั้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมีกรณีที่นักการเมืองและพรรคการเมืองถูกคุกคามโดยบุคคลที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นฝ่ายใด เช่น กรณี “พอลลีน” หรือพินิจ งามพริ้ง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคมหาชน ถูกชายลึกลับผมสั้นเกรียน ใส่เสื้อยืดสีเขียว แอบเข้าค้นเอกสารภายในรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งจอดอยู่บริเวณซอยรามคำแหง ในช่วงดึกคืนวันที่ 15 ม.ค. 62 โดยเจ้าตัวเชื่อว่าสาเหตุมาจากการที่ตนเองกำลังทำงานการเมือง หรือกรณีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จ.ลำปาง พรรคอนาคตใหม่ ถูกชายลึกลับโทรศัพท์มาข่มขู่ให้ถอนตัวจากการลงสมัคร หากไม่ถอนตัวก็ให้ระวังตัวไว้ให้ดี ไม่นับรวมถึงกรณีป้ายหาเสียงของพรรคต่างๆ ถูกทำลาย เช่น อนาคตใหม่ ไทยรักษาชาติ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่า มีสาเหตุมาจากการเมืองหรือความคึกคะนองของผู้ก่อเหตุ

 

1 เดือนหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง

การประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 62 ตามมาด้วยการกำหนดวันเลือกตั้งโดย กกต. ในวันเดียวกัน อันหมายถึงนับตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. ไปจนถึงวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. และ กกต.มีหน้าที่ในการอำนวยการให้พรรคการเมืองหาเสียงได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น เช่น คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส., นโยบายของพรรคการเมือง, ผู้ที่พรรคสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ฯลฯ  เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการที่จะตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้งตัดสินอนาคตของตนเอง

แต่กลับเป็นว่า บรรยากาศการหาเสียงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังพบการติดตามและปิดกั้นนักการเมืองและพรรคการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ เช่นเดียวกับก่อนหน้านั้น เช่น กรณีทหารจาก กอ.รมน. ติดตามการลงพื้นที่ของแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 62 ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเย็น โดยถ่ายภาพนิ่งรวมทั้งบันทึกวิดีโอ ซึ่งสุดารัตน์ระบุว่า เป็นการกดดันและคุกคามการทำหน้าที่ของตนเอง

เทรนด์ที่มาแรงคือการใช้คดีหรือกระบวนการทางกฎหมายเข้าจัดการ ดังที่มีรายงานข่าวออกมาในช่วงนี้ว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เร่งรัดส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการพิจารณามีคำสั่งในคดี ทั้งคดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และกรรมการบริหารพรรคอีก 2 คน และคดีของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งทั้งสี่ถูกดำเนินคดีในข้อหา นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) คดีเหล่านี้ล้วนมีเหตุมาจากการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง  และให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก

แกนนำพรรคอนาคตใหม่ให้สัมภาษณ์หลังเข้าพบอัยการ (ภาพโดยประชาไท)

ยังมีกรณีนายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) เช่นกัน จากการเปิดเว็บไซต์ตรวจค่าฝุ่นละอองแบบเรียลไทม์และไลฟ์สดอธิบายวิธีการใช้แอปพลิเคชันดังกล่าว

รวมถึงกรณีมีการยื่นคำร้องให้ กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติและพลังประชารัฐ จากกรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แม้ว่าจะเป็นการยื่นคำร้องโดยประชาชน แต่การดำเนินการของ กกต.มีความเร่งรัดต่างกัน โดยกรณีพรรคไทยรักษาชาติ กกต.มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญหลังการยื่นคำร้องเพียง 3 วัน ขณะที่ยังไม่มีมติกรณีพรรคพลังประชารัฐ ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติแสดงความเห็นว่า การลงมติของ กกต.เป็นการข้ามขั้นตอน เนื่องจากไม่มีการไต่สวน หรือให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวมพยานหลักฐานเสนอความเห็นให้ กกต.

ล่าสุด มีกรณี กกต.พยายามแทรกแซงการดำเนินการหาเสียงของพรรคการเมือง โดยนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ได้ทวีตที่ทวิตเตอร์ส่วนตัว เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 62 ระบุว่า กกต.จังหวัดเลย ขอให้เปลี่ยนสปอตหาเสียงของพรรค โดยให้ตัดคำว่า “เผด็จการทหาร” และ “โซ่ตรวน” ออก แต่นายเลิศศักดิ์ยืนยันว่าจะไม่เอาออก ซึ่งต่อมา กกต.จ.เลย ก็ได้ส่งหนังสือเรียกผู้สมัครของพรรคให้มาพบโดยระบุว่า สื่อโฆษณาดังกล่าวมีข้อความที่ไม่เป็นไปตามข้อ 8 วรรคสองของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

(ภาพจากเพจพรรคสามัญชน)

และผลจากการมอบนโยบายด้วยการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ว่า ห้ามพรรคการเมืองใช้สถานที่ราชการหาเสียง ส่งผลเป็นการปิดกั้นการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยทำให้พรรคการเมืองบางพรรคประสบปัญหาในการหาสถานที่เปิดเวทีปราศรัย รวมทั้งหน่วยราชการเองก็ไม่ชัดเจนว่าจะปฏิบัติเช่นไร ดังเช่น กรณีพรรคเพื่อไทยเปิดเวทีปราศรัยที่ จ.อุบลราชธานี ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งอนุญาตให้ใช้สถานที่หอประชุม แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนอีกแห่งไม่อนุญาต โดยอ้างนโยบายความเป็นกลางทางการเมือง ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐเปิดปราศรัยที่สนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการได้

แต่สิ่งที่เกือบทุกพรรคต้องเจอเหมือนกัน คือ ป้ายหาเสียงถูกทำลายในรูปแบบต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ตำรวจติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุไม่ได้ ในกรณีที่จับกุมได้ก็พบว่า เป็นเพียงการกระทำของบุคคลธรรมดา โดยมีสาเหตุมาจากความมึนเมา ความเครียด และความไม่ชอบพรรคการเมืองเป็นการส่วนตัว

แม้ประชาชนจะคาดหวังที่จะเห็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี เป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมตามหลักการพื้นฐาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาข้างต้นบ่งชี้ว่า เราอาจไม่ได้กระบวนการการเลือกตั้งที่ดีตามหลักการ ประกอบกับกติกาและระบบการเลือกตั้งที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นภายใต้บรรยากาศที่คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. และไม่อาจสะท้อนเจตจำนงของประชาชนผู้ใช้สิทธิ

อย่างไรก็ตาม การจับตาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 1 เดือน จนถึงวันเลือกตั้ง รวมถึงการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ยังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเองจริง ๆ และทำให้การเลือกตั้งมีผลเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในที่สุด

 

ช่องทางการจับตาเลือกตั้ง

  • เครือข่าย We Watch สมัครเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ที่ https://wewatchthailand.org/register_volunteer
  • เครือข่าย FFFE (เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรมและมีผลในทางปฏิบัติ) รายงานการเลือกตั้ง โดยการใส่แฮชแท็ก #จับตาการเลือกตั้ง62 #FFFE และดาวน์โหลดแบบฟอร์มสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ที่ https://goo.gl/SVuukV
  • มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET) แจ้งทุจริตการเลือกตั้งที่ Line@PNET NATIONAL CENTER (สมัครโดยใช้ ID:pnet)

 

X