ยูทูปปลดบล็อกลิงก์หนัง “จอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่” แล้ว หลังเป็นข่าวทั้งในไทย-เทศ

หลังจากกรณีการบล็อกลิงก์ภาพยนตร์ “จอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่” (The Great Dictator) ในประเทศไทย โดยผ่านการร้องเรียนจากรัฐบาล เป็นข่าวในโลกออนไลน์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดเว็บไซต์ยูทูปได้มีการปลดบล็อกลิงก์ดังกล่าวแล้ว ทำให้สามารถเข้าดูได้ตามปกติ

การบล็อกดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.60 ทางเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันฉายและแชร์ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง “จอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่” (The Great Dictator) และ “สัญญาของผู้มาก่อนกาล” (The Six Principles) ในช่วงเวลา 19.00 ของวันที่ 24 มิ.ย. 60 เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 85 ปี การอภิวัฒน์สยาม  และได้นำลิงก์ภาพยนตร์สองเรื่องดังกล่าวลงในโพสต์เชิญชวนด้วย โดยลิงก์ภาพยนตร์จอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่คือลิงก์ดังกล่าวข้างต้นที่ถูกบล็อกไม่ให้สามารถเข้าถึงได้ ขณะที่ลิงก์ภาพยนตร์สัญญาของผู้มาก่อนกาลยังสามารถเข้าถึงได้โดยปกติ

ในช่วงระหว่างการบล็อกดังกล่าว เมื่อเข้าไปในหน้าเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) ของลิงก์ (https://www.youtube.com/watch?v=B8DDvRbffeE) จะไม่สามารถเข้าดูได้จากตำแหน่งที่เป็นประเทศไทย โดยจะพบข้อความว่า “เนื้อหานี้ไม่สามารถรับชมได้บนโดเมนของประเทศนี้ เนื่องจากมีการร้องเรียนทางกฎหมายจากรัฐบาล” หรือหน้าข้อความที่เป็นภาษาอังกฤษจะระบุว่า “This content is not available on this country domain due to a legal complaint from the government.”

The Great Dictator (จอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่) เป็นภาพยนตร์อเมริกันปี ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) นำเสนอเนื้อหาล้อเลียนการปกครองของเผด็จการ โดยเฉพาะในช่วงระบอบการปกครองของนาซีที่กำลังมีบทบาทในการเมืองโลกในขณะนั้น ภาพยนตร์มีชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin) ดาราภาพยนตร์ตลกชื่อดังนำแสดง

ลิงก์ยูทูปที่ถูกบล็อกดังกล่าวเป็นการตัดบางส่วนในช่วงท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ลงเผยแพร่ เป็นช่วงที่ชาร์ลี แชปลินกล่าวถ้อยความปิดท้ายในลักษณะสุนทรพจน์ ความยาวคลิปทั้งหมด 3.46 นาที และมีการทำบทบรรยายภาษาไทยประกอบด้วย (ดูสุนทรพจน์ดังกล่าวที่แปลโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตบรรณาธิการนิตยสารวรรณกรรมหลายเล่ม) ขณะที่ลิงก์ภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้รูปแบบอื่นๆ ที่มีผู้นำลงในเว็บไซต์ยูทูปยังสามารถเข้าดูได้เป็นปกติ

ต่อมา วันที่ 26 มิ.ย. มีผู้แจ้งมายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าลิงก์ยูทูปที่ถูกบล็อกดังกล่าว สามารถเข้าถึงได้แล้ว ขณะที่บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. รายงานเรื่องการที่ยูทูปปลดบล็อกลิงก์ดังกล่าวในประเทศไทยเช่นกัน ทั้งยังระบุว่าก่อนคลิปนี้จะถูกบล็อก มีผู้เข้าชมไม่มากนัก แต่ถึงวันที่ 27 มิ.ย. มีผู้คลิกเข้าไปดูคลิปดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 13,000 คลิก

ขณะเดียวกัน Global Voices สื่อที่ติดตามการเซ็นเซอร์บนโลกออนโลน์และสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกในประเทศต่างๆ ก็นำเรื่องนี้ไปรายงานว่ายูทูปได้ยินยอมบล็อกคลิปภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1940 เรื่องนี้ ตามข้อร้องเรียนของรัฐบาลไทย แม้ต่อมาจะมีการปลดบล็อกลิงก์ดังกล่าวแล้ว แต่ก็ทำให้มีผู้คลิกเข้าชมจำนวนมาก และกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในสื่อไทย

 

เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้เป็นการปิดกั้นเพื่อไม่ให้ทำกิจกรรม ไม่ใช่ที่ตัวเนื้อหา

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ให้ความเห็นว่าการปลดบล็อกลิงก์ภาพยนตร์ดังกล่าวของยูทูปยิ่งแสดงให้เห็นว่ากรณีนี้การปิดกั้นไม่ใช่อยู่ที่ตัวเนื้อหา แต่เป็นการบล็อกเพราะไม่ต้องการให้เกิดการทำกิจกรรมตามที่ทางเครือข่ายนักวิชาการเชิญชวน โดยไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลไทยอ้างอาศัยอำนาจตามข้อกฎหมายใด และมีคำสั่งศาลในการขอปิดกั้นหน้าเว็บไซต์ส่งไปให้ยูทูปหรือไม่ แต่เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นการขอความร่วมมือไปยังยูทูป โดยไม่มีคำสั่งศาล

อาทิตย์ระบุว่าแม้ตามมาตรา 20 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับปี 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา จะระบุเรื่องการให้เจ้าหน้าที่ต้องยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูล แต่ในมาตรา 15 ได้ระบุเรื่องการที่ผู้ให้บริการที่ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทําความผิด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิด แต่ให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลสามารถออกประกาศกําหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรี ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

อาทิตย์เห็นว่ามาตราดังกล่าวได้เปิดช่องให้มีการปิดกั้นเว็บไซต์โดยใช้วิธีการแจ้งเตือนไป และทำให้ผู้ให้บริการยินยอมปิดกั้นเอง โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล โดยขณะนี้ทางฝ่ายรัฐเองก็กำลังมีการจัดทำกฎหมายลูกของมาตรา 15 และ 20 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ และยังมีการเตรียมการจัดตั้งศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์ ภายใต้กระทรวงดิจิทัล เพื่อคอยสอดส่องเว็บไซต์และผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สถานการณ์การปิดกั้นและสอดส่องบนโลกออนไลน์ของไทยขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ตามมาตรา 20 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอํานาจขอให้มีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ โดยต้องเป็น

(1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(3) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายอื่นซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ร้องขอ โดยในกรณีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ด้วย

 

X