ศาลยะลาพิพากษาจำคุก 3 ปี “พรชัย” เหตุโพสต์คลิปพูดถึงการปฏิรูปกษัตริย์-การขยายพระราชอำนาจ ส่วนอีก 2 ข้อความยกฟ้อง

15 ธ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดยะลานัดฟังคำพิพากษาคดีของ พรชัย วิมลศุภวงศ์ หนุ่มปกาเกาะญอวัย 38 ปี กรณีที่ถูกฟ้องข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการถูกกล่าวหาว่าโพสต์คลิปวิดีโอภาพตนเองพูดถึงการปฏิรูปกษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจ และการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งโพสต์ข้อความและรูปภาพลงในเฟซบุ๊ก รวมทั้งหมด 3 โพสต์

ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจากกรณีโพสต์คลิปวิดีโอจำนวน 1 โพสต์ ส่วนข้อความอีก 2 โพสต์นั้นยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย คงเหลือความผิดกรรมเดียว พิพากษาจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ย้อนอ่าน บันทึกการต่อสู้คดี ม.112 ของ “พรชัย” หนุ่มปกาเกาะญอ ถูกฟ้องไกลถึงยะลา ก่อนศาลนัดพิพากษา

.

เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาที่ 4 จำเลยเดินทางมาก่อนเวลาพร้อมกับทนายความ ก่อนศาลออกนั่งพิจารณาคดีตรงเวลานัด ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลนำกุญแจมือมาใส่ข้อมือจำเลยไว้ขณะฟังคำพิพากษา

ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่า ศาลพิเคราะห์จากการนำสืบของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า

โพสต์แรก จำเลยโพสต์คลิปวิดีโอมีเนื้อหาสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ที่วางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย เห็นว่าเป็นการดูหมิ่น จาบจ้วง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อต่อสู้ที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพนั้น เห็นว่าพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญนั้นดำรงอยู่ในฐานะอันล่วงละเมิดมิได้ ทรงอยู่เหนือการติชมทั้งปวง 

การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 112 และนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ส่วนโพสต์รูปภาพและข้อความอีก 2 โพสต์ นั้น มี นายวัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ เบิกความว่าเป็นสมาชิกกลุ่มพิทักษ์สถาบันฯ โดยมีเพื่อนเป็นผู้ส่งภาพมาให้ จึงไม่ปรากฏ URL ที่มาของข้อความในเอกสารที่นำมาแจ้งความ และพนักงานสอบสวนเบิกความว่าไม่แน่ใจว่าภาพถูกต้องตามต้นโพสต์หรือไม่ เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ 

ประกอบกับจำเลยมีพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่า ภาพตามเอกสารพยานโจทก์ดังกล่าว เป็นการถ่ายมาจากหน้าจอโทรศัพท์และภาพมีความผิดปกติ คือมีเส้นขีดสีแดง ซึ่งน่าจะมีการทำเพิ่มเติมผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และอีกภาพหนึ่ง ก็เป็นการนำ 2 ภาพมารวมกัน และมีการลบภาพบางส่วนออก แสดงว่าไม่ใช่ภาพต้นฉบับ ซึ่งหากถ่ายภาพจากคอมพิวเตอร์ จะปรากฏลิงค์ URL และสามารถถูกแก้ไขด้วยโปรแกรมคอมคอมพิวเตอร์ ต่างๆ ทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ยังเบิกความว่าภาพมีความผิดปกติ อาจผ่านการตัดต่อมา

พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีพิรุธสงสัยว่ามีโพสต์ดังกล่าวอยู่ในเฟซบุ๊กจริงหรือไม่ ทั้งนี้พยานโจทก์ยังไม่อาจนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้งสอง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เป็นบทหนักสุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 

.

.

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษา ได้อธิบายกับจำเลยว่าสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้ภายใน 1 เดือน ต่อมาตำรวจศาลพาตัวจำเลยลงไปควบคุมตัวในห้องขังใต้ถุนศาลทันที ด้านทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์

ต่อมาเวลา 11.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรชัยในชั้นอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันเพิ่มกึ่งหนึ่งจากหลักประกันเดิมที่เคยวางไว้ 150,000 บาท รวมเป็นหลักประกันชั้นอุทธรณ์ที่วางต่อศาลจำนวน 225,000 บาท ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

จากนั้นจึงมีการรอออกหมายปล่อยตัวจากเจ้าหน้าที่ศาล จนพรชัยได้รับการปล่อยออกจากห้องขังเวลา 15.00 น. ทั้งนี้พรชัยยังต้องเดินทางมารายงานตัวต่อศาลจังหวัดยะลาอีกครั้งในวันที่ 16 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอุทธรณ์คำพิพากษา

สำหรับพรชัย พื้นเพเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ปัจจุบันประกอบอาชีพค้าขาย และได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ทำให้เขาถูกอดีตกลุ่ม กปปส. ไปกล่าวหาคดีมาตรา 112 ไว้ถึง 2 คดี ที่จังหวัดยะลา และจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วเช่นกัน โดยพรชัยต้องเดินทางไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 มี.ค. 2566

.

X